เปิดประวัติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ

พล.อ.ประวิตร

เปิดประวัติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมจะเป็นนายกฯ คนที่ 30 สานสัมพันธ์ทุกฝ่าย ก้าวข้ามความขัดแย้ง

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มาพร้อมแคมเปญ ก้าวข้ามความขัดแย้ง โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ไม่ใช่ผมคนเดียว การก้าวข้ามความขัดแย้งต้องช่วยกันทั้งประเทศ” พร้อมระบุว่า ต้องการให้คนไทยรักสามัคคีกัน นำพาประเทศให้เกิดความเจริญก้าวหน้าต่อไป ส่วนเรื่องความคิดการเมือง ให้ไปว่ากันในสภา

ในเส้นทางของ พล.อ.ประวิตร ถือเป็นผู้ที่มีคอนเน็กชั่นและสั่งสมบารมีทางการเมืองมากที่สุดคนหนึ่ง ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเพียงนายทหาร จนถึงวันนี้ที่ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ

ประวัติ

  • เกิดวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2488 อายุ 78 ปี
  • จบชั้นมัธยมจากเซนต์คาเบรียล
  • จบนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6
  • จบนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 17

พล.อ.ประวิตร เป็นบุตรคนโตของพลตรีประเสริฐ วงษ์สุวรรณ กับนางสายสนี วงษ์สุวรรณ มีน้องชาย 4 คน คือ พลเรือเอกศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ, พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ, พงษ์พันธุ์ วงษ์สุวรรณ

พล.อ.ประวิตรเริ่มต้นเดินบนเส้นทางการเป็นนายทหารด้วยการเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 3 เมื่อปี 2512 และเตืบโตบนเส้นทางราชการทหารมาโดยตลอด กระทั่งปี 2524 ได้ขึ้นมาเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ หรือที่สื่อมักเรียกเครือข่ายดังกล่าวว่า “บูรพาพยัคฆ์”

ชีวิตการเป็นทหารของ พล.อ.ประวิตร เติบโตตามเส้นทางนายพลมากฝีมือและเครือข่ายอำนาจ ตั้งแต่การเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ในปี 2545 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2546 และผู้บัญชาการทหารบก สมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร (ปี 2547) นับเป็นทหารสายบูรพาพยัคฆ์คนแรกที่ได้ขึ้นแท่นเป็น ผบ.ทบ. ก่อนที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นทั้งพี่น้อง 3 ป. และทหารบูรพาพยัคฆ์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวเช่นกัน

พล.อ.ประวิตร

จาก “ทหาร” สู่ “นักการเมือง”

หลังเกษียณอายุราชการทหารเมื่อปี 2548 ชื่อของ พล.อ.ประวิตร เป็นที่ได้ยินอีกครั้งบนสนามการเมือง ในฐานะ รมว.กลาโหม สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ปี 2551-2554) และกลับมาอยู่บนหน้าการเมืองอีกครั้งช่วงสมัย คสช. ในฐานะรองหัวหน้า คสช. รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเป็น รมว.กลาโหม ครั้งที่ 2 จนถึงกรกฎาคม 2562 โดยยังคงเป็นรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้

ปี 2563 การเมืองไทยสั่นสะเทือนอีกครั้ง เมื่อมีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประวิตรจะได้รับการเสนอให้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แล้วกระแสข่าวก็กลายเป็นเรื่องจริง เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2563 พล.อ.ประวิตร ตอบรับนั่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ต่อมายังคงสร้างบารมี เป็นที่นับหน้าถือตาในกลุ่มสมาชิกทั้งนักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีเครือข่ายเกือบทุกพรรค ไม่เว้นแม้แต่นักการเมืองท้องถิ่น

พล.อ.ประวิตรคร่ำหวอดในวงการความมั่นคง เกี่ยวพันกับนักการเมืองทุกระดับมาตั้งแต่อ่อนเกษียณอายุราชการจวบจนปัจจุบัน อาจนับห้วงเวลาได้เกือบ 2 ทศวรรษ ชื่อของ พล.อ.ประวิตร จึงปรากฏอยู่ในการ “ดีลลับ” กับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ไม่เคยมีหลักฐานปรากฏชัดแจ้ง

