อธิบดีปศุสัตว์ขอเวลา 12 เดือนคุมโรคระบาดในหมูเบ็ดเสร็จ

ประยุทธ์สั่งมหาดไทยสนธิกำลังปศุสัตว์คุมโรคระบาดในหมูด่วนที่สุด “สรวิศ ธานีโต” อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดใจ หลังเข้ารายงานสถานการณ์กับ “ประยุทธ์” 

วันที่ 14 มกราคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเดินทางเข้ารายงานสถานการณ์ การบริหารจัดการและเยียวยาควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่า ท่านนายกฯเอาใจใส่ และกำชับให้ 1.ควบคุมโรคให้เร็วที่สุด ให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากที่สุด

2.จะต้องมีการฟื้นฟูเกษตรกร โดยเฉพาะรายย่อย รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง และรูแบบใด 3.เรื่องการพัฒนาวัคซีนในการป้องกันโรค โรคนี้เกิดมาแล้ว 100 ปียังไม่มีวัคซีน 4.แนวทาง ทำอย่างไรในการสำรวจสุกรหายไปในระบบ 50-60 % จริงหรือไม่

โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อดำเนินการ เพราะลำพังเพียงแต่กรมปศุสัตว์ ซึ่งมีบุคลากรน้อย คงทำไม่ได้ ท่านนายกฯให้ดำเนินการให้ผู้บริโภคได้เดือดร้อนน้อยที่สุด ซึ่งจะต้องหารือกับกรมการค้าภายในเพื่อตรึงราคา รวมถึงสินค้ารายการอื่นด้วย วันนี้มาชี้แจงว่า กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่ายทำอะไรมาบ้างตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯได้ถามหรือไม่ กรณีมีการพูดกันว่า กรมปศุสัตว์ปกปิดข้อมูล นายสรวิศกล่าวว่า ท่านนายกฯเข้าใจ ได้มีการรายงานท่านนายกฯตลอด ว่า ตั้งแต่ปี 2561 เกิดโรคระบาดในจีน ปี 2562 ทำอะไรบ้าง ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 หลังจากนั้น เราทำอะไรบ้าง

“ถ้าเราปกปิด เราส่งออกไปต่างประเทศ เวียดนาม หรือ กัมพูชาไม่ได้ เพราะเขาต้องตรวจโรคเหมือนกัน และเงิน 574.11  ล้านบาท ที่ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เป็นเรื่องของการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยจากการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด ตามหลักระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ ซึ่งในการควบคุมโรคในสัตว์ ถ้ามีเหตุสงสัยไม่ว่าโรคใดก็ตาม เราสามารถดำเนินการลดความเสี่ยงและรัฐบาลชดเชยให้เกษตรกรรายย่อย” นายสรวิศ กล่าว

เมื่อถามว่า นายกฯ ได้ขีดเส้นในการควบคุมโรคหรือไม่ นายสรวิศ กล่าวว่า ไม่นะ นายกฯ ให้ช่วยเน้นย้ำเรื่องการควบคุมโรคให้ดี ให้สงบโดยเร็ว ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเดินหน้าต่อไปได้ โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนไม่ว่ารัฐหรือเอกชน อาจารย์มหาวิทยาลัย โดยไม่ได้ขีดเส้น แต่นายกฯ ได้ถามว่าการดำเนินการทั้งหมดจะแล้วเสร็จเมื่อใด ตนได้บอกว่าใช้เวลา 8-12 เดือน ทั้งนี้  โรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้น 34 ประเทศ ส่วนเอเชียมี 14 ประเทศ รอบ ๆ บ้านเราเป็นหมด

เมื่อถามว่า นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯให้สัมภาษณ์ระบุว่า ไม่รู้หมูหายไปไหน ได้ชี้แจงกับนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายสรวิศกล่าวว่า ไม่ใช่หมูหายไปไหน คือ ว่า ไปตามระบบ ไม่ว่าจะโรคอะไร พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ถ้าแจ้งมาก็จะเข้าไปตรวจสอบและเก็บตัวอย่างมาตรวจในห้องปฏิบัติการที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กับศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตวแพทย์ 8 แห่ง สามารถยืนยันได้

