ม็อบหน้าทำเนียบ ประยุทธ์ ปีสุดท้าย ร้องทุกข์ 1.2 แสนเรื่อง

ประยุทธ์ ม็อบชาวนา

วาระปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการชุมนุม และยื่นเรื่องร้องทุกข์ ที่ทำเนียบรัฐบาล ในช่วง 6 เดือน 127,950 เรื่อง

ก่อนจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงต้องแก้ไขและรับฟังปัญหาจากประชาชนคนไทย โดยศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ ข้อเสนอแนะ และสอบถามข้อมูลจากประชาชน ในช่วงเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64 – 20 มี.ค. 65) จำนวนทั้งสิ้น 127,950 เรื่อง

เรื่องร้องทุกข์ แบ่งเป็น เรื่องทั่วไป 28,218 เรื่อง และเรื่องเกี่ยวกับโควิด-19 อีก 99,732 เรื่อง มีจำนวนยุติเรื่องแล้วทั้งสิ้น 124,397 เรื่อง และที่รอผลอีก 3,553 เรื่อง โดยในการร้องทุกข์เรื่องทั่วไป ประกอบด้วยผู้ร้องทุกข์รายย่อย 28,199 ราย และกลุ่มมวลชนอีก 19 กลุ่ม

การร้องทุกข์ของเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ร้องทุกข์และแสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการปักหลักชุมนุม “ม็อบชาวนา” เป็นเวลากว่า 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เรียกร้องมาจาก 36 จังหวัด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาผลกระทบที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการขาดทุน และทำให้มีเงินไม่เพียงพอในการชำระหนี้สินกับธนาคาร

แต่ข้อเสนอทั้งหมดก็ได้ถูกเลื่อนการนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแล้วหลายครั้ง กระทั่งวันที่ 20 มีนาคม 2565 ม็อบชาวนา ประกาศจุดยืนว่า หากรัฐบาลยังไม่รับเรื่องแก้ปัญหานำเข้าสู่ ครม. ในวันที่ 22 มีนาคม 2565 กลุ่มผู้ประท้วง จะทำการโกนหัว และอดอาหาร

เปิด 3 ข้อเรียกร้อง ม็อบชาวนา

ก่อนหน้านี้ (9 มี.ค.) ม็อบชาวนาได้ยื่น 31,629 รายชื่อ รวบรวมผ่าน change.org เพื่อเร่งให้นำข้อเสนอเข้าสู่ ครม. โดยข้อเรียกร้องดังกล่าว มี 3 ข้อ ดังนี้

1. ขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ชะลอการฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของสมาชิก เร่งดำเนินการโอนหนี้สินเข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) พร้อมกับขยายเพดานวงเงินการซื้อหนี้ NPA จาก 2.5 ล้านบาท ขยายเป็น 5 ล้านบาท เสนอเข้าสู่เข้ามติ ครม.

2. ขอให้ลดหนี้ปลดหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิก กฟก. กรณีที่ตาย พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วย เป็นโรคเหลือไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ได้บัญญัติไว้ช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ (กฟก.)

3. ขอให้ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอรัปชั่นพร้อมกับปฏิรูปการบริหารงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ขึ้นราคาพืชผลการเกษตรถูกลงทุกวัน แต่ราคาปุ๋ยกลับแพงขึ้น ประชาชนที่เดือดร้อนที่ทำเกษตรกรจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ช่วยเหลือและเยียวยารวมถึงพักชำระหนี้

ปกม็อบชาวนา

ม็อบชาวประมง ค้านติดระบบติดตามเรือ

ในวันเดียวกัน (25 ม.ค.65) มีการรวมกลุ่มสมาคมประมงปากน้ำชุมพร หรือม็อบชาวประมง ที่มาปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลฝั่งราชดำเนินนอก และเข้าได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

เพื่อคัดค้านกรณีกรมสรรพสามิตจะออกประกาศบังคับให้เรือประมงต้องติดระบบเครื่องสำแดงข้อมูลตัวตนอัตโนมัติที่เรือ หรือระบบควบคุมติดตามระยะไกลและสารสนเทศเครื่องหมายทางเรือ ในน่านน้ำไทย AUTOMATIC IDENTIFICATION SYSTEM (AIS) เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระโดยไม่จำเป็นให้กับชาวประมง และขอเพิ่มวันทำการประมงอีก 30 วัน ในปีการประมง

