บทเรียน สตาร์ตอัพ ยูนิคอร์น จากเด็กชาวเขาถึง ซีอีโอ แฟลชกรุ๊ป

คมสันต์ ลี

“ประชาชาติธุรกิจ” จัดสัมมนาครั้งแรกของปี 2566 “New Era Economy อนาคตประเทศไทย” โดยมี “คมสันต์ ลี” ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช เป็น 1 ใน 6 วิทยากรที่มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในหัวข้อ “Enterpereuner Spirit” มีคอลัมนิสต์ชื่อดัง “หนุ่มเมืองจันท์-สรกล อดุลยานนท์” เป็นผู้สัมภาษณ์

“แฟลช กรุ๊ป” ก่อร่างสร้างองค์กร เติบโตจากบริษัทเล็ก ๆ มีทีมงานหลักร้อยกลายเป็นสตาร์ตอัพยูนิคอร์นตัวแรกของประเทศไทย มีพนักงานกว่า 6 หมื่นคน ขยายธุรกิจไปใน 6 ประเทศ

บทเรียนสตาร์ตอัพยูนิคอร์น

“คมสันต์” เปิดใจว่า เมื่อบริษัทก้าวสู่การเป็นสตาร์ตอัพยูนิคอร์นสำเร็จ เขาและคนในองค์กรต่างดีใจ เพราะเหมือนเป็น “รางวัล” แต่ผ่านไป 1 ปีคำเดียวกันนี้ที่ทำให้คนในองค์กรประมาท และเข้าใจผิดว่าเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จแล้ว ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วไม่ได้ต่างไปจากวันที่ยังไม่ได้เป็นยูนิคอร์นเลย

“เรายังเจอความท้าทาย เจอความเสี่ยง และยังอาจเจ๊งได้เหมือนเดิม แต่คนในองค์กรกลับเข้าใจว่าประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่แฮปปี้เลยเมื่อไรก็ตามที่คิดว่าประสบความสำเร็จแล้ว วิธีการทำก็จะทำเหมือนผู้ชนะ ไม่ระวัง ไม่ตั้งใจในทุกรายละเอียด ทุกบริษัทต้องทำบัดเจ็ตแพลนเราก็ทำ แต่บัดเจ็ตที่พูดถึงนี้ในบริษัทที่ประสบความสำเร็จกับยังไม่สำเร็จต่างกันโดยสิ้นเชิง”

ในอดีต บริษัทไม่เคยมีต้นทุนการประชุม แต่ปัจจุบันต้องประชุมในโรงแรมห้าดาว เป็นต้น

“อันธพาล” ชีวิตที่เลือกเอง

“คมสันต์” นิยามการก่อร่างสร้าง “แฟลชกรุ๊ป”ช่วงเริ่มต้นว่า เป็น “ยุคอันธพาล” เพราะมองว่า “โอกาส” ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีเสมอ ถ้าโอกาสมาก็ต้องใช้ทุกวิถีทางให้โอกาสอยู่นานที่สุด ขึ้นอยู่กับว่าเราเจ๊ง หรือไม่เจ๊ง ถ้าจะไม่เจ๊ง วิธีการที่ทำได้คือทำทุกวิถีทาง นั่นคือช่วงแรก ใช้เวลา 2 ปี ในการเปลี่ยนผ่าน

“ผมไม่ได้คิดว่าอยากให้ทุกคนคิดว่าการทำงานหนักคุ้มหรือไม่คุ้มค่า แต่แค่อยากให้คิดว่า ถ้าเป็นโอกาสที่เราอยากได้มันโคตร ๆ คุณต้องใช้ทุกวิถีทางจริง ๆ”

เขาคิดว่า โอกาสนี้อาจเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวหรือสองครั้งในชีวิตผมที่เหลืออยู่ ถ้าครั้งนี้ผมไม่รักษาโอกาส และทำมันอย่างเต็มที่ ผมอาจไม่มีโอกาสแบบนี้

“ผมทำหนักสุดคือ ฉี่เป็นเลือด ผมว่ามันคุ้มค่ากับชีวิตของผมสักครั้ง นี่คือแบบชีวิตที่ผมเลือก ผมเชื่อว่าผมจะเวิร์กไลฟ์บาลานซ์ได้ก็ต่อเมื่อผมเลือกได้ แต่วันนั้นผมเป็นแค่เด็กชาวเขาคนหนึ่งที่ลงมาจากบนดอย”

