ประยุทธ์ปิดคดีฟิลลิป มอร์ริส ระงับข้อพิพาทการค้าไทย-ฟิลิปปินส์ก่อนบินอเมริกา

ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์สื่อหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2565

ข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทย กับบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) เรื่องสำแดงต้นทุนนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ และมีการฟ้องร้องกันเป็นมหากาพย์-ไตรภาค ทั้งต่างประเทศและในประเทศกว่า 15 ปี สิ้นสุดลง ภายในระยะเวลาไม่ถึง 5 ชั่วโมง ก่อนนายกฯไปสหรัฐ 12-13 พ.ค.นี้ 

ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นั่งหัวโต๊ะ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 มีมติเห็นชอบลงนามร่าง Understanding Between The Philippines and Thailand on agreed procedures towards a comprehensive settlement of the dispute in Thailand-customs and fiscal measures on cigarettes from the Philippines (WT/DS371)

หรือร่างความเข้าใจระหว่างฟิลิปปินส์และไทย เกี่ยวกับข้อตกลงร่วมกันในขั้นตอนการยุติข้อพิพาทในประเทศไทยอย่างครอบคลุม ภายใต้มาตรการศุลกากรและการคลังที่เกี่ยวกับกรณีของบุหรี่จากฟิลิปปินส์

โดยสาระสำคัญคือ ฟิลิปปินส์จะไม่ขอใช้สิทธิ์ตอบโต้ทางการค้ากับไทยเพิ่มเติมอีก และการสืบสวนสอบสวนใด ๆ จะอยู่ภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งไทยตกลงว่าจะทำตามข้อตกลงดังกล่าวนี้ด้วย

เป็นวาระลับ-ริมแดง ไม่มีการแถลงข่าว-ไม่มีเอกสารแจก มีเพียงรายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.ว่า “จบลงด้วยดี” เป็นการ “ปิดคดี” มหากาพย์ฟิลลิป มอร์ริส

ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-อาเซียน ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

ไทม์ไลน์มหากาพย์คดีฟิลลิป มอร์ริส

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เคยฉายภาพ-ลำดับเวลา “คดีมหากาพย์” ในสภาเมื่อครั้งพรรคฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณีแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมใน “คดีฟิลลิป มอร์ริส” เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส นำเข้าบุหรี่จาก 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อนำมาจำหน่ายในไทยตั้งแต่ปี 2540-2550

แต่ในปี 2549 อธิบดีกรมศุลกากรในสมัยนั้นร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ว่า บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส “สำแดงภาษีอันเป็นเท็จ” กรณีนำเข้าบุหรี่จากมาเลเซียจนต่อมาถูกสั่งปรับ

อย่างไรก็ตาม ต่อมา บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ได้นำเข้าบุหรี่จากฟิลิปปินส์ ซึ่งต่อมา “พลเมืองดี” ได้แจ้งต่อ DSI ไปดำเนินคดีข้อหา “สำแดงราคาเท็จ” ตามความผิด พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับปี 2469 มาตรา 27

“คดีที่เกิดขึ้นนั้น ผมอยากจะเรียกว่ายาวเป็นมหากาพย์หลายเรื่อง เรื่องแรก เป็นคดีในเมืองไทย เรียกแบบไทย ๆ ยาวเหมือนขุนช้างขุนแผน เรื่องที่สอง เกิดที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 125 สมาชิกและลงนามผูกพันภาษีศุลกากรเอาไว้ เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีใน WTO เรียกว่ายาวเป็น รามเกียรติ์

“เป็นอีกเรื่องนะ เพราะภายหลังจะเกิดอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวพันกับอินโดนีเซีย เรียกว่า เรื่องนั้นยาวพากับอิเหนา กลายเป็น 2 เรื่อง 3 เรื่องที่ซ้อนกันอยู่ คราวเดียวกัน แต่แตกออกเป็น 3 คดีใหญ่ ๆ” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายรัฐบาลลุงตู่เล่าไว้

