ปานปรีย์-จักรพงษ์ ส่งต่อภารกิจ “มาริษ” รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่

ก.ต่างประเทศ
คอลัมน์ : Politics policy people forum

ภารกิจการต่างประเทศสำคัญยิ่งยวดในยุคที่โลกแบ่งขั้วข้าง Decoupling

เกมการเมืองระหว่างประเทศขับเคี่ยวไม่ต่างกับยุคสงครามเย็น สงครามเกิดขึ้นทั้งยุโรปและตะวันออกกลาง แม้กระทั่งการสู้รบในเมียนมา

ลามถึงภาวะเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ เกิดกลยุทธ์ Friend Shoring ค้า-ขายระหว่างกันเฉพาะประเทศที่เป็นมิตร กระทบห่วงโซ่ซัพพลายเชน

ตัดกลับมาที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เข้ามาสู่อำนาจได้ 8 เดือน เยือน 14 ประเทศ ทำให้ประเทศกลับมาเป็นจอเรดาร์ของโลกอีกครั้ง ผลักดันฟรีวีซ่ากับหลายประเทศ

แม้ว่าการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เก้าอี้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังไม่ลงล็อก-ลงตัว เพราะ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รมว.การต่างประเทศ ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง

Advertisment

แต่ในหนังสือดังกล่าวเขาบรรยายถึงการทำงานในรอบ 8 เดือนว่า

“ผมทุ่มเทการทำงานด้านต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และตั้งใจทำหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีนักลงทุนต่างชาติสนใจมาลงทุนมากขึ้น ตามที่รัฐบาลได้แถลงผลงานไปแล้ว จนสามารถตอบสนองต่อนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกอย่างเด่นชัด”

“วันนี้ไทยหวนกลับมาขึ้นบนจอเรดาร์ของโลก มีมิตรประเทศเพิ่มขึ้น และมีนักลงทุนต่างชาติสนใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น นอกจากนั้น การให้ความสำคัญกับคนไทยในต่างประเทศ ผมยังไปเจรจาด้วยตัวเอง เพื่อนำคนไทยผู้ถูกจับเป็นตัวประกันในอิสราเอลกลับไทยได้ถึง 23 คน แรงงานไทย 8,000 คน และจากเล่าก์ก่ายในเมียนมาอีก 1,000 คน”

“เปิดวีซ่าฟรีกับหลายประเทศ เพื่อคนไทยมีความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา ฟื้นความสัมพันธ์กับอาเซียน สหภาพอียู อินเดีย และประเทศมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐอเมริกา และจีน จนเกิดการเจรจา ลดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในประเทศไทยอีกด้วย”

Advertisment

8 เดือน จักรพงษ์

ขณะที่ “จักรพงษ์ แสงมณี” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเพิ่งลงจากตำแหน่ง รมช.ต่างประเทศ เล่าภารกิจว่า เริ่มต้นเหตุการณ์แรกได้ประชุม UNGA ที่สหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรกที่นายกฯ ประกาศว่าประเทศไทยเปิดแล้ว และมีการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ว่า “ประเทศไทยเปิดแล้ว”

นโยบายสำคัญอย่างแรกของรัฐบาลคือ ฟรีวีซ่าไทย-จีน และ ไทย-คาซัคสถาน “จักรพงษ์” เล่าว่าส่วนใหญ่เขาทำงานอยู่เบื้องหลัง ประสานกับทูตว่าหากมีเหตุการณ์อย่างนั้น อย่างนี้เกิดขึ้นจะทำอย่างไร และทำอย่างไรจะมีฟรีวีซ่าของทั้งสองฝ่าย ระหว่างไทย กับ จีน

ต่อมามีเหตุกราดยิงพารากอน ต้องคุยกับประเทศผู้เสียหาย ทั้ง จีน ลาว เมียนมา ต้องคุยกับท่านทูตให้เข้าใจกันว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากการละเลยของประเทศไทย จากนั้นเจอสงครามฮามาสกับอิสราเอล ซึ่งเป็นงานแรกที่ได้ทำงานกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างจริงจัง เพราะนายกฯ มอบให้จัดตั้งและดูแลศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน (Rapid Response Center–RRC) ตั้งแต่วันแรก