ถามว่าปัจจุบันธุรกิจของ “แฟลช กรุ๊ป” เดินมาสู่ช่วงไหน “คมสันต์” บอกว่าอยู่ในปลายยุคที่สอง เป็นช่วงของการ “สร้างกฎระเบียบ กฎเกณฑ์” ต่าง ๆ เข้าสู่ยุคสามที่ต้องเริ่มสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรร่วมกัน

“ช่วงแรก ผมเรียกว่าช่วงอันธพาล คิดอย่างเดียวทำยังไงให้องค์กรไม่เจ๊ง ทำให้มองเห็นแสงอาทิตย์ในวันรุ่งขึ้นได้ เป็นช่วงที่สนุกและโหดร้ายมาก เราผ่านมาได้แล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงตั้งกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือวินัยของคนในบ้าน ยุคนี้ใกล้จะผ่านไปแล้ว กำลังเข้าสู่ยุคที่ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กร”

นอกจากค่านิยมที่เหมือนกัน กฎเกณฑ์ที่เหมือนกันแล้ว ยังต้องมองไปถึงด้วยว่า “เราจะรักกัน และมองเห็นภาพในอนาคตร่วมกันแบบไหน”

“ไม่ได้เป็นช่วงที่ง่าย เพราะเราเปิดใน 6 ประเทศ กลายเป็นมี 6 วัฒนธรรม 6 สัญชาติ แฟลช เอ็กซ์เพรส เปิด 4 ประเทศที่ไทย ลาว มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนแฟลชกรุ๊ป เข้าไปเปิดเกือบทุกประเทศในเอเชียแล้ว ยกเว้น พม่า และสิงคโปร์”

วิถีผู้นำขับเคลื่อนธุรกิจ

“คมสันต์” พูดถึงการขับเคลื่อนองค์กรและทีมงานให้เดินไปข้างหน้าร่วมกันสไตล์แฟลชกรุ๊ปว่าคือการทำให้ทุกคนเห็นเป้าใหญ่เหมือนกัน และกำหนดทางเดินให้ด้วย

“เพื่อนร่วมงานเรามีหกหมื่นชีวิต เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะเข้าใจว่าตนเองเลือกทางที่ดีสุด ไปในทางที่ถูกต้องที่สุด ดังนั้น วิธีการของเราคือ ตั้งกฎและกติกา อัลไลน์กับเป้าที่จะไป เช่น เราบอกว่าจะไม่คอร์รัปชั่น ก็ต้องมีแผนกตรวจสอบที่เข้มงวด กฎเกณฑ์ที่เข้มงวด หลาย ๆ ครั้งความอิสระในทางความคิดทำให้เขาหลุดจากกรอบ มีความผิดพลาด เราก็จะมีการเทรนนิ่งเพื่อให้มีความเป็นมืออาชีพ”

เมื่อถามถึงบทเรียนในแต่ละช่วง

เขาเล่าย้อนว่าในช่วงอันธพาล นอกจากห้ามเลือกวิธีการ ควบคู่ไปกับความพยายามและความตั้งใจแล้ว มีอีกสิ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ ความเชื่อใจ ถ้าเชื่อก็ต้องเชื่อเต็มร้อย ถ้าไม่เชื่อก็ต้องไม่เชื่อตั้งแต่วันแรก และเสมอไป คำพูดนี้แปลว่าคุณจะมีต้นทุนที่แพงมากกับคำว่าไม่เชื่อ

“ถ้าคุณเชื่อเพื่อนร่วมงานว่าเขารับผิดชอบเรื่องนี้ได้ คุณต้องเชื่ออย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ให้เขาไปทำสิ่งนั้น เมื่อไรที่คุณสงสัย ต้นทุนคุณจะโคตรแพง เพราะกิจการคุณเล็กนิดเดียว กำลังวิ่งต่อสู้ เหมือนขับรถความเร็ว 120 แล้วสงสัยว่าข้างหน้ามีก้อนหินหรือเปล่า แล้วคุณเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาจะเกิดอะไรขึ้น รถพังแน่ มีคนตายแน่”

