ล็อกดาวน์รอบ 2 คว่ำแผนประชารัฐนิยม ประยุทธ์ จ่ายหมดหน้าตัก 

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 “ระลอกใหม่” หรือ “ระลอกสอง” สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงทั่วทุกสารทิศ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ การเมือง-ความมั่นคง และสังคม

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง-กูรูทางการเมือง “ฟันธง” ไปในทิศทางเดียวกันว่า ในปี 2564 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญกับ โควิด-19 ระลอกใหม่ ไปอีกอย่างน้อย 3-6 เดือน ก่อนที่ “วัคซีนโควิด” เข็มแรกจะถูกฉีดให้คนไทย

การแก้ปัญหาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะท่านผู้นำ-ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) ดูเหมือนยัง “เมาหมัด” เพราะ “จับต้นชนปลายไม่ถูก” ถึงสาเหตุของการระบาดของโควิด-19 “รอบสอง”

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 4 วันอันตราย จึงมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น-ดาวกระจายไปมากกว่าครึ่งประเทศ
การแก้ปัญหาโควิด-19 “รอบใหม่” มีเสียงเรียกร้อง-ทักท้วงการ “ล็อกดาวน์รอบสอง” เพราะมีทั้งมั่นใจ-ไม่มั่นใจว่า “เจ็บแต่จบ” ซึ่งหลังจากประชาชนเดินทางกลับจากเทศกาลปีใหม่ คาดว่าเรื่อง “ล็อกดาวน์” จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร-ล็อกดาวน์ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 โดยมีผลตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา มีการขยายอำนาจการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาแล้ว 8 ครั้ง

และทำท่าจะประกาศ “ต่ออายุ” พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็น “ครั้งที่ 9” หลังกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 มกราคม 2564 รวมแล้วคนไทยมี “ต้นทุน” ที่ต้องจ่ายให้กับการพำนักอยู่กับ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” มาแล้ว 9 เดือน 21 วัน

ขณะที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มี “รายจ่าย” ที่ต้องเยียวยาเศรษฐกิจ-ประชาชน ภายใต้เม็ดเงินงบประมาณ กระเป๋าซ้าย-กระเป๋าขวา ทั้งจากเงินในงบประมาณ-เงินนอกงบประมาณ

ดั่งที่ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินสายเช้า-ค่ำถึงมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจ 3 เดือนหลังเกิดการระบาดโควิด-19 เป็นเม็ดเงินกว่า 8 แสนล้านบาท
ดังนี้

1.โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงการคลัง คือ โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” หรือ “มาตรการชดเชยรายได้” แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบของโรคโควิด-19 หรือ ผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ รายละ 5,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)

มีกรอบวงเงินสำหรับใช้ในการดำเนินโครงการ จำนวน 240,000 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินงบประมาณ จำนวน 70,000 ล้านบาท และเงินกู้ จำนวน 170,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับผู้ผ่านเกณฑ์สูงสุด 16 ล้านคน

2.โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่เกษตรกร จำนวน 10 ล้านราย (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) รายละ 5,000 บาท 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2563) แหล่งเงินจากพ.ร.ก.กู้เงิน 150,000 ล้านบาท

3.โครงการเยียวยาให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยา จากโครงการใด ๆ ของภาครัฐ ในช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 จำนวน 1,000 บาทต่อเดือน 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม) ไม่เกิน1,164,222 คน แหล่งเงินจากพ.ร.ก.กู้เงิน 3,492,666,000 บาท

4.โครงการเยียวยากลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ (กลุ่มเปราะบาง) ที่ได้รับผลกระทบทางสังคมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) จำนวน 6,781,881 คน ประกอบด้วย

(1) เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวน 1,394,756 คน (2) ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 4,056,596 คน และ (3) คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 1,330,529 คน

โดยช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนรายเดือนข้างต้น รายละ 1,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2563) งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 20,345,643,000 บาท

5.โครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 1-2 คนละ 3,500 บาท จำนวน 15 ล้านราย วงเงินจากแหล่งเงินกู้ 52,500 ล้านบาท (เฟสแรก 30,000 ล้านบาท เฟสสอง 22,500 ล้านบาท)

6.โครงการ “ช้อปดีมีคืน” ลดหย่อนภาษีสูงสุด 30,000 บาท

7.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฟส 1-2 (ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564) จำนวน 13,948,518 คนละ 500 บาท 3 เดือน วงเงินจากแห่งเงินกู้ทั้งสิ้น 41,535 ล้านบาท (เฟสแรก 20,922 ล้านบาท เฟสสอง 20,613 ล้านบาท)

8.โครงการเราเที่ยวด้วยกัน วงเงิน 20,000 ล้านบาท และ 9.โครงการกำลังใจ 2,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ 5 มาตรการหลังส่งผลต่อเศรษฐกิจ 3 เด้ง ทั้งเรื่องการเพิ่มกำลังซื้อ เด้งแรก เพิ่มกำลังซื้อ เด้งที่สอง เพิ่มเงินในกระเป๋าผู้ประกอบการ และ เด้งที่สาม กระตุ้นการท่องเที่ยว

หากถามถึง “เงินในกระเป๋า” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ให้ความ “อุ่นใจ” ว่า หากประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 “เลวร้ายที่สุด” หรือ มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีเงินมีเพียงพอที่จะเยียวยา หรือ มีเงินประมาณ 2-3 แสนล้านบาท รวมกับงบประมาณงบกลางและงบกลางกรณีฉุกเฉินฯ อีก รวมแล้วประมาณ 4 แสนล้านบาท “สบาย ๆ”

