ฝ่ายค้านผนึก กรรมการแพทยสภา ยื่นศาลปกครอง ถอนประกาศสาธารณสุข ถอดกัญชาจากบัญชียาเสพติด เหตุทำให้ไทยเป็นประเทศกัญชาเสรีที่สุดในโลก
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ที่รัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้าน เตรียมยื่นศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคําสั่งให้เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 พร้อมทั้งมีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วยการทุเลาการบังคับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (สร.) และ นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ กรรมการแพทยสภา และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวกรณีที่ยื่นศาลปกครองกลางดังกล่าว
นายสุทินกล่าวว่า แพทย์หลายองค์กรมีความกังวลนโยบายกัญชาเสรี เนื่องจากกฎหมายอาจจะมีผลเสียมากกว่าผลดี เมื่อกฎหมายหวังพึ่งไม่ได้ จึงมีการเสนอให้หยุดไว้ก่อน โดยได้ขอให้ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว เพื่อไม่ให้ประกาศมีผลบังคับใช้และสะดุดหยุดลง ซึ่งได้มีการยื่นต่อศาลปกครองกลางแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา และเชิญพรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมดำเนินการด้วย และเราก็ไม่ได้ขัดข้อง
ด้าน นพ.สมิทธิ์กล่าวว่า ประกาศ สธ.ทำให้กัญชาเสรีจนเกินไปและเสรีที่สุดในโลก ซึ่งไม่มีกฎหมายควบคุมจนเด็กและเยาวชนก็สามารถเข้าถึงได้ โดยกฎหมายฉบับนี้มีความไม่พร้อม ไม่สมบูรณ์ด้วย จึงขอบคุณพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เป็นผู้ร่วมยื่นฟ้องร่วม และเขียนคำร้องให้ ทั้งนี้ ประกาศ สธ.ได้นำกัญชาออกจากยาเสพติดทำให้มีผลกระทบเยอะมาก และไม่มีการใคร่ครวญอย่างดี อีกทั้งการใช้กัญชาทางการแพทย์มีมาตั้งแต่ปี 2563 ยืนยันว่าตนไม่ปฏิเสธกัญชาทางการแพทย์ แต่ประกาศเกินเลยจากทางการแพทย์ไปเยอะมาก
ด้าน นพ.ชลน่านกล่าวว่า สาเหตุที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นพ้องกันว่าต้องร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในการร้องต่อศาลปกครองครั้งนี้ เพื่อให้ตรงวัตถุประสงค์ตามอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะวินิจฉัยให้ทุเลา ระงับยับยั้ง หรือคุ้มครองชั่วคราวต่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เรื่อง การระบุยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ที่กำหนดให้ทุกส่วนของพืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติด เพราะภาคประชาชนถือเป็นผู้เสียหาย โดยเฉพาะลูกหลานที่ได้รับผลกระทบ หากฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการยื่นต่อศาลฯ เอง ศาลอาจตีตกได้ เนื่องจากอาจเห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติก็มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการได้
“เราปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แต่ให้ไปเขียนกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าถ้าจะเป็นยาเสพติดมันควรเป็นอย่างไร เพราะในตัวกัญชายังเป็นสารเสพติดอยู่ การจะไปกล่าวอ้างว่าฝ่ายนิติบัญญัติไปยกเลิกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดแล้วไปทึกทักเอาว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดนั่นคือไม่ชอบ เพราะเราให้กระทรวงสาธารณสุขไปกำหนด แต่กระทรวงสาธารณสุขไปกำหนดว่ากัญชาจะเป็นยาเสพติดเมื่อสาร THC มากกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปเท่านั้น จึงทำให้กัญชาใช้กันอย่างแพร่หลายเสรีที่สุด” นพ.ชลน่านกล่าว
เมื่อถามว่าจุดยืนของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่อยู่ในสภา จะมีการพิจารณาวาระ 2 โดยจะพิจารณาเป็นรายมาตรา เรามี ส.ส.และกรรมาธิการได้สงวนความเห็นและสงวนคำแปรญัตติไว้ หากคำสงวนนั้นสามารถสู้ได้ และเราสามารถปรับแก้คำแปรญัตติในรายมาตรานั้นได้ ก็อาจจะมีการพิจารณาลงมติในความเห็นชอบในมาตรานั้น แต่เท่าที่ดูกฎหมายเดิมมี 45 มาตรา ได้เพิ่มเป็น 95 มาตรา
ฉะนั้นการแก้ไขรายมาตราเป็นเรื่องยาก และกรรมาธิการไม่ได้รับข้อเสนอจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และองค์กรแพทย์ฯ ไปปรับแก้เลย และมีการส่งร่างเดิมกลับเข้ามา ซึ่งหากกรรมาธิการเสียงข้างมากไม่ปรับแก้ในรายมาตรา เราก็ต้องโหวตไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว และในวาระ 3 หากไม่มีการปรับแก้อะไร เราไม่สามารถให้ความเห็นชอบได้ คือการคว่ำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้