ชี้ชะตา แก้ 112 ก้าวไกล และพิธา หยุดการกระทำล้มล้างการปกครอง

พรรคก้าวไกล

วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดีสำคัญ ที่ส่งผลสะเทือนถึงอนาคตของพรรคก้าวไกล และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะแก้ในสภาได้หรือไม่

เพราะศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย คดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล) และพรรคก้าวไกล

เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยศาลนัดประชุมปรึกษาหารือและลงมติในวันพุธที่ 31 มกราคม เวลา 09.30 น. และนัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 14.00 น.

เปิดคำร้อง ธีรยุทธ

ในสาระสำคัญของ คำร้อง ของนายธีระยุทธ ระบุถึงเหตุผลที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดการกระทำของพรรคก้าวไกล ดังนี้

“การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเรียกร้องเพื่อให้มีการ…ยกเลิกกฎหมายที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักกะระอันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควรโดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด”

ADVERTISMENT

ในตอนท้ายคำร้อง “ธีรยุทธ” ร้องขอต่อศาลว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายพิธา) และผู้ถูกร้องที่ 2 (พรรคก้าวไกล) ดำเนินการให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 จะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควร

มีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และในประการที่อาจนำไปสู่การเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ADVERTISMENT

ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของราชอาณาจักรไทย อันอาจจะเป็นการนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบอื่น ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่เข้าข่ายจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ผู้ร้องจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2

เลิกการดำเนินการใด ๆ หรือการกระทำใด ๆ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112

และ ให้ ให้เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ที่กระทำอยู่ และเลิกดำเนินการใด ๆ หรือการกระทำใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง

ไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค

ข้อเสนอก้าวไกล แก้มาตรา 112 เป็นอย่างไร

“พริษฐ์ วัชรสินธุ” โฆษกพรรคก้าวไกล เคยให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ช่วงก่อนการเลือกตั้ง ในฐานะผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล ระบุถึงเหตุผล-ความจำเป็นในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ดังนี้

ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเป็นไปตามมาตรฐานสากล หากเปรียบเทียบกับประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญ

คือ กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประมุขของรัฐ จากฐานการหมิ่นประมาท ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการออกแบบกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขที่มีความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน กับการคุ้มครองประมุขจากการหมิ่นประมาท

ซึ่งการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เรามองว่าพยายามแก้ไข 3 ปัญหา ที่เราเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาและรักษาสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์ หากสามารถออกแบบกฎหมายที่มีสมดุลที่ดีขึ้น ระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน กับการคุ้มครองประมุขจากการหมิ่นประมาท

เราไม่ได้เสนอให้ยกเลิกแต่ให้แก้ไข ยังมีกฎหมายคุ้มครองประมุขจากฐานหมิ่นประมาทที่แยกออกมาจากกฎหมายคุ้มครองประชาชนทั่วไป โดยเราจะแก้ 3 ส่วน

ส่วนหนึ่ง แก้ไขเนื้อหาเพื่อคุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เราเห็นว่าปัจจุบันแม้กฎหมายมาตรา 112 ระบุชัดว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย แต่ในเชิงปฏิบัติเห็นว่ามีการบังคับใช้กับกรณีที่ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย

เช่น ตอนปี 2559 มีนักกิจกรรมที่แชร์บทความของบีบีซี ซึ่งเนื้อหาบทความก็ไม่ได้มีลักษณะหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย และกรณีนี้มีคนแชร์หลักพันคน แต่นักกิจกรรมคนนี้ถูกดำเนินคดี

ดังนั้น อาจต้องแก้ที่การบังคับใช้ แต่ส่วนหนึ่งเราสามารถเขียนกฎหมายให้รัดกุมขึ้นได้ ซึ่งไม่ได้เป็นการคิดค้นอะไรใหม่ แต่เอาแนวคิดจากกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดามาใช้ ซึ่งมีเหตุยกเว้นความผิด และยกเว้นโทษ ถ้าเป็นการติชมหรือแสดงความเห็นอย่างสุจริต หรือถ้าเป็นการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจะเป็นเหตุยกเว้นโทษ เราก็เสนอให้นำข้อความเหล่านี้มาใช้กับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เช่นกัน

