“บิ๊กตู่” ไม่รู้จักเจ้าสัวเจริญ โว 7 ด.ไปอีสาน 11 ครั้ง โปรย 2.4 หมื่นล้าน “อุตตม” พูดแทน ยิบต่อสัญญาเช่าศูนย์สิริกิติ์ 50ปี

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กรณีอภิปรายประเด็นการขายที่ดินของพ่อพล.อ.ประยุทธ์ ให้กับบริษัทเจ้าสัว และกรณีต่อสัญญาศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 50 ปี โดยไม่เปิดประมูล เข้าข่ายล็อกสเปคให้เจ้าสัว ว่า เรื่องที่ดินของพ่อตน เป็นโฉนดมาตั้งแต่ปี 2482 เป็นของครอบครัวตนเมื่อปี 2495 เป็นของปู่ย่า ตนยังเกิดเลย เป็นสมบัติของพ่อตน เป็นมรดกตกทอด เพราะพี่ น้องเสียชีวิตหมด จึงเป็นของพ่อตนเมื่อปี 2535 ช่วงนั้นที่ดินบูมก็ไม่ยอมขาย เพราะเก็บไว้ให้ลูกหลาน เมื่อถึงปี 2556 ตนเป็นผู้บัญชาการทหารบก แล้วพ่อก็ขายที่ดี ซึ่งตอนนั้นพ่อตนไม่แก่มากนัก ยังจำได้พูดจาอะไรได้หมด ดังนั้นจะมาบอกว่าพ่อตนแก่เกินไปก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร และเรื่องที่ท่านไปพูดกับสื่อตนก็ไม่เคยได้ยิน บางทีก็ออกมาตามสื่อสัมภาษณ์อย่างโน้นอย่างนี้ ต้องไปถามพ่อตนอีกที ซึ่งพ่อตนตอนนี้ก็ไม่อยู่แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่าที่ดินดังกล่าว ตนอยากให้ดูที่ว่าเป็นบ่อตกปลา จะเป็นบ่อตกปลาได้อย่างไร เพราเป็นที่แปลงใหญ่ ทั้งหมดมี 50 ไร่ ถ้าไปดูแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศก็ถือว่าเป็นที่ผืนใหญ่ที่สุดในบริเวณนั้น และมีถนนเลียบข้างหน้าประมาณ 300-400 กว่าเมตร ตอนหลังพ่อแบ่งออกเป็น 4 แปลง และที่บอกว่าเป็นบ่อน้ำนั้นเป็นลำธารสาธารณะ เรียกว่าคลองหนามแดง ไม่ใช่บ่อตกปลา ตรงกลางเป็นที่ดอน ที่ดินให้เช่าปลูกพืช ทำการเกษตร ซึ่งเมื่อตอนเด็กตนเคยพายเรือไปที่นี่ เกิดมาก็เห็นพื้นที่แปลงนี้แล้ว ตนรู้ว่าจะผิดตรงไหน

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องของการซื้อขาย ก็เป็นเรื่องของข้อตกลงระหว่างคนขายกับคนซื้อ เขาจะซื้อราคาเท่าไหร่ บริษัทไหนจะมาซื้อ ซึ่งก่อนปี 2556 ตนจำได้ว่าพ่อติดป้ายประกาศขายตั้งแต่ปี 2554-2555 ซึ่งก็มีการติดต่อมาโดยตลอด มีติดต่อมาหลายเจ้า แต่ก็ไม่ได้ขาย จนท้ายที่สุดก็มีบริษัทนี้ แต่ตนไม่รู้ว่าเป็นของใครด้วยซ้ำไป เพราะตอนนั้นตนเป็น ผบ.บท. ไม่รู้จักใครเป็นพิเศษส่วนตัว และตนไม่คิดว่าจะเอื้อให้กับเขาได้ในอนาคตด้วย