วิษณุ เครืองาม
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงกรณีฝ่ายค้านอภิปรายกล่าวหาสมคบเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2563 (ภาพจากข่าวสด)

คดีนอกประเทศ (คดีรามเกียรติ์)

สำหรับคดีแรกที่รองนายกฯวิษณุกล่าวถึง ไล่เรียงช่วงเวลาได้ ดังนี้

  1. พ.ศ. ฟิลิปปินส์ฟ้องไทย ต่อ WTO ข้อหาผิดข้อตกลงระหว่างประเทศ (CVA) 14 ข้อหา
  2. พ.ศ. 2553 WTO ให้ไทยแพ้ (แพ้ครั้งที่ 1) ผลฟิลิปปินส์ตอบโต้ทางการค้าได้ นายวิษณุใช้คำว่า สงครามการค้าระหว่างฟิลิปปินส์กับไทย ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ไทยได้อุทธรณ์
  3. พ.ศ. 2554 WTO ให้ไทยแพ้ชั้นอุทธรณ์ (แพ้ครั้งที่ 2)
  4. พ.ศ. 2558 WTO สั่งว่าไทยยังไม่ทำตามคำตัดสิน (แพ้ครั้งที่ 3)
  5. พ.ศ. 2561 WTO สั่งให้ไทยแพ้ (แพ้ครั้งที่ 4)
  6. ไทยอุทธรณ์ (สุดท้าย) (ครั้งที่ 5)

คดีในประเทศ (คดีขุนช้างขุนแผน)

สำหรับคดีในประเทศ ไล่เรียงช่วงเวลาได้ ดังนี้

  1. พ.ศ. 2553 อัยการสั่งไม่ฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ต่อศาลไทย
  2. วันที่ 18 มีนาคม 2554 ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น
  3. พ.ศ. 2556 อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง บ.ฟิลลิป มอร์ริส แต่ยังไม่ฟ้อง เพราะคดียังไม่ขาดอายุความ
  4. พ.ศ. 2557 คสช.เข้ามา
  5. วันที่ 18 พฤษภาคม 2558 ประธานบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส สำนักงานใหญ่ (PMI) ทำจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช.และ คสช.ทุกคนในขณะนั้น รวมถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวง
  6. วันที่ 9 มิถุนายน 2558 เรียกประชุม 28 หน่วยงาน ซึ่งเป็นต้นตอของการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจกล่าวหาก้าวก่ายแทรกแซงคดีฟิลลิป มอร์ริส
  7. มกราคา 2559 สำนักงานอัยการสูงสุดยื่นฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ศาลอาญา
  8. พฤศจิกายน 2562 ศาลอาญาตัดสินให้บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส จ่ายค่าปรับ 1,225 ล้านบาท

ดึงเกมฟ้องศาลไทย ใส่มือประยุทธ์

“วิษณุ” ยังเปิดที่มา-ที่ไปถึงการเรียกประชุม 28 หน่วยงานเพื่อให้ได้ข้อสรุปคดีฟิลลิป มอร์ริส และยอมรับกลาย ๆ ว่า ต้องมีคำตอบใส่ไว้ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อตอบคำถามคู่กรณีที่ต้องไปพบกัน โดยไม่ได้นัดหมายในอีก 2 เดือนข้างหน้า

ภายหลังประธานบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส สำนักงานใหญ่ (PMI) ทำจดหมายถึง “พล.อ.ประยุทธ์”

“ใจความตรงกันใหม่ คือ ประธานใหญ่ฟิลลิป มอร์ริส ลงมือแสดงเอง และร้องมาว่า ประเทศไทยแพ้คดีใน WTO ซ้ำซากมาแล้ว 3 ครั้ง แล้วยังไม่ดำเนินการอะไร ซึ่งขณะนั้นคดีในไทยยังไม่ได้ยื่นฟ้องศาล ขอให้รัฐบาลช่วยด้วย

“ซึ่งถ้าให้ผมเดาที่ส่งจดหมายไปถึงหัวหน้า คสช.คงอยากจะให้ใช้มาตรา 44 ซึ่งไม่ได้ใช้ และที่ทำจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ผมเดาว่า เขาคงจะอยากให้ใช้บารมี อิทธิพลอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้คดีนี้ปัดเป่าให้พ้นไปโดยไม่ต้องฟ้อง เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเขาเข้าตาจนเขาก็ต้องดินรนอย่างนั้น”

นายวิษณุออกตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ ว่า แต่จดหมายที่เขียนมานั้น ท่านนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ อ่านแล้ว ท่านก็งง เพราะท่านไม่เคยรู้เรื่องฟิลลิป มอร์ริสมาก่อน

ท่านแทงท้ายหนังสือของประธานฟิลลิป มอร์ริสว่า ให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรมในขณะนั้น และตน ไปตรวจสอบว่า เขาร้องเรียนเรื่องอะไร ซึ่งก็ยังไม่มีใครทำอะไร เพราะไม่เข้าใจว่า เรื่องเป็นมายังไง

“ต่อมาสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้งมาว่า อีก 2-3 เดือนต่อจากนี้ นายกรัฐมนตรีมีราชการที่จะบินไปประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กลับมาแล้วต้องบินไปประชุมอาเซียน

“มีความเป็นไปได้สูงว่าการบินไปประชุมที่นิวยอร์กและอาเซียน บังเอิญว่าต้องพบกับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และนายวิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross) รัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐ เพราะเขาขอพบ และเป็นไปได้ที่จะพบกับประธานใหญ่ฟิลลิป มอร์ริส อเมริกา

“เป็นไปได้ว่า คน 3 คนนี้ คือ ประธานาธิบดีอเมริกา ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ และประธานฟิลลิป มอร์ริส คงจะยกประเด็นฟิลลิป มอร์ริสถูกฟ้องในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นอัยการสูงสุดยังไม่ได้ยื่นฟ้อง แค่สั่งฟ้อง และคดีที่เราแพ้ 3 ครั้งใน WTO ขึ้นมา

“สำนักเลขาธิการนายกฯ จึงแจ้งมาว่า ที่นายกฯเคยสั่งให้ รมว.ยุติธรรมและตนไปหารือกัน หารือกันไปถึงไหนแล้ว เตรียมคำตอบใส่มือนายกฯ ไปเจอคนพวกนี้ด้วย เพราะจะไปแล้วในอีก 2 เดือนข้างหน้า” รองนายกฯวิษณุเล่าที่มาที่ไป ร่างความเข้าใจระหว่างฟิลิปปินส์และไทย ที่ออกมาจาก ครม.เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา

เบื้องหลังฟ้องอาญา

นายวิษณุชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่ คสช.-พล.อ.ประยุทธ์ ที่สวมหมวกนายกฯ-หัวหน้า คสช.ในขณะนั้นต้องเรียกประชุม 28 หน่วยงานเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 เป็นประธานด้วยตัวเอง โดยใช้ตึกบัญชาการ 1 ห้อง 302 เป็นสถานที่ประชุม ซึ่งเคยเป็นห้องประชุมที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจคดีฟิลลิป มอร์ริสเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ในการประชุมวันที่ 9 มิถุนายน 2558 มีวาระการประชุม 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ไล่เรียงข้อเท็จจริง 2.ประเมินมูลค่าความเสียหาย หากถูกฟิลิปปินส์ตอบโต้ และ 3.ฟ้อง หรือไม่ฟ้อง

