
วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหตุไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
สำนักข่าวจากต่างประเทศ เช่น ไทม์ (TIME) รอยเตอร์ (Reuters) และซีเอ็นเอ็น (CNN) ได้รายงานถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทาง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมแง่มุมทางด้านเศรษฐกิจจากสำนักข่าวดังกล่าวไว้ดังนี้
โดยซีเอ็นเอ็นรายงานถึงการขึ้นเป็นนายกฯของเศรษฐา ทวีสิน ว่าท่ามกลางฉากทัศน์การเมืองที่ปั่นป่วน พรรคเพื่อไทยฝ่าทางตันด้วยการร่วมมือกับพรรคทหารที่เป็นศัตรูกันอย่างยาวนาน
ไทม์รายงานเพิ่มเติมว่า การร่วมมือทำข้อตกลงกับฝั่งอนุรักษนิยม นอกจากจะช่วยให้เศรษฐาได้เป็นนายกฯ แล้ว ยังทำให้ทักษิณ ชินวัตร สามารถเดินทางกลับไทยในรอบ 17 ปีได้
ซีเอ็นเอ็นมองว่า เมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้ว เศรษฐาพยายามขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม นโยบายแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาทกลับถูกคัดค้านและเตะถ่วงอยู่เรื่อย ๆ
รอยเตอร์ระบุว่าไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงเสียดฟ้า มีการส่งออกและการบริโภคที่อ่อนแอ ที่สำคัญนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยยังมีผลดำเนินการย่ำแย่สุดในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ไทม์กล่าวว่าจากการแต่งตั้งทนายความที่เคยติดคุกให้เป็นรัฐมนตรี และมติของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินออกมา ทำให้เศรษฐาต้องหลุดออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่า 2% นานนับทศวรรษ
ซึ่งไทม์มองว่าต่อจากนี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะมีความเสี่ยงจากภาวะสุญญากาศทางการเมือง และการลงทุนจากต่างประเทศจะถูกระงับไว้ก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนว่าใครจะขึ้นมาเป็นนายกฯคนต่อไป