ประวิตรประกาศก้าวข้ามความขัดแย้ง หยุดม็อบเดินลงถนน จัดตั้งรัฐบาลมีเสถียรภาพ ลั่นพร้อมเป็นนายกฯคนที่ 30 อ้าแขนทำงานร่วมได้กับทุกพรรค ถ้านโยบายไม่ขัดกัน พลังประชารัฐ แถลงนโยบายหาเสียง เปิดตัวทีมเศรษฐกิจครบทุกตำแหน่ง ธีระชัยแบะท่า กู้เพิ่ม-ขยายเพดานหนี้สาธารณะ อุตตมปัดไม่กู้ ถ้ากู้ต้องไม่เกิน 70%
วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ที่พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วย “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบาย นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่ปรึกษาคณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบาย และกรรมการคณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบาย
ได้แก่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายวราเทพ รัตนากร ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ และนายคณิศ แสงสุพรรณ แถลงข่าวหัวข้อ “สรุปนโยบาย โค้งสุดท้าย สู่การเลือกตั้งเป็นรัฐบาล พลังประชารัฐ”
ไม่เดินลงถนน รัฐบาลมีเสถียรภาพ
พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนและทีมเศรษฐกิจขอแถลงผลงานด้านเศรษฐกิจที่ได้ทำออกไป ทำอะไรไปบ้าง เหลือเวลาอีก 10 กว่าวันจะมีการเลือกตั้ง ถือเป็นโค้งสุดท้ายที่เราจะหาเสียง ซึ่งตลอดระยะเวลา 45 วันหลังจากยุบสภา เราได้หาเสียงมาโดยตลอด มุ่งเน้นหาเสียงทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ในเรื่องการประกอบอาชีพ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ขอสรุปนโยบายของพรรค หากผมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ตนจะดำเนินการทำให้ประชาชน คือ
เรื่องแรก ก้าวข้ามความขัดแย้ง เรื่องที่สอง ก้าวข้ามความยากกจน คือ เรื่องน้ำและเรื่องที่ดิน เรามีที่ดินไม่มีจน เรามีน้ำไม่มีแล้ง เรื่องที่สาม ลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องที่สี่ สร้างระบบสวัสดิการที่เข้มแข็ง เรื่องที่ห้า พลิกฟื้นเศรษฐกิจ และเรื่องที่หก สร้างความเป็นธรรมกับสังคมและพลิกโฉมบริการภาครัฐ
พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า นโยบายเรื่องที่ 1 เรื่องการก้าวข้ามความขัดแย้ง ผมอยากให้ประชาชนคนไทยมีความรักใคร่ มีความสามัคคีกัน สร้างความเป็นหนึ่งเดียวในการที่จะพาประเทศชาติให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง เมื่อประเทศชาติมีความมั่นคงในเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น เราไม่มีความขัดแย้งกันแล้ว ทำให้ประเทศเกิดความสงบสุข รัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้ ทำให้ประชานได้รับรู้ว่า พื้นที่การลงทุนจากต่างประเทศจะมาลงทุนในประเทศไทย การค้าขายเจริญเติบโต โดยไม่หยุดชะงัก ถ้าไม่มีประชาชนออกมาเดินในถนน เมื่อประชาชนมีความสามัคคีกันเป็นหนึ่งเดียว เราก็จะสามารถบริหารประเทศไปได้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