ส่วนเรื่องความหนักของโทษ ปัจจุบันอยู่ที่ 3-15 ปี ซึ่งพรรคก้าวไกลมองว่าสูงมาก เทียบกับประเทศอื่นสูงกว่าหลายเท่าตัว เทียบกับกฎหมายในไทย เท่ากับโทษการฆ่าคนโดยไม่เจตนา และสิ่งที่น่ากังวล คือ พอกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ที่ 3 ปี ถ้าคนกระทำความผิดแค่เล็กน้อย แต่ศาลไม่มีดุลพินิจในการลงโทษที่น้อยกว่านั้น ต้อง 3 ปีขึ้นไป ดังนั้น ข้อเสนอของเราคือ 0-1 ปี

หลายคนบอกว่า กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา โทษ 0-2 ปี ทำไมอันนี้ต่ำกว่า ต้องบอกว่าพรรคก้าวไกลเสนอแก้กฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบ สำหรับบุคคลธรรมดาเราจะเปลี่ยนเป็นโทษปรับ แปรผันตามรายได้ ฐานคนรายได้สูงจะโดนโทษปรับที่สูง ส่วนพระมหากษัตริย์เรายังคงโทษจำคุกไว้ 0-1 ปี

รวมถึงผู้มีสิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษ ปัจจุบันเปิดให้ใครไปร้องทุกข์กล่าวโทษใครก็ได้ อาจใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม หรืออาจมีนักการเมือง หรือข้าราชการที่กระทำการทุจริต แล้วต้องการปกปิดการทุจริตของตนเอง ก็นำชื่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเชื่อมโยงกับโครงการตัวเอง แล้วไปสร้างความเข้าใจผิดในสังคมว่าถ้าใครมาตรวจสอบแล้วจะถูกฟ้องมาตรา 112 หรือเอามาตรา 112 มาสร้างสภาพแวดล้อมแห่งความหวาดกลัว เพื่อไม่ให้ใครกล้ามาตรวจสอบตนเอง

ดังนั้น ต้องจำกัดสิทธิในการร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยให้สำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นข้าราชการที่เป็นตัวแทนของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะใช้ดุลพินิจและวิจารณญาณว่าจะร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไม่

หรือถ้าเรามองว่าไม่อยากให้เป็นสำนักพระราชวัง จะใช้นายกฯหรือปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็สามารถนำมาถกเถียงกันได้ เพื่อหาฉันทามติในกระบวนการรัฐสภา

ก้าวไกล ปักหลักสภา

วันที่ 30 มกราคม 2567 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการเสนอแก้มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ในวันที่ 31 มกราคมว่า จะนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเพื่อผลักดันเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้เกิดความสำเร็จ

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาแล้ว

“ส่วนในวันที่ 31 มกราคม นายชัยธวัช กับนายพิธา ไม่ได้เดินทางไปรับฟังคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องปฏิบัติหน้าที่ที่สภาผู้แทนราษฎร”

ต่อมา เวลา 15.09 น. พรรคก้าวไกล แจ้งผ่านไลน์กลุ่มประสานงานกับสื่อมวลชนว่า เนื่องจากวันพรุ่งนี้ (วันพุธที่ 31 มกราคม 2567) มีการวาระสำคัญในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ไม่สามารถมีแกนนำพรรคไปฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้

ทางแกนนำและ สส.พรรคก้าวไกล จะร่วมกันติดตามถ่ายทอดสดการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สภา และจะมีการประชุมและหารือร่วมกันก่อนจะมีการแถลงข่าวต่อไป

อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าจะรู้คำตอบทั้งหมด เมื่อองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย