“ก้าวไกล” สู้เกมยุบพรรค พิธา ลุ้นหัวหน้าพรรค-ผู้นำฝ่ายค้าน

พิธา
คอลัมน์ : Politics policy people forum

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เหมือนเกิดใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ให้อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ต่อไปได้ โดยพ้นบ่วงคดีถือหุ้นไอทีวี

คำวินิจฉัย มีสาระสำคัญว่า พิธา ถือหุ้นใน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จริง จนถึงวันรับสมัคร สส.บัญชีรายชื่อ แต่ “ไอทีวี” ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน ไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อมวลชน

ทันทีที่ “พิธา” กลับมา เหมือนเติมพลังให้พรรคก้าวไกลอย่างเห็นได้ชัด

วิเคราะห์ศาล รธน.

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) วิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นไปตามที่คาดหมาย ไอทีวีแม้มีวัตถุประสงค์ข้ออื่น ๆ ทำสื่ออื่น ๆ อีก แต่การวินิจฉัยไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อ ตรงกับบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 18-19/2563 ซึ่งเป็นแนวนี้

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมี 2 แนว คือแนวของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตอนคดีถือหุ้นวีลัคมีเดีย ขอเพียงมีวัตถุประสงค์เป็นสื่อก็เป็นสื่อเลย แต่ 1 ปีต่อมา มีเพียงวัตถุประสงค์เป็นสื่อ คือยังไม่เป็น ต้องประกอบกิจการจริงและมีรายได้จริงถ้าเป็นสื่อ

“สำคัญคือ นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท มีคนถามว่าไอทีวีประกอบกิจการสื่อหรือไม่ ประธานตอบว่าไม่มีการดำเนินการใด ๆ และไปให้การแบบนี้ในชั้นการไต่สวนในศาลรัฐธรรมนูญ…ก็จบ”

ไม่ยุบก้าวไกล

ขณะเดียวกัน ประเด็นยุบ-ไม่ยุบพรรคก้าวไกล ก็กลายเป็นประเด็นที่ชาวบ้านร้านถิ่น ไปจนถึงนักลงทุนในตลาดหุ้นต้องจับตามอง

คือคดีที่ “ธีรยุทธ์ สุวรรณเกษร” ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า เนื่องจากดูคำร้องขอให้หยุดการกระทำ ไม่ได้ขอให้ยุบพรรค ถ้าไม่ได้ขอให้ยุบพรรคแล้วศาลท่านไปยุบพรรค เรื่องใหญ่ ถ้าขอให้ยุบพรรคแล้วศาลท่านไปยุบก็เรื่องใหญ่อยู่แล้ว และครั้งนี้ไม่ได้ขอให้ยุบ แล้วไปยุบ เรื่องก็ยิ่งใหญ่ไปอีก

ผมไม่คิดว่าศาลท่านเอาตัวลงมาในเรื่องที่มีปัญหาตามมามากมายอย่างนี้ ค่อนข้างมองว่าศาลไม่น่าจะยุบพรรค แต่คราวหน้าไปร้องให้ยุบพรรคอีกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนให้หยุดการกระทำอย่างไรก็ต้องรอฟัง

ส่วนผลในมิติการเมือง หากพรรคก้าวไกลรอดทั้ง 2 เด้ง คือ คดีหุ้นไอทีวี และคดียุบพรรค “ผศ.ดร.ปริญญา” กล่าวว่า เรื่องนี้ (หุ้นไอทีวี) ไม่ควรไปถึงศาลแต่แรกอยู่แล้ว กกต.ไม่ควรไปร้องศาล เพราะไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อมวลชน ก็กลับคืนสู่ปกติเท่านั้นเอง

สิ่งที่น่าจะเป็นประเด็นคืออยู่ที่รัฐบาลมากกว่า เหมือนกับฝ่ายค้านเติมพลัง สว.ก็มาเข้าชื่อมาอภิปรายรัฐบาล แม้ไม่ใช่การลงมติ แต่แปลว่าฝ่ายค้านของรัฐบาล มี สว.เข้ามาด้วยแล้ว และหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนเดิมก็กลับมาแล้ว ฝ่ายค้านเข้มแข็งขึ้น สว.ก็ออกโรงแล้ว