ไม่เพียงแต่กับคอนเน็กชั่นกับบรรดานักธุรกิจ นักการเมือง และผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ระดับชาติ พล.อ.ประวิตรยังมองหน้ารู้ใจกับคนในวุฒิสภาสัดส่วนเกินครึ่งใน 250 คน บารมีของเขายังคงลอยเหนือกองทัพ ทั้ง 4 เหล่าทัพ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ รวมทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การได้รับฉายา “ป๋าคนที่สองของกองทัพ” ที่นายทหารกลุ่มที่สนิทเรียกกันเบา ๆ แต่ได้ยินกันทั่วทุกโครงสร้างอำนาจ จึงอาจมีความจริงเจือปนเป็นส่วนใหญ่

พล.อ.ประวิตร

ขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีรักษาการ

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องหยุดทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว จากคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สั่งให้หยุดทำหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา ชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นที่สนใจขึ้นมาอีกครั้ง เพราะต้องกลายมาเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีแทนรุ่นน้องสุดที่รัก

การขึ้นมาเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นไปตาม คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 237/2563 เรื่อง การมอบหมายให้ราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ระบุว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีตามลำดับ ดังนี้

  1. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  2. นายวิษณุ เครืองาม
  3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล
  4. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
  5. นายดอน ปรมัตถ์วินัย
  6. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

พลังประชารัฐ เคาะประวิตรเป็นแคนดิเดตนายกฯ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ระบุว่า “ทุกคนเห็นตรงกันเสนอ พล.อ.ประวิตร เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงท่านเดียว เพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และศักดิ์ศรีของพรรคพลังประชารัฐ จึงต้องเสนอท่านที่สูงสุด เหมาะสมที่สุด ที่ประชุมทุกระดับชั้น เชื่อว่า พล.อ.ประวิตร มีความเหมาะสม และเชื่อว่าท่านจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แน่นอน” นายไพบูลย์กล่าว

พล.อ.ประวิตร

ก้าวข้ามความขัดแย้ง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โพสต์บทความ ทำไมต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง ในเฟซบุ๊ก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดังต่อไปนี้

ทำไมต้อง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” เพราะแม้จะมีเหตุผลมากมายที่หลายคนเห็นว่าผมควรจะหยุด และกลับไปใช้ชีวิตสบาย ๆ ซึ่งจะทำให้ผมมีความสุขมากกว่า เนื่องจากชีวิตไม่ได้รู้สึกขาดแคลนอะไรแล้ว และนั่นทำให้ผมคิดแล้วคิดอีกอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ในที่สุดแล้ว ผมตัดสินใจที่จะทำงานต่อ แน่นอนว่าเหตุผลหนึ่งคือ

ผมผูกพันกับคนที่ร่วมสร้าง “พรรคพลังประชารัฐ” ขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมาเกือบครบ 4  ปีเต็ม ๆ ทุกคนล้วนมีความหวัง ความฝันที่จะทำงานการเมืองต่อไป ทุกคนต่างร่วมทำงานหนักกันมา เมื่อถึงวันที่จะต้องลงเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น การต่อสู้รุนแรงมาก ใครไม่พร้อมก็ยากที่จะเดินต่อไปได้

ผมจะคิดแค่เอาตัวรอด ทิ้งเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ร่วมสร้าง “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ยังมีความฝันอยู่เต็มเปี่ยมได้อย่างไร นั่นเป็นเหตุผลแรก แต่ลึกไปในใจ ในความรู้สึกนึกคิด ผมมีเหตุผลส่วนตัวที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเหตุผลที่เกิดจากการทบทวนครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงทางออกของชาติบ้านเมือง ว่าควรจะทำอย่างไรกันดี เป็นการทบทวนที่มองผ่านเข้าไปในประสบการณ์ชีวิตของผมทั้งหมด แล้วหาข้อสรุปว่าเกิดอะไรกับประเทศ

ผมจะค่อย ๆ เล่าให้ฟังว่า อะไรที่ผมพบเจอ รับรู้ และเกิดความคิดอย่างไรในแต่ละช่วงชีวิต จนสุดท้ายตัดสินใจทำงานการเมืองต่อ ด้วยความคิดว่าตัวเองจะทำประโยชน์ด้วยการคลี่คลายปัญหาให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ความสดใส

