ครม.ไฟเขียว กฎหมายคุมเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง-น็อนแบงก์ สกัดขูดดอกเบี้ยโหด

ลีสซิ่ง

ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.ฎ. กำกับธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง-น็อนแบงก์ รถยนต์-จักรยานยนต์ อยู่ใต้กฎหมายสถาบันการเงิน ให้อำนาจแบงก์ชาติคุม

วันที่ 7 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ. …. เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่สูงจนเกินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

รวมถึงเพื่อให้มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันหารือเพื่อกำหนดแนวทางให้เกิดความเท่าเทียมในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจต่อไป

นางสาวรัชดากล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีสาระสำคัญแบ่งเป็น 4 หมวด ดังนี้

1.การกำกับผู้ประกอบธุรกิจ อาทิ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งข้อมูลและแสดงรายละเอียดการคำนวณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ค่าบริการต่าง ๆ ส่วนลด และข้อมูลอื่น ๆ ให้ลูกค้าทราบ พร้อมทั้งรายงานต่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

โดย ธปท. มีอำนาจประกาศกำหนดวิธีการคำนวณอัตราค่าบริการรายปี ให้ผู้ประกอบธุรกิจถือปฏิบัติได้ ธปท.ประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามในเรื่องต่อไปนี้ เช่น การทำนิติกรรมสัญญากับประชาชน โดยกำหนดเนื้อหาสาระ วิธีการคำนวณผลประโยชน์ หรือแบบสัญญา

2.การตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจ : ธปท. มีอำนาจแต่งตั้งพนักงาน ธปท. หรือบุคคลภายนอกเป็นผู้ตรวจการ เพื่อตรวจสอบกิจการสินทรัพย์และหนี้สินของผู้ประกอบธุรกิจ ตลอดจนลูกหนี้ และบุคคลที่เกี่ยวข้องของผู้ประกอบธุรกิจนั้น

โดยผู้ตรวจการที่ ธปท. แต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่ เช่น สั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของผู้ประกอบธุรกิจ เข้าไปตรวจสอบในสถานที่ประกอบธุรกิจ ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ตรวจสอบการดำเนินงานในสถานที่ประกอบการของลูกหนี้

3.การแก้ไขการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจ กรณีผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามร่างพระราชกฤษฎีนี้ ให้ ธปท. มีหนังสือเตือนไปยังผู้ประกอบธุรกิจหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ระงับการกระทำอันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม หรือมีคำสั่งห้ามกระทำการ

4.บทกำหนดโทษ : กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ปฏิบัติตามร่างพระราชกฤษฎีนี้ ต้องระวางโทษปรับตามที่กำหนด หากไม่ได้มีการฟ้องต่อศาลภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ ธปท. พบการกระทำผิดหรือภายใน 5 ปี นับแต่วันกระทำผิด ถือเป็นอันขาดอายุความ ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ เมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นางสาวรัชดากล่าวว่า ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของการทำธุรกรรมเช่าซื้อ เป็นการเช่าซื้อรถยนต์และการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และเป็นการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ แม้การทำธุรกรรมดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่เป็นเพียงการทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน กำหนดรายละเอียดเนื้อหาของสัญญาเช่าซื้อ โดยเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของสัญญามาตรฐานและเรื่องทั่วไปเท่านั้น ไม่ได้ควบคุมไปถึงอัตราดอกเบี้ย

ทำให้ธุรกิจการให้เช่าซื้อเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ลูกค้าบางรายไม่สามารถชำระหนี้ได้จนเกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น โดยไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 มียอดหนี้คงค้างธุรกิจการเช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์รวม 1.8 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งประเทศ


นางสาวรัชดากล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีฉบับนี้ จะเป็นการยกระดับธุรกิจเช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้มีมาตรฐานและเป็นการรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจทางการเงิน ซึ่งมุ่งเน้นจัดการหนี้ครัวเรือนของประเทศไม่ให้ผู้บริโภคก่อหนี้สินจนเกินตัวโดยไม่จำเป็น และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการมากยิ่งขึ้น