เปิด 5 กับดัก ที่ประยุทธ์ต้องสู้ ชิงนายกฯ สมัยที่ 3

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พรรครวมไทยสร้างชาติ เตรียมจัด “บิ๊กอีเวนต์” เปิดตัว “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เข้าร่วมงานการเมืองกับพรรคอย่างเป็นทางการ

ตั้งธีมชื่อว่า “งานรวมใจ รวมไทยสร้างชาติ” กำหนดเวลา “คิกออฟ” ตั้งแต่ 16.50-17.15 น.

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เริ่มจากการจัดเสวนาภาษาไตรรงค์ โดยนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี

ก่อนที่เวลา 17.30 น. เริ่มเข้าสู่ช่วงไฮไลต์ของงาน มีการเปิดวีดิทัศน์ของพรรค พร้อมเปิดตัวสมาชิกพรรค คนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหญ่ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค กล่าวถึงแนวคิดและจุดยืนของพรรค

และถึงไฮไลท์สำคัญคือ “พล.อ.ประยุทธ์” จะขึ้นเวทีเวลา 18.00 น. เพื่อกล่าวถึง Mission (ภารกิจ) ทิศทางก้าวต่อไปเพื่อคนไทยทั้งชาติ และ Kick off Moment รวมใจ รวมไทยสร้างชาติ

เท่ากับว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ประกาศลงเลือกตั้งปี 2566 อย่างเป็นทางการ ปักหมุดรักษาเก้าอี้นายกฯ เป็นสมัยที่ 3

แต่กว่าจะถึงวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังมี 5 เงื่อนไขที่จะต้องฝ่าฟันให้ไปถึงดวงดาว

หนึ่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 โดยพรรครวมไทยสร้างชาติจะต้องส่งชื่อแคนดิเดตนายกฯ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง และให้ กกต.ประกาศชื่อให้ประชาชนทราบ

สอง พรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องได้ ส.ส. 25 คน ตามรัฐธรรมนูญ จึงจะมีสิทธิเสนอชื่อในสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ประกอบมาตรา 272

โดยกำหนดว่า ให้ที่ประชุมรัฐสภา ให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองที่แจ้งไว้กับ กกต. เฉพาะจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 (25 คนจาก 500 คน ในกรณีที่สภามี ส.ส.ครบ 500 คน) ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภา

หากพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ ส.ส.ไม่ถึง 25 คน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอันจบเห่

นอกจากจะต้องได้ ส.ส.25 คน เพื่อให้ “มีสิทธิ์” เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในสภาได้แล้ว ในขั้นตอนต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ ยังจะต้องมี ส.ส.รับร้อง ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (คือ 50 คน ในกรณีที่สภามี ส.ส.ครบ 500 คน) จากจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ในสภา

สาม พรรครวมไทยสร้างชาติ – พรรคพลังประชารัฐ ต้องได้ ส.ส.รวมกันอย่างต่ำๆ 120 เสียง เพราะหากเทียบเคียงกับชัยชนะของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลในปี 2562 ในนามพรรคพลังประชารัฐ

ครั้งนั้น พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.116 คน แล้วจึงรวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ ผสมกันเป็นพรรคร่วมรัฐบาลผสมปริ่มน้ำ 11 พรรคอย่างหืดขึ้นคอ เพราะฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย – อนาคตใหม่ เวลานั้นก็พยายามจัดตั้งรัฐบาลแข่ง

ก่อนสถานการณ์รัฐบาลปริ่มน้ำจะค่อยๆ หายใจได้คล่องคอต่อเมื่อเกิดวาทกรรม “ลิงกินกล้วย”

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทว่า การเมืองตั้งในปี 2566 เปลี่ยนไป เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ผละออกจากพรรคพลังประชารัฐ ไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐ จะได้ ส.ส.เท่าเดิมเป็นไปได้ยาก และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เพิ่งคิกออฟเปิดตัว พล.อ.ประยุทธ์ เพียง 100 กว่าวัน นับจากตอนนี้ถึงการเลือกตั้งเท่านั้น

ดังนั้น เงื่อนไข – เงื่อนตาย ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกฯ ได้อีกครั้ง คือ ทั้ง พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องได้เสียง ส.ส.ไม่ต่กว่าตอนเลือกตั้งปี 2562 เพราะถ้ากลายเป็นพรรคต่ำร้อย หรือ ร้อยต้นๆ สมการการเมืองอาจเปลี่ยนไปได้

สี่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา 375 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบกับ มาตรา 272 ที่ให้ ส.ว. 250 คน ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ดังนั้น เสียงโหวตสนับสนุนนายกฯ คนต่อไปจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาคือ 375 คน จาก ส.ส.และ ส.ว.รวมกันทั้งหมด 750 คน

ห้า พรรครวมไทยสร้างชาติ อาจต้องได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่าพรรคภูมิใจไทย มิเช่นนั้น สถานะนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจอยู่ในจุดที่ล่อแหลม เพราะลองนึกสภาพ หากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ สมัย 3 ได้ ส.ส. เพียงแค่ 25-30 เสียง หรือ ได้ ส.ส.น้อยกว่า พรรคภูมิใจไทย ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล”

ย่อมเท่ากับว่า อำนาจต่อรองทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งน้อยตามไปด้วย ในกรณีที่การจัดตั้งรัฐบาลยังเป็น “ขั้วเดิม”

นี่คือ ห้าเงื่อนไขของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการนั่งเก้าอี้นายกฯ สมัย 3