อนุดิษฐ์ ไทยสร้างไทย แฉรัฐส่อเอื้อเอกชน ต้นเหตุค่าไฟแพง

อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

อนุดิษฐ์-สุพันธุ์ สำนักปราบโกงไทยสร้างไทย แฉ รัฐทำสัญญาเอื้อเอกชน ต้นเหตุค่าไฟพุ่ง 

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ที่อาคารสำนักงานปราบโกง ไทยสร้างไทย ปากซอยสุคนธสวัสดิ์ 17 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสำนักงานปราบโกง หรือ ผอ.สปก. และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้า กรณีการตรวจสอบค่าไฟฟ้าแพง

ทั้งนี้ น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ปัจจุบันคนทั่วไปจ่ายค่าไฟฟ้าอยู่ที่ยูนิตละเกือบ 5 บาท (รวมค่า Ft) แต่ถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมยิ่งต้องจ่ายแพงขึ้นไปอีก หากดูจากการบริหารต้นทุนการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และราคาไฟฟ้าที่เราซื้อมาจาก สปป.ลาว จะเห็นว่าราคาที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ในขณะนี้แพงเกินกว่าความเป็นจริงไปมาก

เพราะเมื่อลงไปดูในรายละเอียดของต้นทุนพบว่ามีการรวมมูลค่าของค่าพร้อมจ่ายที่เกิดจากสัญญาของรัฐจ้างเอกชนสร้างโรงไฟฟ้าสำรองเข้าไปด้วย เฉพาะปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 26,000 ล้านบาท สืบเนื่องจากรัฐมีแผนในการสำรองไฟฟ้าสูงเกินความจำเป็นเกือบ 60% ของความต้องการไฟฟ้าจริง

ตนจึงตั้งข้อสังเกตว่าสัญญาดังกล่าวอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนหรือไม่ เพราะขณะนี้มีโรงงานผลิตไฟฟ้าของเอกชนไม่ต่ำกว่า 6 โรงที่ กฟผ. ต้องจ่ายเงิน “ค่าพร้อมจ่าย” ทั้ง ๆ ที่โรงงานดังกล่าวไม่ได้ผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาเลยแม้แต่วัตต์เดียว

ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทยอยู่ที่ 33,000 เมกะวัตต์ แต่ผู้มีอำนาจไปจ้างเอกชนสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อเป็นกำลังสำรองสูงถึงประมาณ 53,000 เมกะวัตต์ หรือเกือบ 60%

ซึ่งต้นทุนทั้งหมดถูกผลักมาให้ประชาชนรับผิดชอบ ซึ่งรวมไปถึงค่าพร้อมจ่าย ที่ กฟผ.ไปจูงใจเอกชนมาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ. โดยมีเงื่อนไขว่าเอกชนต้องพร้อมขายไฟฟ้า ตามจำนวนที่ กฟผ.แจ้งซื้อได้ทันที

“ดังนั้นเงื่อนไขตามสัญญาดังกล่าวส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนในประเทศไทยต้องจ่ายเงินทันทีทุกครั้งที่เปิดสวิตช์ไฟ เสียบปลั๊กเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ มันจะดูดเงินออกจากระเป๋าสตางค์ของท่าน โดนไฟดูดแบบนี้ถึงเราจะไม่ตาย แต่เราจนครับ” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว

ผอ.สปก.กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าแพงแบบนี้ แทนที่รัฐบาลจะสั่งการให้คู่สัญญาคือ กฟผ.เปิดการเจรจากับภาคเอกชนเพื่อขอปรับลดหรือยกเลิก “ค่าพร้อมจ่าย” เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน กลับอยู่นิ่งเฉยไม่รู้ร้อนรู้หนาวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และที่สำคัญ เมื่อประชาชนเดือดร้อน และสังคมตั้งข้อสงสัยว่ารัฐกำลังดำเนินการเอื้อเอกชนหรือไม่

กฟผ.ต้องนำสัญญาและสูตรคำนวณ “ค่าพร้อมจ่าย” มาเปิดเผยให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริงเพื่อความโปร่งใส เพราะหากเกิดความไม่เป็นธรรม ก็ถึงเวลาแล้วที่ผู้รับผิดชอบจะต้องรีบแก้ไข มิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรค 3

ด้านนายสุพันธุ์กล่าวว่า ตนเองเข้าใจดีว่าสถานการณ์ค่าไฟแพงขณะนี้ อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากราคา LNG (ก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรสภาพให้อยู่ในรูปของเหลวเพื่อสะดวกต่อการขนส่ง) ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้น เนื่องจากมีปัญหาด้านการสำรวจก๊าซในอ่าวไทยที่ล่าช้า

ส่งผลให้ กฟผ.ต้องปรับสัดส่วนการใช้ก๊าซจากอ่าวไทยลดลง และเลือกที่จะนำเข้า LNG จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ปัญหานี้จึงส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ ประมาณร้อยละ 66 ถ่านหินร้อยละ 22 พลังงานน้ำร้อยละ 7.7 รวมทั้งการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนอื่น เช่น ขยะและพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณร้อยละ 2.5

ความล่าช้าในการสำรวจก๊าซของ ปตท.สผ. ทำให้จำนวนก๊าซธรรมชาติขาดแคลน แทนที่ ปตท.จะจัดลำดับความสำคัญในการใช้ก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าเสียก่อน กลับนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเลียม

ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้โรงงานผลิตไฟฟ้า ต้องนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนราคาการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด และคนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงโดยไม่จำเป็น

“ทำให้ภาระตกอยู่กับประชาชน แต่ผลประโยชน์กลับตกอยู่กับอุตสาหกรรมบางประเภท ซึ่งไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 (2) บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทบทวน และแก้ไขกรณีค่าไฟแพงนี้โดยด่วน” นายสุพันธุ์กล่าว