
การชิงลาออกของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ก่อนครบวาระ 4 ปี 17 นาที จากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผลให้คณะกรรมการบริหาร “พ้นทั้งคณะ”
“ผมขอแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้ง ด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และขอให้ทุกท่านช่วยกันทำหน้าที่เพื่อพรรคต่อไป สำหรับผมไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ผมพร้อมอยู่เคียงข้างพรรคเสมอ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาตลอดชีวิตการเมืองของผมครับ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8 ส่งข้อความในไลน์กลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ เวลา 23.43 น. ของคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- เปิดค่าตอบแทน “ผู้บริหาร” ยักษ์ บจ. BBL จ่ายพันล้านต่อปี ทิ้งห่างคู่แข่ง
เก้าอี้ ส.ส. ต่ำสุดในประวัติศาสตร์
ผลการเลือกตั้งที่ออกมาอย่างไม่เป็นทางการ พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. เขต 22 คน ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช 6 ที่นั่ง ได้แก่ เขต 1 นายราชิต สุดพุ่ม เขต 2 นายทรงศักดิ์ มุสิกอง เขต 3 นายพิทักษ์เดช เดชเดโช เขต 4 ว่าที่ ร.ท.ยุทธการ รัตนมาศ เขต 5 นายชัยชนะ เดชเดโช เขต 9 นางอวยศรี เชาวลิต
พัทลุง 2 ที่นั่ง ได้แก่ เขต 1 นางสุพัชรี ธรรมเพชร เขต 3 นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ตรัง 2 ที่นั่ง ได้แก่ เขต 3 น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ เขต 4 นายกาญจน์ ตั้งปอง ปัตตานี 1 ที่นั่ง เขต 4 นายยูนัยดี วาบา
สงขลา 6 ที่นั่ง ได้แก่ เขต 1 นายสรรเพชร บุญญามณี เขต 3 นายสมยศ พลายด้วง เขต 5 นายเดชอิศม์ ขาวทอง น.ส.สุภาพร กำเนิดผล เขต 8 พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เขต 9 นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง
ก่อนเลือกตั้ง ภาคใต้ตั้งเป้าหมาย “ทวงคืนปักษ์” 40 ที่นั่ง แต่ได้มาไม่ถึงครึ่ง หรือ 17 ที่นั่ง
ภาคอื่น ประจวบคีรีขันธ์ 2 ที่นั่ง ได้แก่ เขต 2 นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ เขต 3 นายประมวล พงศ์ถาวราเดช อุบลราชธานี 1 ที่นั่ง เขต 2 นายวุฒิพงษ์ นามบุตร สกลนคร 1 ที่นั่ง เขต 2 นายชาตรี หล้าพรหม แม่ฮ่องสอน 1 ที่นั่ง นายสมบัติ ยะสินธุ์
ส.ส.เขตรวมเป็น 22 ที่นั่ง รวมกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คน ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายชวน หลีกภัย รวมเบ็ดเสร็จ 24 ที่นั่ง ไม่มีสิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ความพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.น้อยที่สุด นับตั้งแต่มีหัวหน้าพรรคมาทั้งหมด 7 คน

กระสุนถล่ม-กระแสแพ้ลุงตู่
“สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” อดีต ส.ส.ตรัง 7 สมัย เคยได้คะแนนต่ำสุด 4.7 หมื่นคะแนนยังชน แต่เลือกตั้ง 2566 ได้ 1.6 หมื่นคะแนน เล่าประสบการณ์ “สอบตกครั้งแรก” ตรัง เขต 2 ที่ว่ากันว่า สาดกระสุนถึง 3 รอบ ไม่ต่ำกว่า 80 ! จนเขาโงหัวไม่ขึ้น
“รูปแบบแรก กระสุน รูปแบบที่สอง เครือข่ายอิทธิพลข่มขู่-กดดันชาวบ้าน และรูปแบบที่สาม การตั้งอัตราต่อรองพนัน ส่งผลต่อผลคะแนนให้ตกเป็นเป้า โดนกระสุนการเมืองถาโถมทับทุกหมู่บ้าน และมีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งที่มาจากธุรกิจการเมืองในพื้นที่ เจ้าของบ่อนการพนัน ลงขันกันมา ซึ่งลงขันมาจากกรุงเทพฯส่วนหนึ่งด้วย และยังมีเจ้าของเว็บพนันเถื่อนลงขันมาด้วย”
“มีชาวบ้านมาเล่าให้ผมฟังว่า มีผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นที่เข้าไปร่วมขบวนการอิทธิพลนี้ด้วย และเข้าไปใช้อิทธิพลกดดันชาวบ้านในพื้นที่ จนกระทั่งชาวบ้านที่ช่วยเราก็ถูกข่มขู่ ในลักษณะมีเจ้าหน้าที่ให้ความร่วมมืออยู่ด้วย”
“แรกเริ่มกระแสก็ดีอยู่ แต่ 3-4 วันหลังจากนั้น เกมเปลี่ยนหมด หลังจากมีชุดทำงานมาจากต่างพื้นที่เข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก ถึงขนาดใช้วิธีการเช็กรายชื่อ ตรวจสอบรายชื่อ และมีคนมีสีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จนทำให้แกนนำของผมที่เป็นชาวบ้านโดนข่มขู่ ติดตาม จนขยับตัวไม่ได้ การทำงานของคลื่นสีม่วงก็ทำได้งาน”
“คนที่แจกเงินจำนวนมากก็เป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งอยู่ด้วย ไปกดดันถึงในหน่วย และที่น่าเศร้าใจที่สุด คือ กกต. รู้แต่ทำอะไรไม่ได้”
“สาทิตย์” คือ คนที่ยืนเด่นในสภาต่อสู้กับ “กม.กัญชา” และยืนท้าทายต่อต้านบ่อนการพนัน-อิทธิพลและนายทุนในพื้นที่ โจทก์ จึงถูก “ลงขัน” และ “รุมยำ” จึงเกิดเป็นทฤษฎีสมคบคิด
“เหมือนโดนรุมจากหลาย ๆ ข้าง หลาย ๆ ทาง มากกว่าเกมในเขตเลือกตั้งธรรมดา ลงเลือกตั้งมาแล้ว 7 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 ไม่เคยเจออะไรแบบนี้”
ส่วนกระแสพรรคประชาธิปัตย์ในจังหวัดตรัง เขต 2 แม้ยังมีอยู่ แต่แพ้ “พรรคลุงตู่”
รีแบรนดิ้งประชาธิปัตย์ครั้งใหญ่
“สาทิตย์” ยกความสำเร็จของพรรคก้าวไกลเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม เพราะสามารถสร้างพรรคเป็นกระแสได้ เหมือนพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ที่กระแสพรรคฝ่ามาได้ แม้จะเจอกับมรสุมการซื้อเสียงหรือเรื่องอิทธิพลก็ตาม
“ประชาธิปัตย์ผ่านจุดพีกมาแล้ว มีปัญหาภายใน ผลเลือกตั้งออกมา ทำให้หลายคนที่ตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายกับพรรคต่อไปก็ต้องคิดว่า ต้องปรับครั้งใหญ่ภายในพรรค ตั้งแต่กระบวนคิด จุดยืน และแนวทาง ต้องปรับกันใหม่ไม่งั้นสูญพันธุ์แน่นอน”
โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่ประชาธิปัตย์ไม่ได้เก้าอี้ ส.ส.แม้แต่ที่นั่งเดียว ในการเลือกตั้ง 2 ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา
ส่วนจะต้องปรับกระบวนทัพประชาธิปัตย์ ภายใต้สมรภูมิรบทางการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงอย่างไรต่อไป
“สาทิตย์” บอกว่า “ตอนนี้ฝุ่นยังตลบอยู่ เพิ่งผ่านการเลือกตั้งมาไม่กี่วัน และหัวหน้าพรรคก็เพิ่งลาออกไป แต่หลังจากนี้สักอาทิตย์ พอทุกอย่างเริ่มชัดเจน ฝุ่นซา ก็จะเห็นตัวมากขึ้นว่าใครยังอยู่ในพรรคต่อไป พร้อมที่จะสู้ร่วมกัน มากอบกู้พรรค ถึงจุดที่ต้องคุยกัน ว่าจะเอาอย่างไรต่อไป เพราะตั้งแต่ตั้งพรรคมา การเลือกตั้งครั้งนี้ ส.ส. น้อยที่สุด”
“ประชาธิปัตย์เป็นโครงสร้างพรรคที่ดี เหมาะกับการเมืองแนวทางประชาธิปไตยที่ไม่ได้ยึดติดที่ตัวบุคคล เพียงแต่บางยุคที่เราได้คนที่ไม่เก่งมา จุดยืน แนวทางมันเพี้ยนก็จะมีปัญหา” สาทิตย์ผู้ที่เคยถูกเทียบเชิญให้ย้ายพรรคหลายครั้ง แต่ก็ยังกัดฟันอยู่ต่อ
“ถ้ามีคนที่พร้อมจะเสียสละเข้ามากอบกู้พรรค มาร่วมกันต่อสู้ต่อไป แสวงหาจุดยืน แนวทางร่วมกันได้ กอบกู้พรรคขึ้นมาได้เหมือนกับพรรคการเมืองในโลกที่ประสบปัญหานี้ ที่เป็นพรรคการเมืองที่ไม่ได้ยึดติดที่ตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง”
สเป็กผู้นำประชาธิปัตย์คนที่ 9
“สาทิตย์” แย้มสเป็ก “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9” ที่เหมาะกับบริบท-ภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปขณะนี้ว่าต้องมีแนวคิดที่ทันสมัย หมายความว่า มองเห็นอดีต มองเห็นอนาคต และสามารถประยุกต์แนวคิดทั้งหลายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคต้องมาสานสร้างฐานผู้สนับสนุนการเมืองยุคใหม่ ซึ่งต้องการความเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างถึงรากถึงโคน
“แนวคิดเชิงอนุรักษนิยมก้าวหน้าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ บังเอิญที่เรามีอยู่ในเวลานี้กลายเป็นอนุรักษนิยมล้าหลัง พอไปเผชิญกับแนวคิดเสรีนิยมก้าวหน้าอย่างพรรคก้าวไกลทำให้เกิดภาวะช็อก ทำอะไรไม่ถูก”
“เทคโนโลยีทำให้โลกหมุนเร็วขึ้น ทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมา เกิดมาพร้อมกับคำถามมากมาย และแนวคิดเสรีนิยมก้าวหน้าตอบคำถามในใจเขาหลายข้อ ตอบคำถามสิ่งที่อยู่ในใจเขาหลายเรื่องที่อนุรักษนิยมล้าหลังไม่กล้าแม้กระทั่งเอ่ยถึง ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องสถาบัน แต่หมายถึงหลายเรื่อง เช่น ระบบราชการ การเกณฑ์ทหาร”
“พรรคการเมืองทุกพรรคถึงจุดที่ต้องตั้งคำถาม ถามตัวเองว่า เราจะเอาโลกใบเก่ามาสวมทับโลกใบใหม่เป็นไปไม่ได้ มันหมุนไปข้างหน้า แล้วเราจะหมุนไปอย่างไร”
ฟันธงอภิสิทธิ์หัวหน้าพรรคคนใหม่
“สาทิตย์” ฟันธงทิ้งท้ายว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมาเป็นผู้นำในยุคนี้ คือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 7
“ภาวะที่พรรคมี ส.ส.จำนวนน้อยมาก และรุ่นอาวุโสในพรรคหายไปเยอะ และถึงจุดที่มีการแตกฉานซ่านเซ็น จึงต้องการคนที่เข้าใจบริบทการเมือง มีความคิดหัวก้าวหน้า เป็นนักประนีประนอม เป็นคนที่เปิดใจรับฟังคนอื่น ไม่ปิดกั้น มายูไนเต็ดพรรค และมีอะไรบางอย่างที่สามารถดึงดูดคนนอกพรรคให้เห็นความหวังใหม่ ๆ ที่ทำให้อยากมาร่วมกับพรรคมากขึ้น”
ส่วนจะใช้เวลากี่ปีถึงจะสามารถกอบกู้พรรคประชาธิปัตย์ที่ถดถอยต่อเนื่อง จนปัจจุบันอยู่ “จุดต่ำสุด” ให้ขึ้นมาอยู่ “จุดสูงสุด” เหมือนยุคที่นายอภิสิทธิ์ทำได้โกยเก้าอี้ ส.ส.ทะลุ 164 ที่นั่ง เขาบอกว่าต้อง “ลงมือเร็วที่สุด”
“การเมืองเปลี่ยนเร็วขนาดนี้ ทุกอย่างเร็วขึ้นแน่นอน ถ้าประชาธิปัตย์จะตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ช้าไม่ได้ ต้องลงมือเร็วที่สุด เพราะต้องแข่งกับเวลา ไม่งั้นอวสานจะมาถึงเร็วกว่าที่คิด”
- จุรินทร์ลาออกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จับตาอภิสิทธิ์รีเทิร์น
- สาธิตชูอภิสิทธิ์แทนจุรินทร์-เลือดไหลกลับ รีแบรนดิ้งประชาธิปัตย์
- อัพเดตผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.จังหวัดสงขลา ประชาธิปัตย์คว้า 6 ที่นั่ง
- เช็กผลนับคะแนนเลือกตั้ง 2566 ไม่เป็นทางการแบบเรียลไทม์
- 76 ปี ประชาธิปัตย์ 8 หัวหน้าพรรค เลือกตั้ง 19 ครั้ง ไม่เคยชนะแลนด์สไลด์