เลือกตั้ง อบต. 28 พ.ย. รวมทุกเรื่องต้องรู้ ก่อนเข้าคูหา

เลือกตั้ง อบต. 28 พ.ย. รวมทุกเรื่องต้องรู้ ก่อนเข้าคูหา
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564

ก่อนจะเข้าคูหาเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ มีเรื่องใดที่ผู้มีสิทธิต้องรู้ เช็กเลย 

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี ที่คนไทยมีสิทธิเลือกตั้งเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมทุกเรื่องที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิก อบต. และนายก อบต. ต้องรู้ ก่อนถึงวันเลือกตั้ง

อบต. คืออะไร ?

องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกกันติดปากว่า อบต. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสำคัญต่อท้องถิ่นเป็นอย่างมาก มีขนาดเล็กและอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบท

อบต. จัดตั้งโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อดูแลและจัดทำบริการสาธารณะแก่ประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล มีฐานะเป็นนิติบุคคล

ทำไมประเทศไทยไม่ได้เลือกตั้ง อบต. เกือบ 8 ปี ?

ปัจจุบันสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2561 โดยที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกคำสั่งให้ทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยานั้น อาจจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งในลำดับต่อไป

สมาชิก อบต. และนายก อบต. มีเท่าไร ?

อบต.ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เขตเลือกตั้งละ 1 คน โดยกำหนดเขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่หมู่บ้านใดมีราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน และรวมกันแล้วมีราษฎรถึง 25 คน เป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน อายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มีกำหนดคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง

หาก อบต.ใดมีเขตเลือกตั้งไม่ถึง 6 เขตเลือกตั้ง (หมู่บ้าน) ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น ประกอบด้วยสมาชิก (ส.อบต.) จำนวน 6 คน โดย

  • ถ้ามี 1 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. 6 คน
  • ถ้ามี 2 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 3 คน
  • ถ้ามี 3 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 2 คน
  • ถ้ามี 4 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 1 คนก่อน แล้วเพิ่มให้เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุด 2 เขตเลือกตั้งแรก เขตเลือกตั้งละ 1 คน
  • ถ้ามี 5 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 1 คน และเพิ่มให้เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุดอีก 1 คน

และกำหนดให้มีนายก อบต.ที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 1 คน โดยใช้เขตตำบลเป็นเขตเลือกตั้ง มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้

กรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปี ก็ให้ถือว่าเป็น 1 วาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ ติดต่อกันแล้ว จะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่ง

ภายหลังการเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้นายก อบต. ทั้งหมด 5,300 คน และสมาชิกสภา อบต. 56,641 คน

สถิติที่น่าสนใจหลังเปิดรับสมัคร

หลัง กกต.ประกาศรับสมัครสมาชิก อบต. และนายก อบต. ระหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคม 2564 พบสถิติที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศ 76 จังหวัด รวม 136,250 คน แบ่งเป็น

  • ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 12,309 คน
  • ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 123,941 คน

จังหวัดที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต. สูงสุด 10 อันดับแรก 

1.จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 7,333 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 554 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 6,779 คน

2.จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 5,621 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 479 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 5,142 คน

3.จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 5,062 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 371 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 4,691 คน

4.จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 4,823 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 415 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 4,408 คน

5.จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 4,445 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 349 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 4,096 คน

6.จังหวัดขอนแก่น จำนวน 3,761 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 361 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 3,400 คน

7.จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 3,686 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 294 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 3,392 คน

8.จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 3,609 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 325 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 3,284 คน

9.จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 3,322 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 262 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 3,060 คน

10.จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 3,176 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 280 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 2,896 คน

จังหวัดที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และ นายก อบต. น้อยสุด

จังหวัดภูเก็ต จำนวน 121 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 17 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 104 คน

จำนวนผู้สมัครที่เป็นอดีตนายก อบต.

มีทั้งสิ้น 2,811 คน คิดเป็นร้อยละ 22.84 ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมด (เมื่อเทียบกับจำนวน อบต. 5,300 แห่ง จะคิดเป็นร้อยละ 53.03) และเป็นผู้สมัครรายใหม่ 9,498 คน คิดเป็นร้อยละ 77.16 ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมด

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

  1. มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  2. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
  4. และคุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

ทั้งนี้ เฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ในเขต อบต.เท่านั้นที่ได้ออกไปใช้สิทธิ ประชาชนจึงต้องตรวจสอบว่าที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของตนนั้น อยู่ในเขตความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบใด และตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ชัดเจนก่อนไปลงคะแนน

สามารถตรวจสอบได้ที่นี่ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc/

ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

  1. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
  2. อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  3. ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ขอบด้วยกฎหมาย
  4. วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  5. มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการเลือกตั้ง

  • บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
  • บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น
    – บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
    – ใบขับขี่
    – หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
    ฯลฯ

การเตรียมความพร้อมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องดำเนินการเตรียมพร้อมก่อนไปใช้สิทธิ ดังนี้

  1. ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  • ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน
  • ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน
  • ตรวจสอบรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมายังเจ้าบ้าน
  1. การเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ
  • ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน
  • หากพบว่าตนเองหรือผู้มีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านของตนไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริงให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย

การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง สามารถแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

  • มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  • เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  • มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  • ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
  • มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต.กำหนด

กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้

หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิอะไรบ้าง ?