“ผมไม่สามารถให้คนไทยมีความคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เรื่องในทางการเมือง ใครอยากจะคิดยังไง ใครอยากจะอยู่พรรคอะไร ก็อยู่ไป ผมไม่ได้อะไร เราก็เลือกผู้แทนฯมาแล้ว 400 เขต เข้าไปในสภา ก็ว่ากันในสภา จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขกฎหมาย จะแก้ไขอะไรก็เป็นเรื่องของสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน 400 เขตที่เลือกเราเข้าไป” พล.อ.ประวิตรกล่าวและว่า
“ส่วนการบริหารประเทศก็เป็นเรื่องของรัฐบาล เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประชาชน เมื่อสามารถบริหารประเทศโดยที่ไม่มีการตัดขัด ไม่มีการหยุดยั้ง หรือไม่มีการลงมาเดินบนถนน ก็จะทำให้ประเทศชาติเดินไปได้ บริหารประเทศต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง ถ้าทำเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เงินในกระเป๋าก็จะมากขึ้น” พล.อ.ประวิตรกล่าว
“ความเป็นคนไทยหนึ่งเดียวนั้นมีความสำคัญมากที่จะสร้างความเจริญให้กับประเทศต่อไปในอนาคต ถ้าเราไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างอายุ ระหว่างรุ่น ทุกคนเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น ถึงเวลาที่เราจะต้องยุติสักที ให้ประเทศสงบสุขไปได้อย่างถาวร” พล.อ.ประวิตรกล่าวแล้วว่า
“ความเป็นคนไทย ไม่ว่าจะอายุหรือเพศ อย่างไรก็เป็นคนไทย จะต้องมีความรักใคร่ สามัคคี ความเป็นหนึ่งเดียวจะทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” พล.อ.ประวิตรกล่าว
พร้อมเป็นนายกฯ คนที่ 30
พล.อ.ประวิตรกล่าวปิดการแถลงข่าวว่า อีกหนึ่งนโยบายปราบปรามยาเสพติดเป็นเรื่องสำคัญ ตนจะหางบประมาณมาดำเนินการในเรื่องแก้ปัญหายาเสพติด ป้องกัน ปรามปราม ฟื้นฟูให้กลับมาสู่สังคมต่อไป
“ผมยืนยันว่านโยบายที่ประกาศ ถ้าเราได้เป็นรัฐบาล เราจะทำทันที และสามารถทำได้ เราจะทำทันที ถ้าเราได้เป็นรัฐบาล รัฐบาลพร้อมแล้วที่จะรับใช้ประชาชน”
พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงความพร้อมในการเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า “จะว่าพร้อมก็พร้อม แล้วแต่ประชาชนที่จะเลือกมา ถ้าเลือกมาผมก็พร้อม”
เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่านโยบายจะสามารถทำได้จริง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ถ้าไม่มั่นใจคงไม่ประกาศ เราทำได้ ถ้าเราได้เป็นรัฐบาล เราทำได้เลย
เมื่อถามว่าขณะนี้พรรคการเมืองต่าง ๆ มีการประกาศจับมือเพื่อจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลกันแล้ว พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ถ้าใครไม่จับกับผม ผมก็อยู่คนเดียว ถ้าผมได้เลือก 300 กว่า ผมจะไปจับกับใคร ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นคนตัดสิน ก็พูดกันไป อยากพูดก็พูดกันไป เอาการตัดสินใจของประชาชนเป็นหลัก ต้องเชื่อมั่นในประชาชน ต้องไว้ใจประชาชนว่าจะเลือกใคร ส่วนผมพร้อมรับทุกพรรค ทำงานได้กับทุกพรรค ต้องผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.ก่อน ถ้าตัวเลขน้อยผมก็อยู่คนเดียว ถ้าตัวเลขมากผมก็อยู่คนเดียว ก็ต้องดูว่าจะจับกับใคร แล้วแต่ละพรรค และต้องดูนโยบายด้วยนะ ไม่ใช่นโยบายไม่ถูกกัน อยู่ด้วยกันก็ขัดกันเปล่า ๆ
