กรณ์ โต้ ธปท. บิดเบือน นโยบาย ยกเลิกแบล็กลิสต์ ไม่ใช่ยกเลิกเครดิตบูโร

นายกรณ์ จาติกวณิช

กรณ์ สอนมวย แบงก์ชาติ บิดเบือน นโยบาย “ยกเลิกแบล็กลิสต์” ไม่ใช่ยกเลิกเครดิตบูโร ย้ำ ใช้เครดิตสกอร์ จวก โง่ หรือ แกล้งโง่ มีหน้าที่ดูแลลดต้นทุนการเงินประชาชน ไม่ใช่มาสร้างความสับสนให้สังคม 

วันที่ 6 มีนาคม 2566 นายกรณ์ จาติกวณิช โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้ กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยคลิป กล่าวหานโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์ของพรรคชาติพัฒนากล้า โดยขึ้นพาดหัวในคลิปลงเพจ ธนาคารแห่งประเทศไทยว่า “มีเรื่องของเครดิตบูโรด้วยว่าอยากให้ลบ” ซึ่งไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงแต่อย่างใด จนทำให้นายกรณ์ต้องโพสต์ตอบโต้ในเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า

ตนไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติแกล้งไม่รู้ หรือไม่รู้จริง ว่าข้อเสนอเรื่องเครดิตบูโรของพรรคชาติพัฒนากล้าคืออะไร แค่ประโยคแรกที่ที่พิธีกรพูดว่ามีข้อเสนอเรื่องเครดิตบูโรว่า “อยากให้ลบ (เครดิตบูโร)” และมีภาพขยายประเด็นว่าลบไม่ได้เพราะอะไร ก็ทำให้มีคำถามแล้ว

ซึ่งข้อเสนอเรา “ไม่มีการลบข้อมูลใด ๆ” ของใคร และ “ไม่มีการยุบหรือลบเครดิตบูโร” แต่เป็นการเสนอให้แก้กฎหมาย เพื่อสามารถนำข้อมูลการใช้ชีวิตทางการเงินของผู้กู้ทั้งหมดมาประมวลรวมเป็นเครดิตสกอร์ (Credit score) แก้ปัญหาการเกิดสภาพ “บัญชีดำ” หรือแบล็กลิสต์นั่นเอง

นายกรณ์กล่าวว่า ระบบปัจจุบันจะระบุเพียงประวัติการผิดนัดชำระหนี้ แล้วบอกว่าคนนี้คือ “คนไม่ดี” (เป็นคำของแบงก์ชาติเอง) แต่เรากำลังพยายามบอกว่าในขณะที่ลูกหนี้คนนั้นเขาผิดนัดชำระหนี้ตัวหนึ่ง เขาอาจจะยังเป็น “คนดี” ชำระหนี้ครบถ้วนอยู่อีกหลายตัวนะ เช่น ค่านํ้า ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการประกอบอาชีพ

ทั้งหมดนี้เรามองว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ควรเอามานับด้วย และคำนวณออกมาเป็นคะแนน หรือเครดิตสกอร์ เมื่อปรากฏเป็นสกอร์จะไม่มีความเป็นบัญชีดำ และสกอร์จะปรับขึ้นลงได้แบบเรียลไทม์ ต่างกับระบบปัจจุบันที่ต้องรอ 3 ปี ที่สำคัญจะเกิดการแข่งขันที่โปร่งใส ซึ่งแบงก์ชาติเองน่าจะชอบ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แต่ละธนาคารจะกำหนด ควรจะขึ้นอยู่กับสกอร์ของผู้กู้แต่ละคน

“ผมว่าจะสร้างสรรค์กว่ามาก หากแบงก์ชาติมาช่วยกันคิด ว่าเราจะปรับปรุงระบบการประเมินความหน้าเชื่อถือของประชาชนอย่างไร เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้พี่น้องคนไทยถูกผลักออกจากระบบการเงิน ในมุมของผม แบงก์ชาติไม่ได้มีเพียงหน้าที่ดูแลความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน”

“แต่มีหน้าที่ช่วยลดต้นทุนการเงินของประชาชนและภาคธุรกิจด้วย อย่านำเสนอความคิดต่อต้านสิ่งที่ไม่มีใครบอกว่าจะทำครับ เสียเวลาและสร้างความสับสนในสังคม เรามาช่วยกันคิดดีกว่าว่าจะทำสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะเรื่องจริงเรื่องหนึ่งคือปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนทั่วไป” นายกรณ์กล่าว