“ถ้าคุณพูดแบบนี้หมายความว่าผมไปต่อรองกับเขา ว่าคุณซื้อที่ตรงนี้แล้ววันหน้าผมจะดูแลเขา แล้วผมไปสัญญากับเขาได้หรือไม่ว่าผมจะเป็นนายกฯ ซึ่งผมว่ามันไม่ใช่ คุณพูดเกินไปหรือเปล่า ซึ่งราคาที่ขณะนั้นในปี2556 ราคาตามท้องตลอดประมาร 609 ล้านบาท ในที่ปัจจุบันปี 2562ประมาณ 812 ล้านบาท ซึ่งราคามันขึ้น เวลาซื้อขายก็ต้องซื้อขายตามราคาท้องตลอด และการเสียภาษีก็ถูกต้อง”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ตนก็แจ้งตอนเป็น ผบ.ทบ.และเมื่อมาเป็นนายกฯครั้งที่ 2 ก็มีการแจ้งตามกฎหมาย ป.ป.ช. ทั้งที่ป.ป.ช.เขาเขียนว่าไม่ต้องแจ้ง แต้ผมก็แจ้ง แต่เขาไม่ได้มาเปิดเผย เพราะผมยังไม่สิ้นสุดหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ้งทุกคนก็ได้รับกฎหมายฉบับเดียวกัน ฉะนั้นการพุดอย่างนี้ทำให้สับสนอลหม่านกันหมด ดังนั้นเรื่องที่ดิน ตนคงไม่ตอบอะไรมากไปกว่านี้แล้ว ลองดูที่ก็แล้วกัน แพงตรงถนนหรือเปล่าตนก็ไม่รู้เหมือนกัน และการที่บริษัทมาซื้อไปพัฒนาก็ไม่รู้ไปพัฒนาอะไร เพราะเขาเป็นพร็อมเพอร์ตี้ เขาไม่ได้ปลูกต้นไม้ ซึ่งเขามีสิทธิในการประกอบการ คุณต้องเข้าใจตรงนี้ ก็แล้วแต่ท่านแต่ตนว่าท่านไม่เข้าใจอะไรง่ายๆหรอก ตนคุณเป็นคนเข้าใจอะไรยากอยู่แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เรื่อที่กล่าวว่าตนไม่ไปดูแลพี่น้องชาวอีสาน ตนเป็นนายกฯ รัฐบาลปัจจุบัน 7 เดือน ไปเยี่ยมพี่น้องชาวอีสาน 11 ครั้ง มีการจัดสรรงบประมาณลงไป 2 หมื่น 4 พันล้านบาท แม้เขาจะไม่ชอบตน ตนก็ไป ไม่ใช่ไม่ชอบแล้วไม่ไป ตนให้ทุกจังหวัด นี่คือรัฐบาลนี้ รัฐบาลก่อนหน้าก็ทำแบบนี้ ส่วนในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงการศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการดำเนินการมาอยู่แล้ว ดำเนินการมาตั้งแต่ 2539 ติดขัดปัญหาข้อกฎหมายที่ออกมาภายหลัง กฎหมายควบคุมก่อสร้าง 2542 และในเรื่องของการใช้ประโยชน์ที่ดินปี 2546 ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตร ซึ่งมี 3 สัญญา สัญญา 1 สัญญา 2 สร้างตึกได้ ทำโรงแรมได้ แต่กฎหมายออกมาตามหลังทำไม่ได้ จึงไม่สามารถปฎิบัติตามสัญญา 2 แต่เมื่อเดินหน้าไปสู่สัญญา 3 ที่เขามีอยู่แล้ว ก็ต้องมาแก้ไขว่าจะทำอย่างไร ซึ่งตนจะกระทรวงการคลัง และนายวิษณุ เครืองามรองนายกฯ ชี้แจงในส่วนของกฎหมาย ต่อไป ส่วนที่บอกว่าอัยการถามมา 10 ข้อ ซึ่งเราก็ชี้แจงไปแล้ว อัยการก็มีมติเห็นชอบและไม่มีข้อทักท้วงแต่ประการใด ส่วน เรื่องการแก้ไขปัญหาที่สีต่างๆ เป็นเรื่องของการประกาศบังคับใช้ผังเมืองกรุงเทพฯ 2556 เป็นการดำเนินการก่อนรัฐบาลที่แล้วเข้ามา เป็นรัฐบาลใครทำก่อนปี 2556

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ชี้แจงกรณีที่นายยุทธพงษ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงการแก้ไขสัญญาการให้เช่าและ บริหารพื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า โครงการนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี2532 โดยการเจรจาและเปิดให้เอกชนเข้าลงทุน เพื่อหวังให้เป็นศูนย์กลางการประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติในภูมิภาคนี้ ส่งเสริมทั้งธุรกิจการจัดการประชุม กรรแสดงนิทรรศการ และการท่องเที่ยวของประเทศ จนกระทั่งมีการลงนามในสัญญาโครงการนี้ เมื่อปี 2539 โดยมีอายุสัญญา 25 ปี นับอายุตั้งแต่การก่อสร้างโครงการเสร็จโดยใช้เวลาก่อสร้างเป็นระยะเวลา 4 ปี เป็นสัญญา 25ปี+4 หรือ 29 ปี

นายอุตตมกล่าวว่า ปัญหาของสัญญาเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2542 เมื่อกระทรวงมหาดไทยประกาศเขตผังเมืองให้ บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีน้ําเงิน ที่ห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตร ทําให้กระทบต่อสัญญาที่เอกชนทํากับกรมธนารักษ์มีปัญหา เพราะในสัญญาปี 2539 ระบุว่าเอกชนต้องสร้างโรงแรม 4-5 ดาว ขนาดมีห้องพัก 400 ห้อง ที่จอดรถ 3,000 คัน พื้นที่พาณิชย์ 28,000 ตรม. เมื่อมีประกาศกระทรวงมหาดไทยเกิดขึ้น หลังสัญญาก็กระทบการก่อสร้างแนวสูงที่ไม่สมารถทําได้ เอกชนคือบริษัท บริษัท NCC management and development จํากัด จึงได้ส่งหนังสือมายังกรมธนารักษ์ เมื่อเดือน กรกฎาคม 2543 เพื่อหาทาง แก้ไขปัญหาเรื่องนี้

