เลือกตั้งนายก อบต. 28 พ.ย. ปฏิรูปท้องถิ่น

วันเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,300 แห่งทั่วประเทศ จะเกิดขึ้น 28 พฤศจิกายน 2564

ทั้งนี้ ที่ผ่านมานักการเมืองท้องถิ่นพลิกมาเป็นนักการเมืองหัวแถวของประเทศก็หลายคน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองระดับท้องถิ่นเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติ และการเมืองท้องถิ่นก็เป็นฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจ-การเมืองประเทศ

ต่อไปนี้คือความเห็นของ “กูรูเลือกตั้งท้องถิ่น” ที่ฝันอยากปฏิรูปท้องถิ่น “ชำนาญ จันทร์เรือง” กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ที่ส่งผู้สมัครนายก อบต. 48 จังหวัด 210 อบต. โดยเชื่อว่าคณะก้าวหน้าน่าจะได้ประมาณ 30 กว่า อบต.หากเทียบเปอร์เซ็นต์กับตอนเลือกตั้งเทศบาล

“ยังไม่เคยมีปรากฏการณ์ในระดับที่ส่งในนามกลุ่มการเมืองกลุ่มเดียวกันทั่วประเทศ ยังไม่เคยมี พรรคการเมืองอื่นไม่เคยทำเพราะกลัวเรื่องความขัดแย้ง แต่เราไม่กลัว เพราะคณะก้าวหน้าเป็นฝ่ายสนับสนุนไม่ได้ให้เงินให้ทอง แต่ให้ know how”

เขาบอกว่า การเมืองระดับชาติ การเมืองท้องถิ่น แยกกันไม่ออกหรอก ประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ก็เชื่อมการเมืองระดับชาติกับการเมืองระดับท้องที่ ภาษาอังกฤษ No state without city ไม่มีรัฐไหนที่เจริญโดยปราศจากท้องถิ่นที่เข้มแข็งหรอก แล้วบ้านเรา อปท.ไม่เข้มแข็งก็ไม่มีทางจะเจริญมากไปกว่านี้

เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรค และ รมช.มหาดไทย ในฐานะที่เป็นอดีตนายก อบจ.สงขลา เริ่มต้นการเมืองด้วยการเป็น “นักการเมืองท้องถิ่น” ขายไอเดียพลิกประเทศว่าการกระจายอำนาจลงท้องถิ่นจะตอบโจทย์สำคัญ การเปลี่ยนการรวมศูนย์อำนาจไปสู่การกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

“ผมเห็นความสำเร็จของญี่ปุ่น เราเปลี่ยนการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่พร้อม ๆ ญี่ปุ่น แต่ทำไมญี่ปุ่นไปได้เร็วกว่า เราต้องเชื่อระบบการกระจายอำนาจ หลังจากเราใช้ระบบกระจายอำนาจช่วงปี 2537 เราเริ่มยกฐานะสภาตำบลให้เป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ในสมัยท่านชวน หลีกภัย เป็น
นายกฯ เราเปลี่ยนสถานะจนไทยแทบไม่มีชนบท มีแต่เมืองขนาดเล็ก ขนาดกลาง
ขนาดใหญ่ ถนนหนทางสายหลักในหมู่บ้านราดยางหมดแล้วเว้นแต่ที่เพิ่งขยายออกไป”

“กระจายอำนาจทุกอย่างให้ท้องถิ่นส่วนกลางดูเฉพาะนโยบายหลักเพราะไม่มีใครรู้ปัญหาประชาชนเท่าท้องถิ่นเอง”

ด้าน “โกวิทย์ พวงงาม” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังท้องถิ่นไท เคยเป็นนักวิชาการด้านท้องถิ่นมาก่อน เมื่อเข้ามาจึงผลักดันหลาย ๆ เรื่องผ่านทั้งการตั้งกระทู้ และเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแต่ยังไม่ถึงหูรัฐบาลเสียที

อาทิ ให้ใช้การกระจายอำนาจท้องถิ่นเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้สังคมสนใจใช้ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาประเทศ ให้ท้องถิ่นพึ่งตัวเองได้ อุดหนุนรายได้ท้องถิ่นร้อยละ 35 เร่งรัดกฎหมายรายได้ท้องถิ่นที่ค้างท่อมานาน ยุบรวมท้องถิ่นเพื่อเพิ่มศักยภาพ เพราะเทศบาล อบต.มีความทับซ้อนกันหลายแห่ง

การทำงานระหว่างภูมิภาคกับท้องถิ่น เช่น เรื่องผังเมือง คูคลอง การจัดการแหล่งน้ำ ราชการส่วนกลางรวมอำนาจไว้หมด ต้องแก้กฎหมายกระจายอำนาจ งานใดเป็นงานภูมิภาค งานใดเป็นงานท้องถิ่นต้องแก้ให้ชัด เพราะท้องถิ่นทำงานได้ดีกว่าราชการ

กลไกที่ดูแลท้องถิ่นมีพรรคภูมิใจไทยที่เสนอกระทรวงท้องถิ่น แต่คิดว่าควรตั้งกลไกใหม่ที่มีอิสระมากกว่ากระทรวง คือ คณะกระจายอำนาจและการพัฒนาท้องถิ่นแห่งชาติ ให้เป็นองค์กรใหม่ซึ่งมีนายกฯเป็นประธาน ให้สอดรับวาระแห่งชาติ ให้ภารกิจที่กระจาย ๆ ไปอยู่แต่ละกระทรวงมารวมที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจและท้องถิ่นแห่งชาติ ซึ่งต้องใช้คณะกรรมการระดับจังหวัด รวมทั้งคณะกรรมการบุคคลด้วย

อย่างไรก้ตาม การเลือกตั้ง อบต.ไม่สามารถปฏิรูปท้องถิ่นได้ เพราะรายได้แบบเดิม อยู่ภายใต้กฎหมายเดิมทุกอย่าง คำถามคือจะหวังอะไรกับการกระจายอำนาจ…มันหวังยาก

หวังว่าเลือกตั้ง อบต.คนไปใช้สิทธิ 90% เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนยังรักการกระจายอำนาจ เป็นเจ้าของท้องถิ่น ปกป้องธุรกิจการเมืองได้