“โพลใครก็ทำได้ ไปถามทุกบ้าน ทุกคนหรือเปล่า แล้วทุกคนตอบหรือเปล่า โพลก็คือโพล” พล.อ.ประวิตรกล่าว
3 ภารกิจเร่งด่วน ทำทันที
นายอุตตมกล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐพร้อมที่จะทำงานให้ประชาชน โดยเริ่มจากนโยบายสำคัญ คือ ก้าวข้ามความขัดแย้ง ถือเป็นนโยบายที่ครอบคลุมและอยู่เหนือทุกนโยบาย ถ้าปราศจากการก้าวข้ามความขัดแย้งเราจะไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายให้ได้ผลอย่างเต็มที่ ตอบโจทย์ความเดือดร้อนของประชาชน พลังมวลชนเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาประเทศได้
นายอุตตมกล่าวว่า สำหรับ 3 ภารกิจด่วนที่จะทำทันที ถ้าเข้าไปทำงานในรัฐบาลหรือเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เรื่องแรก การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นอย่างแท้จริง เรื่องที่สอง เร่งเศรษฐกิจให้โตให้เต็มศักยภาพ เพราะประเทศไทยโตต่ำกว่าศักยภาพมาแล้วหลายปี และเรื่องที่สาม เร่งรัดการวางพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ประเทศไทยและคนไทยแก้ปัญหาที่สะสม
นายอุตตมกล่าวว่า กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นทันที เรื่องแรกต้องลดค่าใช้จ่าย ต้นทุนค่าใช้จ่ายพลังงาน พรรคพลังประชารัฐพร้อมแก้ไขทั้งระบบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้านราคา แก้ปัญหาหนี้สินอย่างครบวงจร คนตัวเล็กมีโอกาสทำมาหากินได้ ขยายตัวตั้งแต่ฐานราก เติมทุน 30,000 บาทต่อครัวเรือนให้กับเกษตรกร
ดูแลปัจจัยการผลิต ยึดโยงกับการท่องเที่ยว เศรษฐกิจใหม่ ประเทศไทยต้องการลงทุนขนาดใหญ่ ทั้งในพื้นที่และเครื่องยนต์เศรษฐกิจ BCG สุขภาพ ดิจิทัล ขณะที่เชิงพื้นที่พัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์และพร้อมจะต่อยอดสิ่งที่เราทำ ต้องฟื้นอีอีซีและต่อยอดไปภาคอื่น เช่น อีสาน รัฐสวัสดิการให้คนไทยเข้มแข็งได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า สิ่งแรกที่จะทำ คือ ใช้โครงสร้างของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ซึ่งมีจำนวน 13 ล้านคน โครงการที่ทำแล้วในอดีต ผลักดันกองทุนละ 2 แสนบาท โดยใช้งบประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานราก เงินจะลงไปทำให้ข้างล่างเข้มแข็ง สอง ภาคเกษตร หัวใจ คือ เกษตรกร 30 ล้านคน 8 ล้านครัวเรือน
เช่น ลดค่าใช้จ่าย แก้ปัญหาปุ๋ยแพงทันที ด้วยนโยบายปุ๋ยคนละครึ่ง เกษตรกร ครัวเรือนละ 30,000 บาท 8 ล้านครัวเรือน เขตเศรษฐกิจพิเศษปาล์มน้ำมัน และสาม สาธารณสุขเชิงป้องกันมากกว่ารักษา เราจะใช้ รพ.สต.เป็นขาหลัก เป็นโรงพยาบาลหน้าบ้านประชาชน และมี อสม.เป็นกลไกหลักในการดูแลประชาชน และใช้เทคโนโลยี ภายใต้สโลแกน ลุงป้อมพาหมอไปหา พายาไปส่งถึงบ้าน ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลส่วนกลาง โรงพยาบาลจังหวัด ไม่ต้องมารอคิวถึงตี 4 ผู้ป่วยติดเตียงประมาณ 2 แสนคนได้รับการทำเทเลเมดผ่านหมอ สร้างอาสาสมัครพยาบาลท้องถิ่น 1 แสนตำแหน่งเพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียง
นายมิ่งขวัญกล่าวว่า ตนขอฉายสไลด์ไม่เกิน 5 แผ่น เรามีปัญหาค่าครองชีพ เรื่องเศรษฐกิจ นำมันดีเซลลด 6 บาทต่อลิตร เบนซินลด 18 บาทต่อลิตร เมื่อพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลทำทันที แก๊สลดเหลือถังละ 250 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ค่าไฟฟ้า บ้านอยู่อาศัย 2.50 บาทต่อหน่วย ภาคอุตสาหกรรม 2.70 บาทต่อหน่วย เบี้ยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7,200,000 คน 3 พันบาท 70 ปีขึ้นไป 3,770,000 คน 4 พันบาท และ 80 ปีขึ้นไป 1,770,000 คน 5 พันบาท รวม 12,740,000 คน
นายสันติกล่าวว่า นโยบายอีสานประชารัฐ ภาคอีสานมีประชากรมากที่สุด มีแรงงงานมากที่สุด ถ้าพัฒนาภาคอีสานได้จะให้ประเทศของเราเข้าสู่ตลาดโลก ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวอีสาน 22 ล้านคน ซึ่งจะทำให้มีการลงทุนครั้งใหญ่ 4.5 ล้านล้านบาท
ปั้นเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ เทียบชั้นอีอีซี
นายคณิศกล่าวว่า ตนเป็นคนสุดท้ายที่เข้ามาร่วมทีม นโยบายของพรรคพลังประชารัฐแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ นโยบายระยะสั้น หลักคือ ช่วยประชาชนให้ตรงจุด ไม่แจกเงินคนรวย ขณะเดียวกันนโยบายระยะยาวและระยะปานกลาง คือ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ ประกอบด้วย 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ร่วมกับเขตทางเหนือมาเลเซียให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษร่วมกัน ซึ่งเป็นนโยบายเชิงบวก ไม่ได้ทำร้ายใคร โดยจะเริ่มทำ 5-6 แผน
“ได้ไปคุยกับทางมาเลเซียว่า น้อง ๆ ทางภาคใต้อยากจะมีอาชีพที่ดีขึ้น อยากจะทำเรื่องไอที เราเลยทำโครงการฝึกอบรมบุคลากรทางด้านไอที ซึ่งในอนาคตจะมีการลงทุนด้านไอทีในพื้นที่และสร้างงานเป็นหมื่นตำแหน่ง” นายคณิศกล่าว
นายคณิศกล่าวว่า นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ เขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ SEC แลนด์บริดจ์ และอันดามันเวลเนสคอริดอร์ หรือ AWC ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และเส้นทางกระบี่ ขนอม โดยพัฒนาตามความต้องการของพื้นที่จากล่างขึ้นบน
“ถ้าทำได้ทั้ง 3 เขตจะทำให้เศรษฐกิจใหม่ของ 14 จังหวัดภาคใต้มีความมั่นคงและเป็นรากแก้วเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้เหมือนกับโครงการอีอีซี” นายคณิศกล่าว
4 นโยบายหาเงิน-กู้เพิ่ม