นอกจากนั้นก็ได้มีการพานักธุรกิจไทยไปเยือนคาซัคสถาน ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากภาคเอกชน เพราะเอกชนไม่เคยได้ไปเจอกับราชการฝั่งนั้นจริงๆ และเราทำ matching ธุรกิจระหว่างกัน

ตลอดเวลาได้ทำงานร่วมกับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศอย่างเต็มที่ ทำจนเราสามารถพาคนไทยกลับมาได้ 8,000 กว่าคน เป็นประเทศแรก ๆ ที่อพยพคนออกมาได้

การยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) ต้องประสานทั้งกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง บอกหลักการและเหตุผลว่าที่ต้องทำคืออะไร ไม่ได้ละเลยด้านความมั่นคง

ภารกิจที่ยังไม่จบ

Six country One destination ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 6 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และมาเลเซีย ที่ทำช่วงหลังๆ รวมถึงติดตามงานที่นายกฯ ไปต่างประเทศทั้งหมดว่ามีความคืบหน้าอย่างไร ไม่ใช่ไปกลับมาแล้วจบ เพราะต้องดูว่าอีกฝ่ายจะกลับมาอีกทีวันไหน มีอะไรบ้างที่เราจะต้องหยิบยกมาพูดคุยเพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังได้รับมอบจากนายกฯ ให้ไปประชุมในนามนายกฯ ที่ยูกันดา รวมถึงเซาท์แอฟริกา และติดตามนายกฯ ไปเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ

จักรพงษ์ เอ่ยชมกระทรวงการต่างประเทศว่า สุดท้ายแล้วทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ต้องการให้ประเทศเจริญก้าวหน้า เราจะดูแลคนไทยในต่างประเทศทั้งหมด ช่วยดูแลว่าในฐานะรัฐไม่ว่าอยู่ที่ไหนเราต้องดูแลเขา

“ผมเข้าไปกระทรวงการต่างประเทศแล้วก็ประทับใจ เพราะทุกคนทำงานเต็มที่ ทำงานกันถึงดึกดื่น หากมีงานด่วนถึงเที่ยงคืนก็พร้อมมีคนตอบคำถาม หรือ จัดการให้ วันนี้เราทำให้ประเทศไทยเริ่มเป็นที่จับตามองของนานาชาติมากขึ้น จากการที่นายกฯ เป็นหัวหอกออกไปทำให้ประเทศอื่นๆ มั่นใจในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้สำคัญต่อประเทศอื่นๆ ที่จะมาลงทุน”

มาริษ รมว.ต่างประเทศ คนใหม่

ล่าสุด วันที่ 30 เมษายน 2567 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศพระบมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว

หลัง “ปานปรีย์” ลาออกจากตำแหน่ง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ เผยสเป็กคุณสมบัติรัฐมนตรีคนใหม่ว่า “ท่านเองอยู่ในแวดวงของการทูตมา และแวดวงการเมืองก็อาจจะเป็นคนทำงานข้างหลังของพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด และจิตวิญญาณแน่นอน คิดถึงประโยชน์พี่น้องประชาชน”

ให้หลังไม่นาน ชื่อของ “ทูตปู” มาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตที่ปรึกษา รมว.การต่างประเทศ (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) ก็มีชื่อติดโผ

เพราะเคยรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ ดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำเครือรัฐออสเตรเลีย, อดีตเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐฟิจิ และอดีตเอกอัครราชทูตกรุงกาฐมาณฑุ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล

นอกจากนี้ เคยออกไปประจำการ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ที่
ผ่านมาเคยทำงานที่กรมองค์การระหว่างประเทศ กรมสารนิเทศ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

เป็นข้าราชการที่ถูกส่งไปประจำการ ณ ทำเนียบรัฐบาล ในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้มีความใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตร

มาถึงยุครัฐบาลเศรษฐา ทูตมาริษก็ได้รับตำแหน่ง อดีตที่ปรึกษา รมว.การต่างประเทศ ของปานปรีย์ ดังนั้น ในช่วงบ่ายของวันที่ 29 เมษายน “ทูตมาริษ” จึงถูกเรียกตัวเข้าทำเนียบรัฐบาล เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล ในกระแสข่าวว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่

งานที่ “ปานปรีย์-จักรพงษ์” เล่าทิ้งท้ายตำแหน่ง รัฐมนตรีคนใหม่ต้องเข้ามาสานต่อ