ผมจะเริ่มจากการเล่าให้เห็นประสบการณ์รับราชการทหารตั้งแต่ “นายทหารผู้น้อย” ค่อย ๆ เติบโตมาถึง “ผู้บัญชาการกองทัพ” ได้รับการหล่อหลอมให้ “จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” มาทั้งชีวิตจนผลึกความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา เป็น “จิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีของผม” อย่างมั่นคง ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

ในห้วงเวลาเกือบทั้งชีวิตในราชการทหาร ด้วยจิตสำนึกดังกล่าว ผมได้รับรู้ความห่วงใยของคนในวงการต่าง ๆ ที่มีต่อความเป็นไปทางการเมืองของประเทศ อาจจะเป็นเพราะผมเป็น “ผู้บังคับบัญชากองทัพ” เสียงความห่วงใยส่วนใหญ่จึงมีเป้าหมายไปที่ “นักการเมือง”

คนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทสูงต่อความเป็นไปของประเทศ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายว่า “กลุ่มอิลิท” ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดความเป็นไปของประเทศ มอง “ความเป็นมาและพฤติกรรมของนักการเมือง ด้วยความไม่เชื่อถือ”

และความไม่เชื่อมั่นลามไปสู่ความข้องใจใน “ประชาธิปไตย” และ “ความรู้ความสามารถของประชาชน ในการเลือกนักการเมืองเข้ามาครอบครองอำนาจบริหารประเทศ” ความไม่เชื่อมั่นต่อนักการเมือง และการเลือกของประชาชนนั้น ทำให้ผู้มีบทบาทกำหนดความเป็นไปของประเทศเหล่านี้ เห็นดีเห็นงามกับการ “หยุดประชาธิปไตย” เพื่อ “ปฏิรูป” หรือ “ปฏิวัติ” กันใหม่ หวังแก้ไขให้ดีขึ้น

คนในกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่หวังดี อยากเห็นประเทศพัฒนาไปสู่ความรุ่งเรือง เป็นผู้มีประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่ามีความรู้ความสามารถ หากสามารถชักชวนเข้ามาทำงานให้กับประเทศได้จะเป็นประโยชน์

แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งว่า คนที่ประสบความสำเร็จในการใช้ความรู้ ความสามารถเหล่านี้ ไม่มีโอกาสเข้ามาช่วยประเทศชาติในช่วงที่ “ระบบการเมือง” จัดสรรผู้เข้ามามีอำนาจบริหารตามโควตาจำนวน ส.ส. ที่ประชาชนเลือกเข้ามา

โอกาสที่จะเข้ามาช่วยประเทศชาติ มีเพียงช่วงที่ “รัฐบาลมาจากอำนาจพิเศษ” หรือการปฏิวัติ รัฐประหารเท่านั้น การรับราชการทหารมาเกือบทั้งชีวิต ทำให้ผมรู้จัก เข้าใจ และแทบจะมีความคิดในทางเดียวกับคนที่หวังดีต่อประเทศชาติเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นความคิดในช่วงแรก แม้จะครอบคลุมเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต แต่หลังจากเข้ามาทำงานร่วมกับนักการเมือง และตั้งพรรคการเมือง ทั้งในช่วงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็น “ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ” จนมาเป็น “หัวหน้าพรรค”

ผมได้รับประสบการณ์อีกด้าน อันทำให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องนำพาประเทศไปด้วย “ระบอบประชาธิปไตย” เพราะในความเป็นจริงทางการเมือง ไม่ว่านักการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ที่สุดแล้วอำนาจการบริหารประเทศต้องกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ที่มีอำนาจตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ก็คือ “ประชาชน”

มีความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ แม้ในการเลือกตั้งทุกครั้ง “ผู้ยึดครองอำนาจด้วยวิธีพิเศษ” จะตั้ง “พรรคการเมือง” ขึ้นมาสู้ ซึ่งแม้จะหาทางได้เปรียบในกลไกการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมา “ฝ่ายอำนาจนิยม” จะพ่ายแพ้ต่อ “ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม” ทุกคราว