“ต้องดูการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้ส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ถ้าล็อคไม่นาน เรายังมีเงินเยียวยา 400,000 ล้านและงบกลางปี 64 ที่กันไว้อีก 40,000 ล้าน ยังไม่ได้ใช้ รวมถึงงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นปี 64 อีก 99,000 ล้านบาทหรือราว ๆ 1.4 แสนล้านบาท ไม่ต้องห่วง น่าจะพอ และถ้าอีก 1 เดือน สถานการณ์ดีขึ้น เราอาจจะไม่ต้องใช้”

ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทุบกระปุก-กวาดเงินฉุกเฉินไว้วิ่ง-สู้-ฟัด ทั้งเงินใน-นอกงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานไว้ดังนี้

1.พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินรวมไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น

(1) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 45,000 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติแล้ว 2,555 ล้านบาท

(2) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ วงเงิน 555,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 365,657 ล้านบาท ผลเบิกจ่าย 303,627 ล้านบาท

(3) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 400,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 120,053 ล้านบาท ผลเบิกจ่าย 2,671 ล้านบาท

2.พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 จำนวน 88,452 ล้านบาท

3.พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2564 (งบกลาง ฯ) จำนวน 40,000 ล้านบาท

ไม่นับรวมงบกลาง ฯ ปี 63 ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงแรก จำนวน 30,602 ล้านบาท ไม่นับรวมงบ “เราไม่ทิ้งกัน” กว่า 70,000 ล้านบาท (วงเงินงบกลางตั้งไว้ 96,000 ล้านบาท) อาทิ

  • ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำหน้ากากอนามัยในโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยการจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7,774 แห่ง วงเงิน 225 ล้านบาท
  • โครงการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะระบาดในวงจำกัด (ระยะที่ 2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 1,233,272,900 บาท
  • ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 จำนวน 20,000 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 จำนวน 9,002 ล้านบาท
  • ชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิคนละ 5,000 บาท 3 เดือน จาก 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน จำนวน 45,000 ล้านบาท

โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 เพื่อชดเชยต้นทุนการดำเนินงานของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 2 แห่ง (ออมสินและธ.ก.ส.) จำนวน 1,600 ล้านบาท

ขยายจำนวนผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิตามมาตรการชดเชยรายได้ แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเดิมจำนวน 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน และขยายกรอบวงเงินสำหรับใช้ในการดำเนินโครงการจากเดิม จำนวน 45,000 ล้านบาท เป็น จำนวน 210,000 ล้านบาท

เงินอุดหนุนให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อให้การสนับสนุนหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศ ในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนให้พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด 19 และการสร้างขีดความสามารถของประเทศโดยการพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ วงเงิน 1,000 ล้านบาท

“ตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม ตอนนี้สบาย ยังมีเงินในกระเป๋าเยอะ แต่หากถ้าปิดประเทศ เหมือนอังกฤษ หรือ ในยุโรป อันนั้นน่าเป็นห่วง ซึ่งสัดส่วนเงินกู้ต่อจีดีพีร้อยละ 60 โดยประมาณ ประเทศอื่นเป็น 100 แล้วนะ ช่วงนี้เวลานี้ 60 เรายังมีวินัยอยู่ ส่วนจะขยายหรือไม่ต้องประชุมให้เป็นนโยบายรัฐบาล ถ้าจะกู้เพื่อบรรเทา ใครจะไปค้าน ซึ่งไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย และที่ตั้งไว้ 60 เป็นเพียงตุ๊กตา ต่างประเทศไม่กำหนดหรอก 60 บางประเทศ 70 80 ญี่ปุ่น 100 % แล้ว แต่ถามว่า กู้มาทำอะไร ถ้ากู้มาเยียวยา มาบรรเทา ไม่มีใครว่าหรอก”

ขณะที่ก่อนหน้านี้ “ขุนคลัง” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แม้ “ตั้งการ์ดสูง” ดับฝันมาตรการแจกเงิน 5,000 บาท “รอบสอง” ทว่าอาจไปทันสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลุกลาทม-บานปลายกว่าที่คิด

“การระบาดรอบใหม่ที่เกิดขึ้น เชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงดูแลได้ แต่ก็อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันเข้มงวด ซึ่งคิดว่ายังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นๆ มาเสริม มาตรการที่มีอยู่ก็รับมือได้ ส่วนเรื่องเงินก็มีเพียงพอ เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ก็ยังเหลือ วงเงินที่ต้องใช้เยียวยา 300,000 ล้านบาท ก็ยังใช้ได้ถึงสิ้นเดือนก.ย.ปีหน้า (64)”นายอาคม กล่าวเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

เช่นเดียวกับ “สุพัฒนพงษ์” ที่ก่อนปีใหม่ตอบนักข่าวเศรษฐกิจทำเนียบก่อนหยุดยาวปีใหม่ ว่า ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตาการเยียวยาเพิ่มเติม มาตรการเยียวยาของกระทรวงแรงงานที่ผ่านคณะรัฐมนตรีไปเพียงพอแล้ว
ทว่าเมื่อสถานการณ์การโควิด-19 หนักหนาสาหัสกว่าที่คาด เงินเยียวยาอาจจะมากกว่าที่คิดในรอบแรก 8 แสนล้าน ในรอบ 3 เดือน เป็น “เท่าตัว”

สถานการณ์โควิด-เศรษฐกิจเป็นครึ่งปีหลังจึงความท้าทายประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะ “วิกฤตศรัทธา” ที่มีต่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก่อนประชาชนจะ “หมดศรัทธา” จนลุกลามไปยังเสถียรภาพทางการเมือง