กกต.ประกาศเขตเลือกตั้ง 400 ส.ส.อีสานปัจจัยชี้ขาดชัยชนะ สูงสุด 132 คน

กกต เลือกตั้ง 2566 แบ่งเขต

กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 400 คนทั่วประเทศแล้ว อีสานมีมากสุด 132 คน กทม. 33 คน โคราช 16 คน เตรียมส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

วันที่ 30 มกราคม 2566 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า วันนี้ กกต.ได้เสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณากำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด

โดยพิจารณาจากจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีจำนวน 66,190,475 คน จึงมีจำนวนราษฎรโดยเฉลี่ยประมาณ 165,226 คน ต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน

และเสนอร่างประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. และแนวทางการแบ่งเขตเลือกตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอทั้ง 2 เรื่อง โดยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ปรากฏตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะได้ส่งเรื่องดังกล่าวข้างต้นให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็วต่อไป

สำหรับ ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขต ประกอบด้วย จังหวัดที่มี ส.ส. 1 คน 4 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสงคราม ระนอง ตราด สิงห์บุรี

จังหวัดที่มี ส.ส. 2 คน 10 จังหวัด ประกอบด้วย สตูล พังงา แม่ฮ่องสอนลำพูน ชัยนาท อุทัยธานี อ่างทองนครนายก อำนาจเจริญ มุกดาหาร

จังหวัดที่มี ส.ส. 3 คน 19 จังหวัด ประกอบด้วย เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ยะลา กระบี่ ภูเก็ต พัทลุง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ยโสธร หนองบัวลำภูหนองคาย บึงกาฬ

จังหวัดที่มี ส.ส. 4 คน 12 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร ปัตตานี ตรัง ลำปาง สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร ลพบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา เลย นครพนม

จังหวัดที่มี ส.ส. 5 คน 7 จังหวัด ประกอบด้วย นราธิวาส พิษณุโลกสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี อยุธยา ระยอง

จังหวัดที่มี ส.ส. 6 คน 5 จังหวัด ประกอบด้วย นครปฐม นครสวรรค์เพชรบูรณ์ มหาสารคาม กาฬสินธุ์

จังหวัดที่มี ส.ส. 7 คน 4 จังหวัด ประกอบด้วย ปทุมธานี สุราษฎร์ธานี ชัยภูมิ สกลนคร

จังหวัดที่มี ส.ส. 8 คน 5 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ นนทบุรี เชียงราย สุรินทร์ ร้อยเอ็ด

จังหวัดที่มี ส.ส. 9 คน 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช สงขลา ศรีสะเกษ อุดรธานี

จังหวัดที่มี ส.ส. 10 คน 2 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี บุรีรัมย์

จังหวัดที่มี ส.ส. 11 คน 3 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ อุบลราชธานี ขอนแก่น

ส่วนจังหวัดที่มี ส.ส. สูงสุด 16 คน คือจังหวัดนครราชสีมา รองมาจากกรุงเทพมหานคร มีจำนวน ส.ส. 33 คน

แบ่ง ส.ส. เป็นรายภาค ประกอบด้วย ส.ส.ภาคกลางมี ส.ส. รวม 122 คน ภาคเหนือ มี ส.ส. 39 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี ส.ส. 132 คน ภาคตะวันออกมี ส.ส. 29 คน ภาคตะวันตกมี ส.ส. 20 คน และภาคใต้มี ส.ส. 58 คน

หลังจาก กกต.ประกาศจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดแล้ว ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะมีการนำข้อมูลจำนวนประชากรแต่ละจังหวัดไปพิจารณาและปรับปรุงรูปแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 3 รูปแบบ ที่มีการดำเนินการไว้ล่วงหน้าก่อนหน้านี้ให้มีความสมบูรณ์ ก่อนที่จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่และรวบรวมข้อมูลเสนอให้กกต. พิจารณาตัดสิน

400 ที่นั่งในการเลือกตั้งแบ่งเขต ใครได้กี่ที่นั่ง?

“ประชาชาติธุรกิจ” นำข้อมูลจำนวนที่นั่ง ส.ส.แบ่งเขต 400 ที่นั่ง ตามที่ กกต. มีมติเห็นชอบในวันนี้ (30 มกราคม 2566) มากระจายเป็นที่นั่งให้เห็นภาพมากขึ้นว่า แต่ละจังหวัดจะมีที่นั่ง ส.ส. จากการแบ่งเขตกี่ที่นั่ง

หมายเหตุ : แตะหรือเลือกที่สีต่าง ๆ ภายใน Infographic เพื่อดูจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตของแต่ละจังหวัด (จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 400 ที่นั่ง)