44 สส.ก้าวไกล ระทึกพิษยุบพรรค สู้คดีจริยธรรม ตัดสิทธิการเมืองทั้งชีวิต

ยุบก้าวไกล
คอลัมน์ : Politics policy people forum

เอฟเฟ็กต์มติศาลรัฐธรรมนูญ 9 ต่อ 0 ยุบพรรคก้าวไกล

ย่อมไม่จบแค่ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

เพราะไม่ถึง 24 ชั่วโมงที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ปรากฏผู้รอ “ซ้ำดาบสอง” ไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลยักไหล่แล้วไปต่อมากมาย

เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า คดีนี้กับคดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 เป็นคดีรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกันและมูลคดีเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไต่สวนพยานหลักฐานในมาตรฐานเดียวกัน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรค 4 บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ”

“ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมต้องผูกพันศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ด้วย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่เสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันมีเนื้อหาเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์

และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งโดยการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง เป็นการมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ผู้ถูกร้องมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์หรือทำให้อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด”

Advertisment

คำวินิจฉัยดังกล่าว จึงย้อนกลับมาที่คดีของพรรคก้าวไกล ซึ่งค้างอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีผู้จองกฐินเอาผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ให้ตัดสิทธิตลอดชีวิต

2 คดีใน ป.ป.ช.

ย้อนไปวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ผู้ยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลในคดีที่ 3/2567 ยังยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของพรรคก้าวไกล และ สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมเสนอชื่อแก้ไขกฎหมาย 112 เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

Advertisment

ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 2561 ซึ่งบังคับใช้กับ สส.ด้วยนั้น ในหมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ บัญญัติว่า

ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ในขณะที่ข้อ 27 กำกับว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง

ต่อมา 9 กุมภาพันธ์ 2567 สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมายสภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องต่อ ปปช.พร้อมนำเอกสารหลักฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 และวันที่ 31 มกราคม 2567

ชี้พฤติกรรมการยื่นแก้ไขมาตรา 112 ถือว่าเป็นพฤติกรรมต่อเนื่องตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่ปี 2561-2567 ซึ่งจากคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ได้มีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลหยุดพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการล้มล้างการปกครอง

“แม้ว่าจะดำเนินการยกเลิกนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ออกจากสื่อออนไลน์ หรือสื่อต่าง ๆ แล้ว แต่การยื่นญัตติเข้าที่ประชุมสภาให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ก็ถือว่ายังเป็นพฤติกรรมที่ยังคงกระทำสืบเนื่องกันเรื่อยมา จึงมองว่าเป็นพฤติกรรมตามอุดมการณ์ที่ร้ายแรง”

คำร้องของธีรยุทธ – สนธิญา จึงมีเป้าหมายต้องการให้มีผลการตัดสิน เทียบเคียงได้กับกรณีที่ศาลฎีกา มีคำพิพากษาคดี คมจ. 1/2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ร้อง ยื่นขอให้วินิจฉัยกรณีกล่าวหา น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม กรณีโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบัน ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

โดยท่อนหนึ่งของคำวินิจฉัยระบุว่า “เมื่อผู้คัดค้าน (พรรณิการ์) ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับมาตรฐานทางจริยธรรม หมวด 1 ข้อ 6 ที่กำหนดให้ผู้คัดค้านต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

“นอกจากการกระทำโดยตรงแล้วยังหมายรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย เมื่อผู้คัดค้านยังคงปล่อยให้ภาพถ่ายและข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์บัญชีการใช้งานเฟซบุ๊กของผู้คัดค้านในลักษณะเป็นสาธารณะบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ พฤติการณ์ของผู้คัดค้านเป็นการแสดงออก ถึงการไม่เคารพและเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 6 มาตรา 50 (1) และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6”

ธีรยุทธชี้ผลคำตัดสิน

“ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” กล่าวถึงฉากต่อไปที่จะดำเนินการหลังมีศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกลว่า สัปดาห์หน้าจะทำคำร้องเพื่อชี้ประเด็นเพิ่มเติมให้กับ ป.ป.ช. ว่าควรจะหยิบ สส.ทั้ง 44 คนมีพฤติกรรมด้านไหนบ้างที่ควรจะดูเพิ่มเติม นอกจากพฤติกรรมการเข้าชื่อยื่นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

เพราะมี สส.ก้าวไกลบางราย ต้องหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือบางคนถูกศาลพิพากษาแล้วหรือไม่ หรือบางคนเข้าร่วมการชุมนุม ยืน หยุด ขัง หรือใครใช้ตำแหน่ง สส.เป็นนายประกันบ้าง

ยกตัวอย่าง ชัยธวัช ตุลาธน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ไปเป็นนายประกันให้กลุ่มผู้ชุมนุม รวมถึง สส.คนอื่น ๆ ที่ต้องดูว่าจะต้องชี้พฤติกรรมเพิ่มเติม

ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มัด สส.ก้าวไกล 44 คนแน่นแค่ไหน “ธีรยุทธ” กล่าวว่า ที่เราร้องเอาผิดมาตรฐานทางจริยธรรมต่อ ป.ป.ช. สิ่งที่คำร้องตรงกับคำวินิจฉัยของศาลคือ พรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง

“ซึ่งกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ ถ้าตามคำวินิจฉัยของเมื่อวานเป็นแค่แขนงหนึ่งของการล้มล้างการปกครอง แต่มาตรฐานทางจริยธรรมระบุเลยว่า ที่เป็นแขนงหนึ่งยังต้องมีจริยธรรมอันอาจจะนำไปสู่การตัดสิทธิตลอดชีวิต”

“ดังนั้น เมื่อถึงขั้นล้มล้างก็ต้องตัดสิทธิตลอดชีวิตได้เลย อาจจะเป็นอย่างนั้น”

ก้าวไกล ยืนยัน ไม่ผิดจริยธรรม

ขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า มองว่าการแก้ไขมาตรา 112 ยังทำได้อยู่ ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าห้ามรณรงค์ข้างนอก ห้ามยกเลิก นั่นคือแก้ได้ แต่ห้ามรณรงค์ ถ้ายื่นตามกระบวนการปกติผ่านสภา เช่น เสนอลดโทษ ให้เหลือเหมือนก่อน 6 ต.ค. 2519 เป็น 0-7 ปีแบบนี้

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่ได้มีความกังวลอะไร แต่ละคนสามารถชี้แจงได้

ยืนยันว่าทุกคนไม่ได้ทำผิดจริยธรรมแค่มุ่งหวังให้การแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องในระบอบประชาธิปไตยมากกว่า

จริยธรรมของคนทุกคนไม่เหมือนกันและไม่มีมาตรฐานที่ตายตัว ไม่ถึงขั้นผิดกฎหมายด้วยซ้ำ แต่โทษกลับรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตทางการเมือง แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนกระทำกับโทษที่ต้องรับไม่สอดคล้องกันหรือไม่