ความรู้ ความสามารถของ “กลุ่มอีลิท” ทำให้ประชาชนศรัทธาได้ไม่เท่ากับนักการเมือง ที่คลุกคลีกับชาวบ้านจนได้รับความรัก ความเชื่อถือมากกว่า

นี่คือต้นตอของปัญหาที่สร้างความขัดแย้ง ขยายเป็นความแตกแยก ระหว่าง “ฝ่ายอำนาจนิยม” กับ “ฝ่ายเสรีนิยม” ที่หาจุดลงตัวร่วมกันไม่ได้ เพราะพยายามหาทางให้ฝ่ายตัวเอง “ชนะอย่างเด็ดขาด-ทำลายอีกฝ่ายให้สิ้นสูญ” กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ

ซึ่งจากประสบการณ์ของผมที่ผ่านการเห็น การรู้ การฟังทั้งชีวิต อย่างเข้าถึง “จิตวิญญาณอนุรักษนิยม” และเข้าใจ “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” ที่มีผลต่อโครงสร้างอำนาจของประเทศ ผมจะค่อย ๆ เล่าให้ฟังถึงรายละเอียดในแต่ละช่วงชีวิต เพื่อให้ได้เห็นภาพได้ชัดขึ้น และจะชี้ให้เห็นถึง “ความจำเป็นต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง”

จากนั้นจะบอกให้รู้ว่า ทำไมผมถึงเชื่อมั่นว่า “ผมทำได้” และ “จะทำอย่างไร” หากประชาชนให้โอกาสผม

สุดท้ายนี้ขอบอกกล่าวให้รับรู้โดยทั่วว่า จดหมายทุกฉบับเขียนขึ้นโดยทีมงานที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญมาช่วยกันกลั่นกรองสาระสำคัญที่ผมต้องการนำเสนอต่อสังคม เพื่อเป็นทางออกของบ้านเมือง เช่นเดียวกับตอนที่ผมเป็น ผบ.ทบ. ก็มีคณะเสนาธิการทหาร คอยช่วยเหลืองาน

ดังนั้น เมื่อก้าวมาเป็นนักการเมืองผมก็มีเสนาธิการฝ่ายการเมืองมาเป็นกำลังสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของจดหมายทุกฉบับ ที่จะเกิดขึ้นผ่านการตรวจทานจากผมแล้ว และผมขอรับผิดชอบทุกตัวอักษร

คดีนาฬิกาหรู

ภาพที่ พล.อ.ประวิตร ยกมือขึ้นบังแดดระหว่างถ่ายภาพหมู่ ครม. “ประยุทธ์ 5” ทำให้โลกออนไลน์สะดุดตากับแหวนและนาฬิกาหรู ก่อนเรื่องราวจะบานปลาย จากการที่ไม่มีการแสดงข้อมูลเครื่องประดับทั้ง 2 ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของสำนักงาน ป.ป.ช. ทำให้ ป.ป.ช.ต้องเรียก พล.อ.ประวิตรมาชี้แจ้งด่วน และจบที่ว่าแหวนนั้นเป็นของมารดา และนาฬิกานั้นยืมเพื่อนมาใส่ แต่คืนเพื่อนหมดแล้ว

ต่อมา ศาลปกครองสูงสุดสุด มีคำพิพากษาให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน เอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนคดี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรทราบ

กรณีไม่แสดงว่ามีนาฬิกาข้อมือและแหวนประดับหลายรายการของ ป.ป.ช. รวมทั้งความคิดเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทุกคนที่รับผิดชอบในการไต่สวนดังกล่าว และรายงานการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ให้แก่นายวีระ สมความคิด ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา

พล.อ.ประวิตร

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ได้มีคำวินิฉัยให้สำนักงาน ป.ป.ช. และ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนคดี พล.อ.ประวิตรจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ


ตามคำขอของนายวีระ สมความคิด และมีผลผูกพันให้สำนักงาน ป.ป.ช. และ ป.ป.ช.ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ดังนั้น การที่สำนักงาน ป.ป.ช. และ ป.ป.ช.ไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแก่นายวีระ สมความคิด จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด