
ครม.ส่งเผือกร้อนรัฐบาล แก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว กุมขมับอัพเดตหนี้ 7.8 หมื่นล้าน-ดอกเบี้ยเดินไม่หยุด กทม. ชงรัฐร่วมทุนเอกชน-ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. นับ 1 ใหม่ สัมปทานส่วนต่อขยายให้บีทีทีเอส 30 ปี
วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางณัฐจารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามที่กระทรวงมหาดไทยรายงาน โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้า
เรื่องภาระหนี้สินที่มีอยู่ ณ เดือนมีนาคม 2566 จำนวน 7.7-7.8 หมื่นล้านบาท ไม่รวมหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยระหว่างนี้จนถึงวันที่มีรัฐบาลใหม่จะเดินตลอด ซึ่งต้องมีการของบประมาณจากภาครัฐต่อไป อย่างไรก็ตาม ครม.ทำได้เพียงรับทราบเท่านั้น ไม่มีการอนุมัติแต่อย่างใด ทำได้เพียงส่งต่อไปยังรัฐบาลใหม่
นางณัฐจารีกล่าวว่า สืบเนื่องจากมติ ครม. ล่าสุดให้นำกลับไปทำรายละเอียดของโครงการให้มีความชัดเจนในประเด็นที่กระทรวงคมนาคมยังสงสัย เช่น เรื่องการคิดอัตราค่าโดยสาร เรื่องระบบตั๋วร่วม ต่อมาภายหลังจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ผู้ว่าราชการ กทม.คนใหม่ (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) พล.อ.อนุพงษ์จึงได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง กทม. และ กทม.ได้แจ้งกลับมา
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าออก ครม.เป็นครั้งที่ 5 แต่ถ้านับรวมในยุครัฐบาล คสช.เป็นทั้งหมด 7 ครั้ง และกระทรวงคมนาคมมีความเห็นเป็นสิบครั้งที่ไม่เห็นด้วย การนำเข้า ครม.ครั้งนี้จึงเป็นการอัพเดตตัวเลขให้เป็นปัจจุบันด้วย ก่อนที่จะเสนอ ครม.ต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุม ครม.ได้หารือกันถึงการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือบีทีเอส หรือไม่ นางณัฐจารีกล่าวว่า ทางรองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงในที่ประชุมว่า อยากกลับไปใช้วิธีการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน หรือการทำสัญญาร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ไม่ต้องการดำเนินการโดยอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว