รัฐสภา ดันคณะกรรมการสมานฉันท์ ตั้งคำถามทำประชามติ

รัฐสภา
REUTERS/Chalinee Thirasupa

วันที่ 27 ตุลาคม 2563 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

แหล่งข่าวจากแกนนำรัฐบาล เปิดเผยว่า ตลอดช่วงบ่ายวันนี้วิปฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ได้มีการเจรจานอกรอบอย่างหนักถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ตามแนวคิดของวิปรัฐบาลได้ตกผลึกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเบื้องต้น แกนนำพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทย ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม เพราะเห็นว่าเป็นการยื้อและรัฐบาลพยายามถ่วงเวลา แต่ในช่วงเย็นฝ่ายค้านมีท่าทีที่อ่อนลง และมีท่าทีที่จะเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ดังกล่าว

นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช รองประธานวิปรัฐบาล อภิปรายในสภาว่า เรามีความจำเป็นอย่างยิ่ง การคลี่ปัญหาทั้งหมดยังไม่ได้ตอบโจทย์และครอบคลุมทั้งหมด จึงต้องมีคณะกรรมการจากสภาแห่งนี้เพื่อแสวงหาทางออกของประเทศต่อไป ยังมีปัญหาที่เราไม่สามารถพูดได้หมด และยังมีปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น หากมีคณะกรรมการแสวงหาทางออกจากทุกภาคส่วนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งคณะรัฐมนตรี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. ฝ่ายคู่ขัดแย้ง ผู้ทรงคุณวุฒิ และฝ่ายสันติวิธี สังคมไทยมีความจำเป็นที่จะทำให้สังคมเกิดความเรียนรู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีได้อย่างไร

ส่วนบทบาทคณะกรรมการอย่างน้อยมีหน้าที่จะเก็บเกี่ยวนำสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาไปนำเสนอการแก้ปัญหาประเทศชาติไปหารือ เพื่อกำหนดทางแก้ปัญหา และกำหนดอนาคตของประเทศด้วย เป็นจุดเริ่มต้นที่จะใช้คณะกรรมการชุดนี้ได้ ถ้าคณะกรรมการชุดนี้ตั้งได้โดยประธานรัฐสภา ก็จะทำให้มีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเปิดเวทีความปลอดภัยให้ทุกฝ่ายมาหาทางออกสันติวิธีต่อไป

นายชินวรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ ควรมีส่วนเร่งรัดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงหาทางออกเอาความคิดภาคประชาชนมาทำอย่างไรที่จะทำให้การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญได้เห็นพ้องต้องกัน วันหนึ่งที่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญที่ออกมาจะได้พูดได้ว่านี่คือฉบับของประชาชน ใช้เป็นหลักเกณฑ์หลักของบ้านเมือง

“คณะกรรมการชุดนี้ก็ควรพูดถึงการปฏิรูปประเทศด้วย รวมถึงหาข้อยุติในการตั้งคำถามกับประชาชนหากมีการทำประชามติ อย่างน้อยต้องมีข้อยุติในปัญหา มีข้อยุติแม้แต่คำถามที่จะถามกับประชาชน เพราะบางคำถามไม่สามารถไปถามเป็นประชามติได้ จึงต้องมีคณะกรรมการชุดหนึ่งหาข้อสรุปในการตั้งคำถามประชามติต่อไป ถ้าเรามีคณะกรรมการชุดนี้ ควรให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ให้เขารู้สึกว่าการแสดงความเห็นภายใต้คณะกรรมการที่ตั้งโดยประธานรัฐสภา จะนำไปสู่การปฏิบัติจริง และถ้าหากมีความเชื่อมั่นก็ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดความเคลื่อนไหว ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น หวังว่าจะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์พาประเทศชาติบ้านเมืองไปได้” นายชินวรณ์ กล่าว

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย รองประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ดังกล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเข้าร่วมคณะกรรมการดังกล่าวหรือไม่ เพราะในตอนแรกวิปรัฐบาลจะใช้เสียงในสภาในการโหวตตั้งคณะกรรมการ ซึ่งฝ่ายค้านได้ทักท้วงเนื่องจากการญัตติการอภิปรายเป็นการอภิปรายที่ไม่ลงมติ แต่หลังจากมีการเปลี่ยนท่าทีโดยให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง จึงต้องรอดูท่าทีของทั้งรัฐบาล และนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการว่ามีกี่ฝ่ายได้ มีเงื่อนไขอย่างไร ซึ่งคาดว่านายชวนจะเรียกประชุมโดยเร็ว