“หลังจากนั้น 6 เดือน ไม่มีการประชุมกันอีกเลย ต่อมาอัยการยื่นฟ้องบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ในเดือน ม.ค. 2559 ต่อศาลอาญาในประเทศไทย สาเหตุที่ไม่ฟ้องเลย มาจากมติในที่ประชุมเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.บอกว่า ไม่ต้องรีบ เพราะต้องดึงใบขนที่ขาดอายุความออก เพื่อไม่ให้เสียรูปคดี ดึงใบขนที่ใช้ใน WTO ออก เพื่อจะได้เคารพ WTO ที่เราตัดสินใจฟ้องเพราะคนละคดีกับ WTO จึงต้องใช้เวลาดึงใบขนกว่า 200 ใบออกมา”

“ก่อนที่จะฟ้อง ผมได้นำเรื่องนี้รายงานต่อ คสช.ว่า ถ้าฟ้องจะเสี่ยงอย่างนี้ ถ้าไม่ฟ้องก็จะเสี่ยงอีกอย่างหนึ่ง คสช.ชั่งน้ำหนักแล้วบอกให้เดินหน้าไปตามปกติ”

นายวิษณุยังให้เหตุผลที่ คสช.ยกขึ้นมาให้เดินหน้าฟ้องไปตามปกติ ประกอบด้วย 1.ต้องปกป้องสุขภาพคนไทย อย่าไปส่งเสริม โดยเฉพาะยาสูบนอก 2.ต้องการปกป้องธุรกิจยาสูบของไทย คือ โรงงานยาสูบอยู่รอด 3.ปกป้องกฎหมายไทย และ 4.ปกป้องความรู้สึกดี ๆ ของคนไทย

ขณะนั้น หมอมีบทบาทสูงในการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่และมีจดหมายมาถึงรัฐบาลทุกวัน

การตัดสินใจฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ต่อศาลอาญาในเดือน ม.ค. 2559 และต่อมาเดือน พ.ย. 2562 ศาลอาญาตัดสินว่า บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส มีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 27 (มาตรา 242) ปรับ 4 เท่าของภาษีที่หลีกเลี่ยง หรือ 1,225 ล้านบาท

“ผมได้รับรายงานเมื่อ 7 วันที่ผ่านมาว่า บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ได้นำเงิน 1,225 ล้านบาทไปวางศาลแล้ว แต่เขาจะอุทธรณ์ก็ชั่งเขา ขณะนี้ยังไม่มีใครยื่นอุทธรณ์ อัยการก็คิดจะอุทธรณ์เหมือนกัน”

นายวิษณุกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ยังนำเข้าบุหรี่จากประเทศอินโดนีเซียด้วย ซึ่งไทยยื่นฟ้อง อีก 1 คดี ซึ่งศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา “คดีอิเหนา” ในเดือน มี.ค. 2563 นายวิษณุเรียกว่า “คดีฟิลลิป มอร์ริส ภาค 2”

ขณะเดียวกัน บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ยังมีการนำเข้าบุหรี่ในปี 2551-2553 ซึ่งสำแดงราคาเหมือนเดิม เรียกว่า “คดีฟิลลิป มอร์ริส ภาค 3”

เบื้องลึกประยุทธ์ยุติข้อพิพาท

นายวิษณุไขความกระจ่าง เหตุใดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในยุค คสช.จึงต้องตื่นเต้นกับจดหมายของประธานใหญ่ฟิลลิป มอร์ริส เนื่องจากบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ระบุในจดหมายว่า ไทยแพ้คดีใน WTO (หน่วยงานใน WTO เรียกว่า DSB : Dispute Settlement Body) แล้ว 3 ครั้ง แต่มาถึงวันนี้ แพ้ไปแล้ว 4 ครั้ง

“อุปมาอุปไมยเหมือนแพ้ในศาลโลก แต่ความจริงไม่ใช่ศาล ประเด็นสำคัญต่อไปก็คือ ขณะนั้นนายกฯกำลังจะไปสหประชาชาติและไปอาเซียน จะไปเจอประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ จะไปเจอกับรัฐมนตรีพาณิชย์ของอเมริกา ถ้าเขายกเรื่องนี้ขึ้น เราจะเอาอะไรไปพูดกับเขา คำร้องของฟิลลิป มอร์ริสจึงมีน้ำหนัก”