นายอุตตมกล่าวว่า ต่อมาเมื่อปี 2544 กรมธนารักษ์ทําหนังสือขอคําปรึกษากับสํานักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เพื่อหาแนวทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการเลิกสัญญาหรือการแก้ไขสัญญา ซึ่งสํานักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาได้มีหนังสือตอบกลับมาเมื่อปี 2544 ว่า หากเอกชนไม่ได้เป็นผู้กระทําผิดก็มิอาจเป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญา ส่วนการแก้ไขสัญญา นั้นกระทําได้ แต่ต้องยึดประโยชน์ของรัฐเป็นที่ตั้ง ได้มีการแก้ไข เรื่องการไม่ต้องก่อสร้างโรงแรมในแนวสูง แต่ขยายพื้นที่ในแนวราบออกไป แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่จบสิ้นกัน จนกระทั่งปี 2556 ในสมัยรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการแก้ไขพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งมีการประกาศบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2556 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นใน การเปิดโอกาสให้มีการทบทวนโครงการที่เข้าข่ายในกฏหมายดังกล่าว โดยเปิดช่องไว้ใน มาตรา 43 ของพ.ร.บ.ดังกล่าว ให้สามารถตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแก้ไขปัญหาในกรณีโครงการตาม กฎหมายนี้ที่มีปัญหา

นายอุตตมกล่าวว่าตนได้เสนอให้ทบทวนหลายโครงการหลาย เพื่อแก้ไขปัญหาหลังกฏหมายดังกล่าวประกาศบังคับใช้ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง, โครงการพัฒนาพื้นที่หมอชิต รวมทั้งโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ ด้วย โดยในเดือนกันยายนในปีเดียวกัน บริษัท NCC management and development จํากัด ได้ส่งหนังสือถึง กรมธนารักษ์ เพื่อปรับแผนการลงทุนโดยข้อเสนอในปี 2556 มีการเสนอที่จะปรับปรุงสัญญาเช่าโดยขอก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 23 เมตร เพราะมีการปรับปรุงผังเมืองใหม่แล้ว และมีการขอขยายระยะ เวลาเช่าออกไปเป็น 50ปี ดังนั้นการเสนอสัญญาเช่าออกไปจึงเริ่มต้นในตอนนั้น ต่อมากระทรวงการคลังในขณะนั้นได้ตั้งกรรมการตามมาตรา 43 แห่งการให้เอกชนร่วมลงทุนใน กิจการของรัฐขึ้นมาพิจารณา ในการพิจารณาข้อเสนอของบริษัท NCC management and development จํากัด โดยกรมธนารักษ์ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าของโครงการขึ้นเมื่อปี 2556 ผลการศึกษายืนยันว่า มูลค่าการลงทุนกว่า 6 พันล้านบาทในขณะที่ผลตอบแทนให้กรมธนารักษ์ จํานวน 18,998.60 ล้านบาท จะมีเวลาคุ้มค่าการลงทุนที่ 47 ปี จึงเห็นว่า ระยะเวลาการใช้เช่า 50 ปี เป็นระยะ เวลาที่เหมาะสม แต่เพื่อให้สอดคล้องกับมูลค่าการลงทุนและผลตอบแทนให้รัฐ โดยทรัพย์สินทั้งหมดที่เอกชนลงทุนพัฒนา เมื่อครบสัญญาหรือเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา หากมีการกระทําผิดสัญญา ยังตกเป็นของรัฐหรือกรมธนารักษ์ ทั้งหมด ไม่ได้เป็นของเอกชนแต่อย่างใด

“สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมด เพื่อทําความเข้าใจปัญหานี้ หากมีการสืบค้นประวัติที่มาตั้งแต่เริ่มสัญญาในปี2539 จนกระทั่งมีการแก้ไขสัญญาครั้งล่าสุดในปี 2560 จึงจะรู้ที่มาที่ไปของปัญหา ขออย่าหยิบแค่ท่อนเดียวหรือห้วงเวลาเดียวคือการแก้ไขสัญญาเมื่อครั้งล่าสุด แล้วทําให้เราไม่เข้าใจปัญหาทั้งหมดในเรื่องนี้”นายอุตตมกล่าว


ส่วนที่นายยุทธพงศ์กล่าวถึงกรณีหนังสือทักท้วงจากอัยการสูงสุดเมื่อปี 2556 นั้น นายอุตตม ชี้แจงว่า ล่าสุดกระทรวงการคลังได้นำร่างสัญญาฉบับสมบูรณ์เสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้ง โดยอัยการสูงสุดมีหนังสือตอบเห็นชอบร่างสัญญา เมื่อวันที่ 17 กันยายน ปี 2561 จึงเสนอให้ ครม.ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