  1. สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ถ. หรือ ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
  2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ. หรือ ผ.ถ.
  4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
  6. ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
    การถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง

สิ่งที่ทำไม่ได้ หลัง 18.00 น. 27 พ.ย. 64

  1. ห้ามผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง ระหว่างเวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน (27 พ.ย. 2564) จนถึงเวลา 18.00 น.ของวันเลือกตั้ง (28 พ.ย. 2564)
  2. ห้ามผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใด รวมถึงวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครนับตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง (24.00 น. ของวันที่ 28 พ.ย. 2564)

ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง

1.ตรวจสอบรายชื่อ : ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่จากบัญชีรายชื่อ ที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง

2.ยื่นหลักฐานแสดงตน : แสดงหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือบัตรหรือหลักฐานที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน ต่อ กปน. พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ

3.รับบัตรเลือกตั้ง : ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

4.ทำเครื่องหมายกากบาท : เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย ดังนี้

  • บัตรเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เลือกผู้สมัครได้หนึ่งคน
  • บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลือกผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลได้ไม่เกินจำนวนสมาชิกที่แต่ละเขตเลือกตั้งนั้นพึงมี
  • หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด แล้วพับบัตรเลือกตั้ง

5.หย่อนบัตรเลือกตั้งด้วยตัวเอง : นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง

บัตรเลือกตั้ง 2 สี กากบาทเลือกอย่างไร

การไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรเลือกตั้ง จำนวน 2 ใบ ในการออกเสียงลงคะแนน ดังนี้

  • บัตรเลือกตั้งสีแดง : สำหรับลงคะแนนเลือกตั้ง “สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล” ทำเครื่องหมายกากบาทในช่องทำเครื่องหมาย ได้เพียงคนเดียว
  • บัตรเลือกตั้งสีน้ำเงิน : สำหรับลงคะแนนเลือกตั้ง “สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล” ทำเครื่องหมายกากบาทเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ไม่เกินจำนวนที่พึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น

กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประสงค์จะลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครใด ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเครื่องหมายกากบาทในช่องทำเครื่องหมาย “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด”

เวลาลงคะแนนเลือกตั้ง

ตั้งแต่เวลา 08.00 น.-17.00 น.

การประกาศผลเลือกตั้ง

หากไม่มีการร้องเรียน จะมีการประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่ 28 ธันวาคม แต่หากมีการร้องเรียน กกต. จะดำเนินการสืบสวนไต่สวน ซึ่งอาจทำให้การประกาศผลล่าช้าออกไปอีกหนึ่งเดือน หรือประกาศผลภายในวันที่ 27 มกราคม 2565

การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น

ห้ามมิให้

ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเองเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง พยายามออกเสียงลงคะแนน หรือออกเสียงลงคะแนน

ผู้ใดจงใจกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บัตรเลือกตั้งที่ตนได้รับจาก กปน. ชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้

ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย เข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการเลือกตั้ง

ผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง

ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใด ๆ อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร นับตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง

ผู้ใดใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งเพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง

ผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง ในระหว่างเวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนถึงเวลา 18.00 น.ของวันเลือกตั้ง

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครใดหรืองดเว้นไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด

ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งหรือเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัครผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนน

ผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง เว้นแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่และอำนาจ

ข้อพึงระวังในวันเลือกตั้ง

  1. ห้ามผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งพยายามออกเสียงลงคะแนนหรือออกเสียง
  2. ห้ามผู้ใดจงใจกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุด หรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้
  3. ห้ามผู้ใดใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรเลือกตั้งที่ได้รับจากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพื่อการออกเสียง
  4. ห้ามผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง เว้นแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่และอำนาจ
  5. ห้ามผู้ใดใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งเพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนน
    ในคูหาเลือกตั้ง
  6. ห้ามนำบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่นเพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนได้ลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
  7. ห้ามผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบบัตรเลือกตั้ง โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือ
    กระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนเพื่อออกเสียงลงคะแนนโดยผิดจากความจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากความจริง
  8. ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
    สามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง หรือมิให้ไปถึง ณ ที่เลือกตั้ง ภายในกำหนดเวลาที่จะออกเสียงลงคะแนนได้
  9. ห้ามผู้สมัครจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งเพื่อการเลือกตั้ง หรือนำกลับจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปหรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือค่าจ้าง

ทั้งนี้ ขอย้ำเตือนให้ระมัดระวังอย่ากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และหากพบเห็นการทุจริตเลือกตั้งสามารถแจ้งเบาะแสได้ทางแอปพลิเคชั่น “ตาสับปะรด” หรือแจ้งเหตุได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2141-8860, 0-2141-8579 และ 0-2141-8859 หรือศูนย์บริการสายด่วนเลือกตั้ง 1444