นายวิษณุกล่าวว่า ที่สำคัญที่สุด ที่น่ากลัว ก็คือว่า ขณะที่จุดยืนของไทย ตั้งแต่วันโน้น จนกระทั่งถึงวันนี้ จุดยืนของไทยก็คือ คดีฟิลลิป มอร์ริสในประเทศไทย เป็นคดี เมดอินไทยแลนด์ คดีไทย คดีฟิลลิป มอร์ริสที่เจนีวาใน WTO เป็นคดีรามเกียรติ์ไปว่ากันคนละเรื่อง โจทย์คนละคน จำเลยคนละคน

เพราะใน WTO จำเลย คือ ประเทศไทย แต่จำเลยในศาลไทย คือ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส กฎหมายก็คนละฉบับ เราถือว่าไม่เกี่ยวกัน เดินคู่ขนานกันไป นี่คือจุดยืนประเทศไทย แต่จุดยืนฟิลิปปินส์ไม่อย่างนั้น ไปประกาศว่าเป็นเรื่องเดียวกัน

จุดยืน WTO ดันไปเห็นด้วยกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ แล้วจะไม่ให้เรียกประชุม 28 หน่วยงานได้ยังไง เพราะเรื่องมันใหญ่เท่ากับจะเกิดสงครามการค้าตอบโต้กัน แต่มันไม่หายนะอย่างนั้นหรอก ยังมีปัญญาจะสู้อีก ยังมีช่องทางของ WTO

นายวิษณุชี้แจงว่า อีกสาเหตุที่ต้องพิจารณาคำร้องของฟิลลิป มอร์ริส และน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด คือ เกรงว่า ถ้าประเทศไทยแพ้ซ้ำ แพ้ซาก WTO อีก และถ้าเขาตอบโต้จริง มูลค่าความเสียหายจะสูงมาก

การประชุมในวันนั้น จึงได้ข้อสรุป เสนอท่านนายกฯไปว่า รัฐบาลควรจะดำเนินคดีในศาลไทยต่อไปตามปกติ แล้วไปหาทางเจรจากับฟิลิปปินส์

โดย คสช.และรัฐบาลจะไม่ร้องขอใด ๆ ไปยังอัยการ ทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายเปิดทางให้ร้องขอได้

“การฟ้องบริษัทบุหรี่ ว่า ทำผิดกฎหมาย เอาบุหรี่เข้ามาสำแดงราคาอันเป็นเท็จ มันเกี่ยวอะไรกับผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ อันที่จริงมันไม่น่าจะเกี่ยว แต่มันจะเกี่ยวขึ้นมาก็เพราะว่า ขณะที่เราตั้งหลักว่า คดีฟิลลิป มอร์ริสเป็นคดีในศาลไทย กฎหมายไทย ไม่เกี่ยวอะไรกับเมืองนอก

“แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์เขาบอกว่า เกี่ยวและ WTO ก็บอกว่า เกี่ยว คงทึกทักเอา แต่ความเห็นเราฝ่ายเดียวไม่ได้ มันก็เลยมีผลประโยชน์ของชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วถ้าในวันนั้น เราก็แพ้คดีใน WTO แล้วหลายครั้ง วันนี้แพ้มาแล้ว 4 ครั้ง แล้วรอครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย

“ที่สำคัญ ถ้าเราแพ้ และเขาตอบโต้เราจริง ตัวเลขออกมาแล้ว เขาจะตอบโต้เราได้ เท่าจำนวนความเสียหายที่เขาหรือพลเมืองของเขาได้รับ แปลว่า เราปรับฟิลลิป มอร์ริสเท่าไหร่ เขาจะใช้เท่านั้นเป็นฐานในการไปเล่นงานเรา ไม่ใช่มาปรับเรา แต่สินค้าใดที่เราส่งไปขายฟิลิปปินส์ เขาจะขึ้นภาษีจนสะสมได้จำนวนเท่าความเสียหายที่เขาได้รับ