คมสันต์ย้ำว่า ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจต้องเลือกทีมงานที่จะเชื่อใจได้จริง ๆ หรือถ้าไม่เชื่อก็ต้องให้เขารีบไปก่อน แก้ไขเร็วที่สุด ผิดพลาดเร็วที่สุด

แบ่ง 3 ยุค 3 วิธีบริหาร

ถามว่าธุรกิจต้องเติบโตถึงจุดไหน ที่ความเชื่อต้องได้รับการตรวจสอบ “คมสันต์” บอกว่า เมื่อองค์กรเริ่มมีคนจำนวนมากขึ้น สำหรับแฟลช จากหลักร้อยสู่หลักพัน

“ตอนนั้นเรามีประมาณห้าพันคน ปรากฏว่ามีคอร์รัปชั่นเต็มเลย เพราะเขาเริ่มใช้ความเชื่อที่เราให้กลายเป็นอาวุธที่สามารถคอร์รัปชั่นได้ หรือตัดสินใจอย่างเข้าข้างตัวเองได้โดยไม่เข้าข้างกิจการ วันนั้นคือวันที่ต้องมีระบบตรวจสอบ เราคนเดียวไม่สามารถตามทันพวกเขาทั้งหมดได้แล้ว เพราะมันใหญ่เกินไปแล้ว ตอนกิจการหลักร้อย เรามีเวลาเจอทุกคนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หรือเดือนละครั้ง พอห้าพันคนเดือนหนึ่งหรือปีหนึ่งยังไม่ได้เจอก็มี ยิ่งวันนี้มีหกหมื่นคน หนึ่งปีไม่ได้เจอเป็นเรื่องปกติ มีหลายท่านที่อยู่กับผมบางคน 3 ปีไม่เคยเจอผมเลยก็มี”

เขาย้ำว่าในช่วงเริ่มต้นความเชื่อสำคัญ แต่ในช่วงที่สองต้องมีระบบติดตาม ระบบตรวจสอบ ทุกอย่างต้องติดตามได้ ตรวจสอบได้เรียกว่ายุคของกฎระเบียบตรวจสอบได้ มีแผนสำรองต่าง ๆ

สิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ

เมื่อถามว่า มีสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำบ้าง “คมสันต์” บอกว่าต้องแบ่งเป็นยุค ตอนเริ่มต้นสิ่งที่ต้องทำคือ โปรดเชื่อ และใช้ ไม่เชื่อห้ามใช้ ในยุคกลางที่เริ่มเติบโต ต้องมีกฎที่ชัดเจนและแข็งแรง อย่าแค่ตั้งเป้าหมาย ต้องมีคนตรวจสอบในยุคของการสร้างวัฒนธรรมองค์กร จะเป็นยุคของการแข่งขัน ดังนั้น องค์กรต้องมีม้าสองตัวขึ้นไป ถ้ามีตัวเดียวแล้วล้มป่วยหรือตายจะต้องเหนื่อยแน่นอน

ม้าสองตัวคือ ในหนึ่งงานมีสองคน

ประสบการณ์ที่ฟิลิปปินส์

“คมสันต์” เล่าถึงการขยายธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์ด้วยว่าได้รสชาติครบรสที่แตกต่างไปจากประเทศอื่น ๆ มาก ฟิลิปปินส์เป็นประเทศกำลังพัฒนา มีจำนวนประชากรกว่า100 ล้านคน แต่มีสัญชาติแค่ 40 ล้าน ที่เหลือไม่มีเอกสาร ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งทำ และมีผลกับบริษัทเช่นกัน เพราะพนักงานแฟลชที่มี 1.5 หมื่นคน มีเอกสารถูกต้อง 3-4 พันคน

“คนที่ไม่มีเอกสารขโมยเงินลูกค้า ขโมยเงินบริษัท เดือนหนึ่งเสียหาย 60 ล้าน ตู้เซฟเดิมทีของเราแค่ 50 กิโลฯ ก็ต้องเปลี่ยนเป็น 100 กิโลฯ จะได้ขนกลับบ้านไม่ไหว เป็นต้น ก็คิดว่าเป็นอะไรที่สนุกและท้าทายดี”