ไม่ยุบก้าวไกลตอนนี้

ขณะที่ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เกาะติดการเมืองมาตลอด วิเคราะห์ว่า การที่ “พิธา” รอดคดีถือหุ้นไอทีวี เป็นการเติมพลังให้กับพรรคก้าวไกล และคาดการณ์ว่าอีกไม่นาน “พิธา” จะกลับไปเป็นหัวหน้าพรรค

“เพราะจะได้มีผลทั้งการนำในสภา และการเลือกตั้งในอนาคต ในภาพรวมเป็นผลดี เป็นกำลังใจให้กับพรรคก้าวไกล ส่วนการทำหน้าที่ฝ่ายค้านอาจเข้มแข็งมากขึ้น แต่จะกระทบกับรัฐบาลหรือไม่ คิดว่ายังไม่ได้มีผลกระทบมากมายนัก เพราะรัฐบาลมีเสียงในสภามากเกินพอ”

ส่วนการยุบพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นได้หรือไม่ “สมชัย” วิเคราะห์ว่า ถ้ามองวันที่ศาลนัดประชุมและอ่านคำวินิจฉัยพุธที่ 31 มกราคม ค่อนข้างผ่อนคลาย เพราะในอดีต ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาที่อาจก่อให้เกิดความรู้สึกความไม่พอใจของประชาชนทั่วไป จะนัดวินิจฉัยวันศุกร์ เพราะเจอเสาร์-อาทิตย์ ม็อบไม่เกิด สื่อไม่เล่นข่าว วันจันทร์กระแสก็เปลี่ยนไปแล้ว รวมถึงครั้งนี้การรักษาความปลอดภัย ผ่อนคลายกว่าคดีสำคัญอื่น ๆ

ส่วนเนื้อหาของสำนวน “สมชัย” มองว่าจะให้ยุบพรรคก็ได้ ไม่ยุบก็ได้ ไปได้ทั้ง 2 ทางเพราะเป็นเรื่องการตีความกว้างหรือแคบ และมีธงอย่างไร ถ้าออกมาในทำนองว่าเซาะกร่อน ทำให้เกิดในทางที่ไม่ดีต่อสถาบันก็ผิดแล้วก็ตีความได้

แม้มีการตั้งสมมุติฐานว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมอยากจะเก็บพรรคก้าวไกลเอาไว้ ให้ต่อกรกับพรรคเพื่อไทย สมชัยมองต่าง “ผมว่าฝ่ายอนุรักษ์วางใจเพื่อไทยมากกว่าก้าวไกล ไม่ต้องการให้ก้าวไกลอยู่ เพื่อให้ไปจัดการเพื่อไทยหรอก”

ร้องศาลซ้ำสองชีวิตไม่สุข

การที่พรรคก้าวไกล อาจรอดทั้ง 2 คดี ก็อาจทำให้กำลังใจมากขึ้น เดินหน้าโดยไม่ติดขัดอะไรทั้งเรื่องแก้ไขมาตรา 112 เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ถ้าผิด (หาเสียงแก้ไขมาตรา 112) ขึ้นมา ก็ต่อด้วยการร้องเอาผิดแน่นอน ชีวิตไม่เป็นสุข

เป็นการร้องศาลรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 ขึ้นอยู่กับ กกต.จะร้องศาลเองในฐานะ “ความปรากฏ” หรือมีผู้ร้อง กกต. ให้ส่งเรื่องมาศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้ทั้งสิ้น และไม่ยากด้วย

ส่วนดีกรีความรุนแรง-ผลกระทบ พรรคก้าวไกล ใกล้เคียง การยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ “สมชัย” มองว่า น้ำหนักอาจจะเบากว่ายุคการยุบพรรคไทยรักษาชาติ กรณีแบบนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายที่อนุรักษนิยม ประเมินว่าอยากจะเก็บไว้ หรือเขาอยากจะเอาออกไปตั้งแต่ต้น

การประเมินดังกล่าวประเมินได้ทั้ง 2 ด้าน เก็บไว้ไม่โตเกินไป ปล่อยให้ก้าวพลาดเอง ล้มเอง หรือรัฐบาลสร้างผลงานแล้วได้เป็นที่พอใจของประชาชน แล้วประชาชนไม่มาเลือกพรรคก้าวไกล

หรือเอาออกไปจากระบบไปตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แต่เห็นบทเรียนอยู่แล้วว่าการเอาออกไปก็ฆ่าไม่ตาย มีตัวตายตัวแทนได้

ก้าวไกล ยังระทึกต่อไป