การจัดตั้ง “รัฐบาลใหม่” อาจไม่เกิดขึ้นเร็ว เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเส้นตายการเลือกนายกรัฐมนตรี กลายเป็น สุญญากาศทางการเมือง กระทบชิ่งไปถึงเศรษฐกิจ
ไม่เฉพาะการลงทุนทางเศรษฐกิจที่ตกหลุมอากาศจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ล่าช้า และ “รัฐบาลก้าวไกล” ตั้งแท่น “รื้อ” แน่นอน โดยใช้ระบบ ZBB มาจัดสรรงบประมาณใหม่
โดยเฉพาะ “งบฯลงทุน” ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 717,199.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 27,719.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.02 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.4 ของวงเงินงบประมาณ
แผนงบประมาณจากศูนย์
“ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล-ว่าที่ รมว.คลังคนใหม่ คาดการณ์ว่า การนำระบบ ZBB มาใช้ในการจัดทำงบประมาณปี’67 ได้เพียง “บางส่วน” การจัดทำงบประมาณแบบ ZBB ยังไม่สามารถใช้กับงบประมาณปี’67 ได้เต็มที่ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากสถานการณ์ที่บีบรัดและต้องรื้องบประมาณให้ได้เร็วที่สุด จึงไม่สามารถทำแบบ full scale ได้
สำหรับการจัดทำงบประมาณปี’67 “บางส่วน” ที่จะนำระบบ ZBB เพื่อนำงบประมาณมาขับเคลื่อนนโยบายหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล-รัฐบาลใหม่ คือการทบทวนโครงการที่จะสามารถระงับ-เลื่อน-ชะลอออกไปได้ก่อน
“งบฯลงทุนได้หมด รวมถึงการพิจารณางวดงาน สามารถเสร็จตามงวดงานหรือไม่ โครงการใดที่ล่าช้าก็อาจจะลดจำนวนลง งบฯลงทุนปีเดียว งวดงานที่จะเบิกจ่ายล่าช้าก็ต้องลดลงตามสัดส่วน”
“งบประมาณปี’67 กว่าจะประกาศใช้คาดว่าประมาณปลายไตรมาส 2-ต้นไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2567 หรือมีนาคม-เมษายน 2567 ดังนั้น งบฯลงทุนเบิกใช้ไม่ได้ ต้องปรับลดลงตามสัดส่วน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาจัดตั้งรัฐบาลจะเร็วหรือช้าโดยตรง”
สำหรับ “งบฯลงทุน” กว่า 7 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น งบฯโครงการผูกพันเดิมประมาณ 2.5 แสนล้านบาท คาดว่า “งบฯลงทุนใหม่” ที่เป็น “โครงการใหม่” และ “โครงการปีเดียว” วงเงิน 4.5 แสนล้านบาท
“ไม่อยากให้กระทบกับงบฯลงทุน แต่กังวลเรื่องการเบิกจ่ายไม่ทันมากกว่า และยังเสียโอกาสที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในการบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐ”
ไม่ต้องการตั้งรัฐบาลช้า
ขณะที่ “นโยบายเร่งด่วน 100 วันแรก” หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจพรรคก้าวไกลเล็ง “งบฯกลางปี 66-งบฯกลางปี 67” หากไม่มีอะไรผิดปกติ สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ไม่เกินปลายเดือนสิงหาคม 2566
“ส่วนงบประมาณปี’68 จะทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วแค่ไหน เพราะหน่วยรับงบประมาณต้องเริ่มทำคำขอตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลถูกดีเลย์ออกไป อาจจะไม่ทันการณ์ คงจะสามารถทำได้เพียงบางส่วน”
ส่วนจะต้องเริ่มจัดทำงบประมาณระบบ ZBB แบบ full scale ได้ในงบประมาณปี’69 หรือไม่ ว่าที่ รมว.คลังหญิงคนแรกบอกว่า ถ้าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ “นิ่ง” ก่อนเดือนตุลาคมจะสามารถเริ่มทำได้
“พรรคก้าวไกลไม่ต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า วิงวอนทุกภาคส่วนให้กระบวนการต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว”
“ร่วมกันช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติด้วย เพราะเมื่อจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทุกอย่างไม่ชัดเจน ความไม่แน่นอนจึงค่อนข้างมาก”
“ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปี’60 ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปไม่มีกำหนด ยังไม่พูดถึงผลของการโหวตนายกรัฐมนตรีแล้วไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ กระบวนการเรื่องอื่น ๆ ดีเลย์ออกไป โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ต้องเลื่อนออกไป”
เทียบนโยบายรัฐบาลเก่า-ใหม่
หากเทียบนโยบายเศรษฐกิจ-ลงทุนของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลเสียงข้างมาก กับพรรคขั้วรัฐบาลเดิม
8 พรรคร่วมรัฐบาลเสียงข้างมาก ประกอบด้วย ก้าวไกล เพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย เป็นธรรม เพื่อไทรวมพลัง และพลังสังคมใหม่ ภายใต้ “คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล”
มีนโยบาย อาทิ นโยบายอุตสาหกรรมชิปในประเทศ ประเภทอิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำ ชิ้นส่วนรถยนต์อีวี อุปกรณ์ชาร์จเร็ว แพ็กเกจส่งเสริมดึงดูดนักลงทุนเป้าหมาย การลงทุนจากเจ้าของเทคโนโลยี สิทธิประโยชน์ทางภาษี เงินอุดหนุน
นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่ inverter controller สร้างแรงจูงใจปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตที่ประหยัดพลังงาน-ลดการปล่อยคาร์บอน โดยหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5-2 เท่า
นโยบายเรื่องค่าแรง 450 ต่อวัน นโยบาย “ภาษี” เช่น เก็บ “ภาษีความมั่งคั่ง” กับ “คนรวย” ที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ 300 ล้านบาท ภาษี “บิ๊กคอร์ปอเรต”
นโยบาย SMEs ภายใต้แนวทาง 5 ต. 1.แต้มต่อ เช่น นโยบายหวยใบเสร็จ 2.เติมทุน เช่น นโยบายทุนสร้างตัวรายละ 100,000 บาท 3.ตัดต้นทุน เช่น นโยบาย SMEs นำค่าแรงขั้นต่ำหักภาษีได้ 2 เท่าเป็นเวลา 2 ปี
4.เติมตลาด เช่น นโยบายกำหนดชั้นวางสินค้า SMEs ในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และ 5.นโยบายตั้งสภา SMEs ให้มีอำนาจต่อรองเทียบเท่าทุนใหญ่
นโยบาย “กีโยติน” กฎหมาย-ใบอนุญาตที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ
เพิ่มจำนวนใบอนุญาต virtual bank เป็น 10 ราย ลดเพดานข้อจำกัดทุนจดทะเบียนเป็น 500 ล้านบาท (จากเดิม 5,000 ล้านบาท)
พรรคขั้วรัฐบาลเดิม ประกอบด้วย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนากล้า ประชาธิปไตยใหม่ ครูไทยเพื่อประชาชน ใหม่ และท้องที่ไทย ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”
นโยบาย “อีสานประชารัฐ” โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่บึงกาฬ-ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือมาบตาพุด-สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง ประกอบด้วย
1.สร้างรถไฟทางคู่แบบใหม่ (รางขนาด 1.435 เมตร มาตรฐานเดียวกับรถไฟความเร็วสูง หรือความเร็ว 100-150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อเชื่อมท่าเรือทางทะเล)
2.สร้างทางหลวงพิเศษ 8 ช่องจราจร 3.สร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาด 20,000 ไร่ 6 แห่ง แห่งละ 1,000 โรงงาน รวม 6,000 โรงงาน
4.สร้างวิทยาลัยอาชีวะใกล้นิคมละ 2 แห่ง รวม 12 แห่ง เพื่อเตรียมคน 5.สร้างท่าเรือบก (dry port) 3 แห่ง รองรับการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรม
เขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด สงขลา สตูล นราธิวาส ยะลา ปัตตานี เช่น โครงสร้างพื้นฐานหลักเชื่อม 2 ฝั่งทะเล อุตสาหกรรมเป้าหมายตลอดข้างทาง motorway ขยายความร่วมมือด้านพลังงานกับมาเลเซีย
พรรคภูมิใจไทย เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (land bridge) ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1.7 ล้านล้านบาท กองทุนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดละ 100 ล้านบาท ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน
นโยบายของ “8 พรรคร่วมรัฐบาลใหม่” กับ “พรรคขั้วรัฐบาลเดิม” มีทั้งเหมือนและแตกต่าง