แต่ที่เริ่มจะไม่ดีก็คือปัญหามิจฉาชีพ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

“เราพอรู้อยู่บ้าง เดิมมีคอลเซ็นเตอร์ อาชญากรรมอินเทอร์เน็ตค่อนข้างเยอะ จากลาว กัมพูชา ย้ายมาไทยบ้าง แต่ย้ายไปเยอะสุดคือฟิลิปปินส์ เพราะเขามีกาสิโนถูกกฎหมาย”

“ซีอีโอ” แฟลชที่ฟิลิปปินส์เพิ่งลาออกไป ด้วยเหตุผลว่า ไปทานข้าวกับผู้ช่วยซีอีโอแล้วผู้ช่วยโดนจับไปเป็นตัวประกัน เพื่อเรียกค่าไถ่เป็นเงิน 2 แสนบาท ภรรยาเลยบอกให้กลับบ้าน ลาออก

“ที่ขยายไปฟิลิปปินส์ นอกจากข้อมูลพื้นฐานของประเทศและเศรษฐกิจแล้ว สิ่งสำคัญคือพาร์ตเนอร์ที่เชิญเข้าไปและโอกาส เพราะฟิลิปปินส์เป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคในเติบโตของอีคอมเมิร์ซ”

ก้าวต่อไปของแฟลชกรุ๊ป

“คมสันต์” บอกว่ามีสองหมวกที่ต้องบาลานซ์ ใบแรกคือ ถ้าเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีกว่านี้ ก็ควรลงทุนมากกว่านี้ด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งด้านโลจิสติกส์, คลังสินค้า, บริการและธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ

“โดยส่วนตัวดีใจที่กลับมาจากต่างประเทศเห็นสุวรรณภูมิคนเต็มเลย ถ้าการท่องเที่ยวกลับมา เท่ากับการบริโภคก็จะกลับมา ส่งผลต่ออีโคซิสเต็มทั้งหมด การจ้างงาน และอื่น ๆ ก็จะดีขึ้น เราเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น”

ล่าสุดมีการระดมทุนอีก 1.5 หมื่นล้าน เพื่อนำมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยเพิ่มเติมโดยจะลงไปถึงระดับชุมชน เข้าหมู่บ้าน และขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยจะออกนอกอาเซียนให้ได้ภายในปีนี้หรือปีหน้า อีกส่วนคือการพัฒนาภายใน ให้เวลากับหลังบ้าน และการสร้างวัฒนธรรมองค์กร

“ที่ผ่านมาเราหาคนเป็นแม่ทัพ แต่หาขุนนางในบ้านน้อยเกินไป ถึงเวลาที่จะต้องสร้างขุนนางน้อย โดยนิสัยตัวเอง เรายังถนัดออกรบ ยังชอบออกรบ เป็นนักรบ แต่ด้วยความสำคัญขององค์กร เรารู้ชัดเจนเลยว่าหลังบ้านสำคัญมากด้วย”

มองเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้ง

ในช่วงรอยต่อสู่การเลือกตั้ง ถามว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นไหม

“คมสันต์” ออกตัวว่าบริษัทเราคงเล็กเกินไปที่จะพูดว่าถ้าการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง แต่มีสิ่งหนึ่งที่กังวลใจ คือเรื่องนโยบายค่าแรง เพราะมีผลกระทบโดยตรง

“เราจ้างงานเกือบหกหมื่นชีวิต ถ้าเพิ่มอีก 300-400 บาท ก็ไม่แน่ใจว่าจะรับได้ขนาดนั้นไหม ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าต้นทุนพลังงานเพิ่ม แต่ขนส่งลด อีคอมเมิร์ซแข่งรุนแรง ถ้าค่าจ้างเพิ่มเราจะอยู่ตรงไหน”

และในช่วงนี้เริ่มมีแรงกดดันจากการท่องเที่ยวที่กลับมา ที่ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่เราบอกว่ายืนหน้าโรงแรมได้เงินเยอะกว่าขนส่งแค่ถือกระเป๋าขึ้นโรงแรมได้ทิป ได้เงินเดือน รวมถึงขับวินหน้าโรงแรมให้ฝรั่งได้เงินมากกว่าขนส่ง ถือเป็นความท้าทาย

