นบข.เคาะ 1,925 ล้าน ประกันภัยข้าวนาปี 2565

ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะ ประชุม นบข. เคาะ 1,925 ล้านบาท โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 ชง ครม.ไฟเขียว

วันที่ 27 เมษายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณคณะกรรมการ นบข.ทุกคน ที่ได้ร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องข้าวร่วมกันมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยงานหลายอย่างมีความคืบหน้า หลายอย่างจะต้องทำต่อไป และหลายอย่างก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนต่าง ๆ

ซึ่งทุกคนเข้าใจดีว่าเป็นภาระหน้าที่สำคัญที่ต้องดูแลประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวนาให้สามารถที่จะอยู่ได้ และวันนี้มีสถานการณ์หลายอย่างที่เป็นผลกระทบ เช่น เรื่องแรงงาน โควิด-19 สถานการณ์สงครามความขัดแย้ง ที่ทำให้งานยากขึ้นเรื่อย ๆ แต่นายกรัฐมนตรียังคงเชื่อมั่นในคณะกรรมการทุกคนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะหาวิธีการที่เหมาะสมในการเดินหน้าพัฒนางานบริหารข้าวให้ดีที่สุด ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพเรื่องข้าวอยู่แล้ว โดยวันนี้มีหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนการผลิต การตลาด ปริมาณ คุณภาพต่าง ๆ และหลายประเทศที่เป็นประเทศเกษตรกรรมปลูกข้าวเช่นเดียวกับประเทศไทย ก็ได้มีการพัฒนาไปมากพอสมควร ซึ่งจะต้องนำมาเปรียบเทียบกับการทำงานของเราด้วย

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเห็นใจพี่น้องเกษตรกร ทั้งพืชไร่ พืชสวน ชาวไร่ชาวนาทั้งหมดที่รัฐบาลจะต้องดูแล โดยขณะนี้รัฐบาลได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาความยากจนรายครัวเรือน ซึ่งมีหลายอาชีพ หลายประเภท โดยจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและทยอยดำเนินการโดยเร็วที่สุด

รวมทั้งนายกรัฐมนตรีกล่าวให้ความสำคัญกับการวิจัย พัฒนาพันธุ์ และเทคโนโลยีการผลิตข้าว ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวปีงบประมาณ 2565 ด้านการผลิต ที่ขณะนี้มีความคืบหน้าในการรับรองพันธุ์ข้าวไม่น้อยกว่า 14 พันธุ์ พร้อมกำชับว่าในการดำเนินงานการใช้จ่ายงบประมาณทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายทุกประการ

สำหรับมติ นบข. ที่สำคัญ นบข. เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 และมอบหมายให้กระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 โดยกำหนดหลักการให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีของ ธ.ก.ส.ได้รับความคุ้มครองจากระบบการประกันภัยตามกฎของจำนวนมาก (Law of Large Numbers)

เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการในปีการผลิต 2559-2564 และคงรูปแบบการรับประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีส่วนร่วมในการรับภาระค่าเบี้ยประกันภัย เช่นเดียวกับโครงการในปีการผลิต 2564 ทั้งนี้ โครงการปีการผลิต 2565 มีหลักการและรายละเอียดในการรับประกันภัย อาทิ

ผู้รับประกันภัย : บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการตามกรมธรรม์/คุณสมบัติผู้เอาประกันภัย : เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวนาปี และปรับปรุงทะเบียนในปีการผลิต 2565/พื้นที่รับประกันภัย (พื้นที่รวมทั้งโครงการ 29 ล้านไร่) : การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) 28.5 ล้านไร่ แบ่งเป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 28 ล้านไร่ เกษตรกรทั่วไปไม่เกิน 5 แสนไร่ การรับประกันภัยร่วมจ่ายโดยสมัครใจ (Tier 2) ไม่เกิน 5 แสนไร่/งบประมาณ : สำหรับพื้นที่เอาประกันภัย 28.5 ล้านไร่ (อุดหนุนเบี้ยประกันภัยเฉพาะ Tier 1) จำนวน 1,925.065 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส.ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลและเบิกเงินชดเชยจากรัฐบาลตามจำนวนที่จ่ายจริงรวมกับต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาสบวก 1 ต่อปี ในปีงบประมาณถัดไป

โดยให้มีการปรับเปลี่ยนอัตราต้นทุนทางการเงินตามอัตราที่แท้จริงทุกไตรมาส/ระยะเวลาขายกรมธรรม์ : กำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการปีการผลิต 2565 และกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์แตกต่างกันตามภูมิภาค ดังนี้ (1) ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กลุ่มที่ 1) จำนวน 42 จังหวัด สิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 พ.ค. 65 (2) ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

(กลุ่มที่ 2) จำนวน 16 จังหวัด สิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 พ.ค. 65 (3) ภาคตะวันตก จำนวน 5 จังหวัด สิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย. 65 (4) ภาคใต้ จำนวน 14 จังหวัด สิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค. 65/การพิจารณาค่าสินไหมทดแทน : การประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562

นายธนกรกล่าวว่า นบข.รับทราบสถานการณ์ข้าวโลกและข้าวไทย สถานการณ์ข้าวโลก : การส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญในปี 2565 (ม.ค.-มี.ค.) อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 3.57 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ ไทย 1.76 ล้านตัน เวียดนาม 1.43 ล้านตัน ปากีสถาน 1.26 ล้านตัน และสหรัฐ 0.61 ล้านตันตามลำดับ

