
เปิด 7 ชื่อ แคนดิเดตนายกฯ จาก 5 พรรคการเมือง หลังศาลรัฐธรรมนูญ ถอดถอนเศรษฐา
วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(5)
เมื่อความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลง รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับการกับการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้ต้องมีการโหวตนายกฯ ในสภากันใหม่ โดยนายเศรษฐาไม่สามารถกลับมาเป็นนายกฯ ได้อีก เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4)
จึงต้องมีการเลือกนายกฯ คนใหม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ซึ่งจะต้องเลือกจาก “แคนดิเดตนายกฯ” ในบัญชีพรรคการเมืองที่มี สส. ในสภา 25 คน และต้องแจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยไม่ได้กำหนดจะต้องมีนายกฯ กี่วัน
อย่างไรก็ตาม แคนดิเดตนายกฯ ตามบัญชีพรรคการเมือง ที่แจ้งไว้กับ กกต.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 มีอยู่ 7 คน จาก 5 พรรคการเมือง ดังนี้
-
- พรรคเพื่อไทย มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, นายชัยเกษม นิติสิริ
- พรรคภูมิใจไทย มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย
- พรรคพลังประชารัฐ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
- พรรครวมไทยสร้างชาติ มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
- พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์