ประยุทธ์ ตั้งเป้ารายได้ต่อหัวคนไทย 3 แสนบาทต่อปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) PHOTO : THAI ROYAL GOVERNMENT/
PHOTO : ROYAL THAI GOVERNMENT /

นายกฯ เผย ครม.เห็นชอบแผนพัฒน์ ฉบับที่ 13 ตั้งเป้ารายได้ประชาชาติต่อหัว 3 แสนบาทต่อปี

วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570 เพื่อทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นายกรัฐมนตรีระบุว่า เรามีการออกแบบแผนนี้มาจากฐานคิด 4 ประการ 1.เศรษฐกิจพอเพียง 2.ความสามารถในการที่จะล้มแล้วลุกให้ไว เดินไปข้างหน้าให้ได้ 3.เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และ 4.การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว

ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของแผนฯฉบับที่ 13 มีหลัก 5 ประการ 1.การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม 2.การพัฒนาคนสู่โลกยุคใหม่ 3.การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม 4.การเปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืน และ5.การเสริมสร้างความสามารถของไทยในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้โรคอุบัติใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นี่คือแนวทางในการบริหารประเทศต้องเป็นแบบนี้ เพราะทุกคนเกี่ยวพันกันไปหมด เราต้องหาปัญหาให้เจอและหาวิธีการ วางแผนงาน ค่าใช้จ่าย งบประมาณต่างๆให้พอเพียงไปด้วย เราก็ตั้งเป้าว่าจะทำยังไงจากแผนฉบับนี้ ทำให้รายได้ประชาชนต่อหัวอยู่ที่ 3 แสนบาท ต้องพยายามอย่างยิ่งยวด แต่ขีดความสามารถของคนทั้ง 8 ด้าน อยู่ในระดับสูง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ในระดับที่สูง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ได้มีการชี้แจง ความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ในการหาข้อมูลว่าจะมีการพุ่งเป้าไปสู่รายครัวเรือนได้อย่างไร

กระทรวงมหาดไทยได้มีการรวบรวมข้อมูลมาแล้ว จำนวน 6 แสนกว่าครอบครัว ที่จะต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษก่อน ในเรื่องของความยากจน 5 มิติ ประกอบด้วย รายได้ ที่อยู่อาศัย การศึกษา การเข้าถึงบริการประชาชน และเรื่องของสุขภาพ ก็ต้องมาดูว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงนี้ได้อย่างไร และได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงที่มีหน้าที่โดยตรงไปดูว่าจะปรับแก้

แผนงานโครงการต่างๆได้หรือไม่ในการเข้าไปดูแลให้มากยิ่งขึ้น โดยเราเริ่มตั้งแต่ปี 2565 ให้ได้ตามนโยบาย ในการบริหารแบบพุ่งเป้า แก้ปัญหาความยากจนรายครัวเรือนตาม Agri-Map หรือ ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกที่มีอยู่ รวมทั้งการส่งคนลงไปเดินเช็กว่าทำได้จริงหรือไม่ยังมีการขาดแคลนตรงไหน และใครจะมีส่วนที่จะเข้าไปแก้ไข