“นายกฯ สั่งให้สำรวจ ว่า สุกรมีอยู่เท่าไหร่ โดยให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาช่วยด้วย”

นายสรวิศกล่าวว่า ท่านนายกฯ สั่งการให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันฟื้นฟู โดยให้สำรวจก่อนว่า เสียหายเท่าไหร่กันแน่ ต้องได้ข้อมูลชัดเจน ที่พูดกันไปว่า 60% นั้น ตัวเลขการย้ายสัตว์ (E-move) ที่มีอยู่ เสียหายไปไม่เกิน 20 % นายกฯให้สำรวจตัวเลขที่แท้จริง โดยให้กระทรวงมหาดไทยช่วย ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่า หมูแพงไม่ได้เกิดจากโรคอย่างเดียว ยังมีพันธุ์สัตว์ และอาหารสัตว์

“ตั้งแต่ผมรับราชการมา ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลช่วยเหลือหมู เมื่อก่อนไม่เคยมี ในการให้งบประมาณตั้งแต่ต้น รวมแล้ว 1,500 กว่าล้านบาท ลดความเสี่ยงในการเกิดโรค โดยเงินช่วยเหลือให้รายย่อยเท่านั้น ส่วนรายกลาง รายใหญ่ เราไม่มีให้”

นายสรวิศกล่าวว่า สำหรับรายย่อยที่จะกลับมาเลี้ยงใหม่ ท่านนายกฯ สอบถามว่าจะทำอย่างไร เราต้องยกระดับการเลี้ยง ซึ่งท่านนายกฯให้ทำให้ถึงระดับที่กรมปศุสัตว์ยอมรับ หรือ GFM ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ของบประมาณจากสภาพัฒน์ในการดำเนินการให้กับเกษตรกรรายย่อย 100,000 ราย โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์ทั่วประเทศ เลี้ยงพันธุ์สุกรเพื่อผลิตและขายให้กับเกษตรกรรายย่อยราคาถูก

เมื่อถามว่า มีข่าวว่าเกษตรกรถูกข่มขู่ นายสรวิศกล่าวว่า ไม่ทราบครับ

เมื่อถามว่า ไม่ถอดใจใช่หรือไม่ นายสรวิศกล่าวว่า  ตั้งแต่ผมเป็นอธิบดีฯ ได้ทำงานและป้องกันโรคโดยตลอด เช่น โรคม้า เกิดปี 63 ตอนนี้ควบคุมได้แล้ว และจะยกสถานะปลอดโรคจาก OIE และ โรคลัมปีสกิน วันนี้แทบไม่มีแล้ว และใกล้ผลิตวัคซีนได้แล้ว

“สำหรับโรคระบาด AFS ในสุกร เกิดขึ้นมา 100 ปีแล้ว ยังไม่มีวัคซีน ต้องทำงานโดยบูรณาการร่วมกัน ซึ่งท่านนายกฯ และรมว.เกษตรฯ เข้าใจการทำงาน และให้กำลังใจ ให้ทำงานให้สำเร็จลุล่วงต่อไป”

นายสัตวแพทย์กิจจา อุไรรงค์ ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริมว่า เมื่อกรมปศุสัตว์ประกาศเป็นโรคระบาดอย่างเป็นทางการแล้ว มาตรการที่ต้องดำเนินการตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอและติดตามการทำงาน เป็นเรื่องของการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรให้เข้มแข็งเหมือนเดิน ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องรอการประเมิน

“แนวทางการแก้ปัญหาจะต้องควบคุมการระบาด และฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรให้กลับมาโดยเร็ว โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการเป็นหลัก แต่จะไม่ให้เดือดร้อนผู้เลี้ยง และผู้บริโภคให้มากที่สุด ส่วนสถานการณ์ราคาปัจจุบันมีหลายปัจจัย ภาครัฐคงแก้ปัญหาเต็มที่ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล”

นายสัตวแพทย์กิจจา ขอย้ำว่า หากเป็นโรคระบาด AFS จริง ไม่ก่อโรคในคน ไม่ก่อโรคในสัตว์ชนิดอื่น เนื้อหมูยังบริโภคได้ตามปกติ แต่เน้นเกินสุก ถูกอนามัย อย่าตระหนก อย่าตกใจ