ทั้งนี้ การส่งออกข้าวไทยจำแนกตามชนิดข้าวปี 2565 (ม.ค.-ก.พ.) ไทยส่งออกข้าวขาวเป็นอันดับหนึ่งคิด เป็นสัดส่วนร้อยละ 53.64 ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย (ร้อยละ 24.555) ข้าวนึ่ง (ร้อยละ 9.09) ข้าวหอมไทย (ร้อยละ 6.36) ข้าวเหนียว (ร้อยละ 3.64) และข้าวกล้อง (ร้อยละ 1.82) ตามลำดับ ปริมาณการส่งออกข้าวทั้ง 6 ชนิด รวม 1.10 ล้านตัน

ซึ่งเป็นปริมาณการส่งออกที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยอันดับหนึ่ง คือ ภูมิภาคเอเชีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 35.45 ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ภูมิภาคแอฟริกา (ร้อยละ 21.82) ตะวันออกกลาง (ร้อยละ 20.00) อเมริกา (ร้อยละ 16.36) ยุโรป (ร้อยละ 3.64) และโอเชียเนีย (ร้อยละ 2.73) ตามลำดับ

ด้านแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในปี 2565 กรมการค้าต่างประเทศและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกไว้ประมาณ 7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.38 จากปริมาณการส่งออกปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและมีการบริโภคมากขึ้น

ประกอบกับคาดว่าน้ำฝนและน้ำในอ่างเก็บน้ำในปีนี้มีปริมาณเพียงพอต่อการเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ราคาข้าวไทยในปี 2565 อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียได้รับการฟื้นฟู ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีทางการค้าข้าวของไทย

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางการขนส่งเพิ่มขึ้นใหม่อย่างเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกในการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนท่ามกลางปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและระวางเรือ อีกทั้งยังคาดว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยมากนัก โดยอุปสรรคหลักของการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ยังคงเป็นปัญหาค่าระวางที่ปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

นายธนกรกล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยปี 2565 (ม.ค.-ก.พ.) ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณ 1.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.41 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ประมาณ 5 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้ประเทศผู้นำเข้าหันมานำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น

ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาข้าวโพดและข้าวสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้น จึงทำให้มีการหันมานำเข้าข้าวหักจากไทยเพื่อนำไปใช้ทดแทนข้าวโพดหรือข้าวสาลีในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ผู้นำเข้าบางส่วนยังเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวเพื่อสำรองไว้ เนื่องจากมีความกังวลจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย–ยูเครน

สถานการณ์ข้าวไทย 1) การผลิต การบริโภค การส่งออก และสต๊อกข้าวไทย : ผลผลิตข้าวไทยปี 2564/65 คาดว่าผลผลิตข้าวไทยจะมีประมาณ 21.16 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 0.54 ล้านตันข้าวสาร หรือร้อยละ 2.62 จากปีการผลิต 2563/64 ที่มีปริมาณ 20.62 ล้านตันข้าวสาร เนื่องจากในฤดูกาลทำนาปรังปี 2565 สภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การบริโภคข้าวไทยปี 2564/65 ที่คาดว่าจะมีประมาณ

11.50 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 0.09 ล้านตันข้าวสาร หรือร้อยละ 0.78 จากปี 2563/64 ที่มีปริมาณ 11.59 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งค่อนข้างทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา การส่งออกข้าวไทย ปี 2564/65 ส่งออกข้าวได้ปริมาณ 6.12 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 0.39 ล้านตันข้าวสาร หรือร้อยละ 6.81 จากปี 2563/64 ที่ส่งออกได้ปริมาณ 5.73 ล้านตันข้าวสาร

โดยมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ สต๊อกข้าวไทยปลายปี 2564/65 คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 4.58 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 0.30 ล้านตันข้าวสาร หรือร้อยละ 7.01 จากปี 2563/64 ที่มีปริมาณ 4.28 ล้านตันข้าวสาร

2) การเพาะปลูกข้าวปี 2564/65 รอบที่ 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวที่ 60.25 ล้านไร่ ผลผลิต 25.25 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ปี 2564/65 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี 62.60 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.26 พื้นที่เก็บเกี่ยว 59.14 ล้านไร่ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.58 และผลผลิต 26.02 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.51 รอบที่ 2 กษ.กำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวที่ 9.03 ล้านไร่ ผลผลิต 5.41 ล้านตันข้าวเปลือก

โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ปี 2564/65 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง 10.11 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 21.22 พื้นที่เก็บเกี่ยว 10.07 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 21.18 และผลผลิต 6.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 22.98 โดยผลผลิตข้าวนาปรังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

3) ผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 รอบที่ 1 มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 4,678,876 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 101.74 ของเป้าหมาย 4,600,000 ครัวเรือน พื้นที่ 62.70 ล้านไร่ รอบที่ 2 มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 396,299 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 99.07 ของเป้าหมาย 400,000 ครัวเรือน พื้นที่ 6.36 ล้านไร่ (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ณ 7 เม.ย. 65)

4) สถานการณ์ด้านราคา ณ วันที่ 25 เม.ย. 65 ข้าวเปลือกหอมมะลิ 12,500-13,800 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 12,000-13,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว 9,000-10,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 8,400-9,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี 10,500-11,500 บาท/ตัน

5) แนวโน้มสถานการณ์ด้านราคาข้าว ปัจจัยบวกได้แก่ (1) ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และ (2) สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้อุปสงค์กลับมาฟื้นตัว ปัจจัยลบ ได้แก่ ค่าระวางเรือปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวได้