คอลัมน์ : Market-think ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์
ถือเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงสื่อ
เมื่อ คุณเมตตา อุทกะพันธุ์-คุณระริน อุทกะพันธุ์ และ นายโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ สามีคุณระริน ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งบริหารในบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
หลังจากที่คุณระรินได้ขายหุ้นลอตใหญ่ 13.86% ให้กับบริษัท สิริภักดีธรรม ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี เมื่อต้นเดือนตุลาคม
ก่อนหน้านี้คุณเจริญเข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน “อมรินทร์” เมื่อปี 2559 แต่ให้คุณเมตตาและคุณระรินบริหารงานต่อไป
การตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดและลาออกจากทุกตำแหน่งครั้งนี้จึงเป็นการเปิดทางให้กลุ่มไทยเบฟฯเข้ามาบริหารงานเครืออมรินทร์อย่างเต็มตัว
และปิดตำนานตระกูล “อุทกะพันธุ์” ผู้ก่อตั้ง “อมรินทร์” ลงอย่างสิ้นเชิง
เครืออมรินทร์เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อมายาวนาน
เป็นเจ้าของนิตยสารชื่อดังหลายเล่ม มีสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก มีโรงพิมพ์ เป็นเจ้าของอีเวนต์ใหญ่หลายงาน
จนวันหนึ่ง “อมรินทร์” ตัดสินใจรุกเข้าไปวงการสื่อโทรทัศน์ ด้วยการประมูลทีวีดิจิทัล
เป็นจังหวะก้าวแบบเดียวกับ “ไทยรัฐ-เดลินิวส์”
คือก้าวจากสื่อกระดาษไปสู่วงการโทรทัศน์
ในวันนั้น คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นก้าวย่างที่ถูกต้อง เพราะสื่อกระดาษเริ่มส่งสัญญาณว่าจะดิ่งหัวลงเรื่อย ๆ
ขณะที่ธุรกิจโทรทัศน์ที่มีอยู่แค่ 4 ช่อง
ใคร ๆ ก็มองว่าเป็น “ขุมทอง”
การตัดสินใจประมูลทีวีดิจิทัลจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องในวันนั้น
แต่ใครจะไปนึกว่า “ขุมทอง” ที่คาดหวังไว้กลับกลายเป็น “หุบเหว”
จะบอกว่ากลุ่มสิ่งพิมพ์ที่เข้าไปประมูลทีวีดิจิทัลไม่รู้เรื่องวงการโทรทัศน์ จึงประเมินสถานการณ์ผิดพลาดก็คงไม่ได้
เพราะยักษ์ใหญ่ของวงการโทรทัศน์ทุกรายก็เข้าประมูล
ช่อง 3 ช่อง 7 อสมท แกรมมี่ อาร์เอส เวิร์คพอยท์ฯ ฯลฯ
ทุกคนเชื่อว่าทีวีดิจิทัลเป็น “ขุมทอง”
ราคาประมูลจึงสูงลิบลิ่ว
แต่ใครจะไปนึกว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว คนดูทีวีน้อยลง หันไปดูโซเชียลมีเดียจากจอมือถือมากขึ้น
“ทีวีดิจิทัล” จึงกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ลูกใหญ่
“อมรินทร์” ก็ไม่พ้นวังวนนี้
ที่สำคัญที่สุด คือ รายรับจากฐานที่มั่นเดิมที่เป็นสื่อกระดาษ น้อยกว่ารายจ่ายที่ใช้ในแวดวงโทรทัศน์
สถานการณ์ที่ “อมรินทร์” เผชิญจึงคล้าย ๆ กับตอนที่นิตยสารคู่แข่งรายเดือน ไปลงทุนทำหนังสือพิมพ์รายวัน
“คู่แข่ง” เป็นนิตยสารรายเดือนที่โฆษณาแน่นมาก กำไรมโหฬาร
แต่พอมาทำหนังสือพิมพ์รายวันที่มีรายจ่ายทุกวัน
รับเป็นเดือน แต่จ่ายทุกวัน
สุดท้าย “คู่แข่ง” ก็ไม่รอด
คล้าย ๆ กับ “อมรินทร์” ที่มีรายรับจากนิตยสาร-พ็อกเกตบุ๊ก แต่จ่ายค่าสัมปทานและค่าใช้จ่ายผลิตรายการโทรทัศน์ทุกวัน
รับน้อย จ่ายเยอะ
สุดท้าย “อมรินทร์” ก็มีปัญหา จากที่กำไรต่อเนื่องทุกปีกลายมาเป็นขาดทุนหนักมาก
แต่เขาแก้สถานการณ์วิกฤตครั้งนั้นได้เร็ว เพราะสามารถเจรจาขายหุ้นให้กลุ่มไทยเบฟฯ
พลิกสถานการณ์จากขาดทุนปีละ 400-600 ล้านบาท มาเป็นกำไรหลักร้อยล้านต่อเนื่องมาหลายปี
แต่ภายใต้ผลประกอบการที่ดีขึ้น ไม่มีใครรู้ว่าปัญหาภายในเป็นอย่างไร
เพราะฝ่ายหนึ่งถือหุ้นใหญ่ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าของเก่าและรับหน้าที่บริหาร
ไม่รู้ว่าจะมีวันไหนที่เริ่มฝันถึงดาวคนละดวงบ้าง
อย่าลืมว่าตระกูลอุทกะพันธุ์ ขายหุ้นลอตแรกและลอตหลังสุดไป รวมเป็นเงินพันกว่าล้านบาท
เขาสามารถไปเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่ตัวเองเป็นเจ้าของได้ไม่ยาก
เรื่องนี้ไม่มีใครผิดใครถูก
เป็นเรื่องปกติธรรมดาของ “ความเปลี่ยนแปลง”