ตัวแทนกลุ่มสมาคม กล่าวว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้จะมีการพูดคุยหารือกับตัวแทนรัฐบาล พร้อมยื่นคำขาดว่าต้องการทำตามข้อเรียกร้อง หากไม่ได้ตามต้องการอาจมีผู้ประกอบการประมงมารวมตัวแสดงจุดยืนอีกครั้ง

ม็อบชาวประมง

ม็อบปาล์มน้ำมัน จี้รัฐแก้ 4 ปัญหาเดือดร้อน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ตัวแทนสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ตรัง นำโดย นายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ตรัง นายฉัตรชัย รัตวิวัฒนาพงศ์ ประธานปาล์มแปลงใหญ่ อ.ห้วยยอด และกรรมการสมาคม นัดหารือปัญหาความเดือดร้อนที่เกษตรกรชาวสวนปาล์มทั่วประเทศประสบปัญหา

ชาวสวนปาล์มทั่วประเทศได้เคลื่อนไหวเหมือนกัน คือ ให้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม มี 4 ประเด็น ดังนี้

1. เรื่องปัญหาราคาปาล์มที่ร่วงลงอย่างรวดเร็ว เพียงสัปดาห์เดียวลดลงถึง 40% จากกิโลกรัมละ 12.05 บาท ลดลงเหลือกิโลกรัมละ 7.60 บาท ซึ่งถ้าไปเทียบกับราคาน้ำมันขวดที่ขายตามท้องตลาด กับราคาน้ำมันดิบจากเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน ซึ่งลงมาประมาณ 10% เท่านั้น

2. คัดค้าน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ที่จะนำน้ำมันบี 5 มาใช้แทนน้ำมันบี 10 สวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่จะส่งเสริมการใช้ปาล์มน้ำมันมาผลิตน้ำมันดีเซล เพื่อเป็นพลังงานพื้นฐาน ส่งผลทำให้ราคาปาล์มร่วงลงอย่างรวดเร็วดังกล่าว

3. คัดค้านการเปิดด่านสะเดา จ.สงขลา เพื่อให้พ่อค้าขนน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียผ่านไทยไปยัง สปป.ลาว และส่งไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะเชื่อว่าจะเป็นการเปิดช่องให้สวมรอยนำน้ำมันปาล์มไทยส่งออก หรือเปิดช่องให้มีการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มในอนาคต

4. ประเด็นปัญหาปุ๋ยแพง ที่พบว่าปุ๋ยในประเทศไทยที่เกษตรกรชาวสวนปาล์มต้องซื้อใช้เพื่อบำรุงต้น ผลผลิต มีการปรับราคาขึ้นมากกว่า 100% ทุกชนิด จากที่เคยซื้ออยู่กระสอบละ 650 บาท ปรับขึ้นอยู่ที่ราคา 1,700-1,900 บาท เช่น ปุ๋ยยูเรีย จากกระสอบละ 800 บาท ปรับขึ้นไปถึง 1,500 บาท สูตร 18-0-46 จากราคากระสอบละ 800-900 บาท ปรับขึ้นอยู่ที่ 1,900 บาท, สูตร 0-0-60 จากราคากระสอบละ 800 บาท ปรับขึ้นอยู่ที่ 1,500 บาท ซึ่งสวนทางกับราคาปาล์มที่ร่วงลง 40% และคาดว่าจะร่วงต่อไปอีก

ม็อบ-ปัญหาและความต้องการของประชาชนเพียง 6 เดือนของปีงบประมาณ 2565 อยู่ในวาระร้องทุกข์ถึง 1 แสนกว่าเรื่อง ในห้วงเวลานับถอยหลัง อีกไม่เกิน 1 ปี จะสิ้นสมัย ปัญหาปากท้องของประชาชน อาจถูกต่อรองโยก-ยื้อไปจนถึงเลือกตั้งครั้งหน้า