นายธีระชัยกล่าวว่า นโยบายเหล่านี้ต้องใช้เงิน จะหาแหล่งเงินอย่างไร สร้างรายได้ให้กับประชาชนให้กับประเทศนอกจากกลไกการลงทุนเอกชนปกติอย่างไร ดังนั้น วิธีไฟแนนซ์นโยบาย หรือการหาแหล่งเงิน จะมาจาก 4 แหล่ง ได้แก่ 1.โยกจากงบประมาณประเภทอื่น 2.ปฏิรูปภาษี เพื่อรายได้รัฐ 3.จากการหมุนเวียน จากการใช้เงินให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้มีรายได้กลับคืนมา และ 4.ถ้าหากทั้งหมดยังไม่พอเพียง แล้วเป็นนโยบายที่จำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อให้เศรษฐกิจของเราก้าวหน้า ก็ต้องเพิ่มหนี้สาธารณะ
“ระดับหนี้สาธารณะเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ ยังบริหารจัดการได้ ถ้าหากจะเพิ่มขึ้นไปบ้าง ก็สามารถบริหารจัดการได้ ถ้าเรามีนโยบายสร้างรายได้ที่เหมาะสม ปัญหา คือ การจะเพิ่มหนี้สาธารณะได้นั้น เราจะต้องได้รับคะแนนเสียงพอ หรือจะต้องจับมือ เพราะคงจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ยกระดับ ยกเว้นอะไรต่าง ๆ ในการบริหารหนี้สาธารณะชั่วคราว” นายธีระชัยกล่าวว่า
นายอุตตมกล่าวเพิ่มเติมว่า เราไม่ได้บอกว่าจะต้องกู้ ถ้าไม่ต้องกู้ก็ไม่กู้ ส่วนถ้ากู้แล้วจะกู้ได้เท่าไหร่นั้น ขณะนี้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 68 โดยเพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 70
“เราไม่ไปสุดแน่นอน ไม่ใช่การขยายเพดานหนี้สาธารณะแน่นอน” นายอุตตมกล่าว
นายอุตตมกล่าวว่า ส่วนนโยบายของพรรคพลังประชารัฐใดที่จะเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลนั้น หลักของเราผลักดันทุกนโยบาย เช่น เรื่องสวัสดิการ บัตรประชารัฐ และนโยบายสร้างศักยภาพของคนไทย โครงการเครือข่ายศูนย์ประชารัฐพัฒนา นโยบายพัฒนาเกษตร
“ต้องพูดคุย ตอนนี้เร็วไป เพราะไม่รู้ว่าคุยกับใคร บางคนอาจจะบอกว่าได้ บางคนอาจจะบอกว่าคุยก่อน วันนี้บอกไม่ได้ว่า นโยบายไหนต้องรับ ถ้าไม่ใช่ไม่ร่วม อย่าไปสร้างเงื่อนไข แต่ทุกพรรคคงต้องยืนนโยบายหลักของเราที่จะต้องผลักดันทันที” นายอุตตมกล่าว
ซาวเสียงคน กทม. ขอ 3 เรื่อง
นางนฤมลกล่าวว่า คน กทม.ต้องการ 3 เรื่อง หนึ่ง คุณภาพชีวิต คุณภาพชีวิตเรื่องที่อยู่อาศัย สอดคล้องกับที่ดินที่ทำกิน ทำบ้านประชารัฐ ไม่ใช้เงิน ใช้ร่วมทุนกับเอกชน ที่ดินการรถไฟฯ ที่ดินธนารักษ์ และที่ดินของเอกชน แหล่งเงินธนาคารรัฐ
สอง การฟื้นฟูเศรษฐกิจปากท้อง อุตสาหกรรมที่จะเป็นพระเอก คือ อุตสาหกรรมสื่อสารและดิจิทัล ผลักดันเป็นฮับของเอเชีย โดยเม็ดเงินลงฐานราก ไม่กระจุกที่กลุ่มทุนบางกลุ่ม
สาม การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านกลไกกองทุนธุรกิจเพื่อสังคม (SE) ทำได้ทันที เพราะมี พ.ร.บ.เพื่อธุรกิจเพื่อสังคมอยู่แล้ว ใช้เม็ดเงินจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเม็ดเงินมาจากการลงทุนต่างประเทศด้วย
- พลังประชารัฐปรับกลยุทธ์โค้งสุดท้าย เจาะกลุ่มเป้าหมาย-คิกออฟดรีมทีมเศรษฐกิจ
- พลังประชารัฐเปิดตัว ดร.คณิศ อดีตเลขาฯอีอีซี ร่วมทีมเศรษฐกิจ
- เปิดแผนจับขั้วรัฐบาล เพื่อไทย-พลังประชารัฐ โอกาส-เสี่ยงเดดล็อกยาว
- เปิดรายชื่อ 85 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พลังประชารัฐ รัตนเศรษฐ-อัศวเหม เซฟโซน
- ประวิตรชี้อำนาจจริงจัดตั้งรัฐบาล อยู่ที่ ส.ส. หรือกลไกซ่อนในรัฐธรรมนูญ