สปิริตเจ้าของมืออาชีพ

“คมสันต์” กล่าวด้วยว่า เมื่อธุรกิจเติบโต มีพนักงานมากขึ้น การบริหารจัดการธุรกิจและองค์กรจะก้าวเดินไปสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น แต่ในความเป็นมืออาชีพก็ยังต้องมี “จิตวิญญาณของความเป็นเจ้าของ” (enterperenure spirit) อยู่ด้วย

“สปิริตความเป็นเจ้าของคงไม่หายไป แต่จะมีบทบาทในองค์กรเยอะหรือน้อยอาจเปลี่ยนไปแต่จำเป็น เช่น ฟิลิปปินส์ตั้งงบฯลงทุนไว้ 3 พันล้านปี 2022 ทั้ง ๆ ที่ควรใช้แค่ 2,500 ล้าน ซีอีโอก็จะใช้ 3 พันให้หมด ความเป็นมืออาชีพคือทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่ตกลงกันแล้ว ระหว่างทางมีการเปลี่ยนแปลงก็ยังทำตามแผนเดิม แต่ความเป็นเจ้าของที่ไหนลดได้ แม้แต่บาทเดียวก็ลดทันที”

เตือนหมาป่ากำลังจะมา

“คมสันต์” ทิ้งท้ายด้วยว่า ธุรกิจกำลังเผชิญกระแสเชี่ยวกรากของเทคโนโลยีดิสรัปชั่นผลักดันให้ทุกองค์กรต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ทัน

“ธุรกิจวันนี้น่ากลัวจนถึงขั้นที่เราไม่รู้ว่าคนที่ดิสรัปต์เราจริง ๆ ไม่ใช่คนที่เรามองว่าเป็นคู่แข่งในวันนี้ด้วยซ้ำ คุณจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนที่ล้มคุณจริง ๆคือใคร และมาจากไหน”

แม้แต่แฟลชเอ็กซ์เพรสที่มีอาชีพเป็น “กรรมกรขนส่ง” ถ้าวันหนึ่งเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติทำได้ดีจริง อาจไม่มีใครซื้อของออนไลน์ เพราะพรินต์เองที่บ้านได้ หรือถ้าเครื่องบินไร้คนขับ รถยนต์ไร้คนขับทำได้จริง ถามว่าจะต้องมีบริษัทขนส่งอีกไหม

มีหลายอย่างมากที่เกิดขึ้นมา โดยที่ไม่ใช่คู่แข่งเราจริง ๆ ดังนั้น “หมาป่า” มาแน่ ๆ ถามว่าหมาป่ามีอะไรบ้าง 1.เทคโนโลยี เอไอ และ 2.เทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ทำให้ชีวิตผู้คนสะดวกสบายขึ้น และแก้ไขขั้นตอนบางอย่างได้

คมสันต์ยกตัวอย่าง แฟลชมันนี่ที่เดิมต้นทุนการปล่อยกู้หรือไม่ปล่อยอยู่ที่เครดิตบูโรในการเช็กสถานะ แต่วันนี้เช็กจากเรื่องอื่นก็ได้ เช่น เขาส่งสินค้าตรงเวลาหรือไม่ บุ๊กกิ้งให้ไปรับสินค้า ไปรับแล้วหรือไม่ว่าง ซ้ำกันเท่าไรถือว่าคนนี้มีโอกาสเบี้ยว เช่นกันกับการส่งสินค้า ส่งแล้วจ่ายครบหรือไม่ครบ ปฏิเสธกับไม่ปฏิเสธกี่ครั้ง ข้อมูลธุรกรรมต่าง ๆ ที่สะสมไว้วันละสองล้านครั้ง ตลอด 5 ปีทำให้บริษัทมีทรานแซ็กชั่นหลายพันล้านครั้ง ที่นำมาวิเคราะห์ได้ว่าคนนี้น่าเชื่อถือแค่ไหน

“เราเล่านิทานว่าหมาป่ากำลังจะมาเยอะเกินไปหรือเปล่า จนคนไม่เชื่อว่าจะมาจริงๆ ดังนั้น ผมจะพูดอีกครั้งว่าหมาป่ามาแน่ ๆ”