“ภาษีจากเคยถูกมันจะแพง พี่น้องส่งออกจะเดือดร้อนยังไง คือ ปัญหาที่เกิดขึ้น และเรียกว่า ผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ”

5 สถานะคดีฟิลลิป มอร์ริส

นายวิษณุยังได้ระบุถึงสถานภาพของคดีฟิลลิป มอร์ริสทั้งหลายในโลก ทั้งในเมืองไทยและเจนีวา ว่า มีอยู่ 5 สถานะ

  1. วันนี้ไทยแพ้คดีมาแล้ว 4 ครั้ง อยู่ระหว่างอุทธรณ์ไปยังองค์กร AB (abpilet body) เป็นองค์กรสุดท้าย ที่ 5 จบ แล้วจบเลย คาดว่าจะใช้เวลาเป็นปีกว่าจะตัดสิน (อุทธรณ์แล้วแต่ยังไม่ตัดสิน)
  2. ฟิลิปปินส์จะตอบโต้ทางการค้ากับไทย โดยไม่รอผลอุทธรณ์
  3. ศาลไทยได้สั่งปรับ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสแล้ว 1,225 ล้านบาท อยู่ระหว่างจะมีการอุทธรณ์และกำลังจะมีภาคสอง – ภาคสาม
  4. ค่าปรับ 1,225 ล้านบาท คิดจากฐาน พ.ร.บ.ศุลกากรแก้ไขใหม่ในปี 2560 (ภาษีที่ต้องเสีย คือ 306,497,667 x 4 เท่า=ค่าปรับ 1,225 ล้านบาท) จ่ายค่าสินบนนำจับ 367 ล้านบาท ให้ “พลเมืองดี”
  5. หากใช้กฎหมายศุลกากรฉบับเก่าปี 2489 ศาลจะต้องปรับฟิลลิป มอร์ริส 8.4 หมื่นล้านบาท แต่ต้องจ่ายค่าสินบนนำจับ 2.4 หมื่นล้านบาทให้ใครก็ตามที่เป็น “พลเมืองดี”

“ไม่ใช่การแก้กฎหมายเพื่อรองรับฟิลลิป มอร์ริส กรมศุลกากรดำเนินการแก้มาตั้งแต่ปี 2550 จ่อเข้าสภา แต่ยุบสภาก่อน กฎหมายมีอันตกไป จนกระทั่ง คสช.เข้ามา แต่รื้อกฎหมายศุลกากรทั้งฉบับ เพื่อรองรับ AEC และ AFTA กว่าจะมีผลบังคับใช้จริง ๆ ในเดือน พ.ย. 2560 แต่คดีฟิลลิป มอร์ริสฟ้องกันตั้งแต่ปี’59 ซึ่งศาลตัดสินเดือน พ.ย. 62 จึงต้องใช้กฎหมายใหม่ (รูป)”

ส่งออกไทยไปฟิลิปปินส์ปี 2564 กว่า 7 พันล้านเหรียญ

นายวิษณุอ้างอิงข่าวจากสื่อไทยชิ้นหนึ่งที่อ้างว่า ฟิลิปปินส์จะใช้ฐานในการตอบโต้ทางการค้าต่อรัฐบาลไทย จำนวน 17,800 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมแรกที่จะโดนหางเลขก่อนเพื่อนคือ รถยนต์

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า การส่งออกไทยไปยังฟิลิปปินส์ปี 2563 มีมูลค่า 5,056 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2564 มีมูลค่า 7,067 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์ ปี 2563 มีมูลค่า 3,020 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2564 มูลค่า 3,815 ล้านเหรียญสหรัฐ

สรุปการค้าระหว่างไทย-ฟิลิปปินส์ ในปี 2564 ไทยได้เปรียบดุลการค้าฟิลิปปินส์ เป็นมูลค่า 3,252 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้า 5 อันดับที่ไทยส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ ในปี 2564 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 1,696 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 45.86 จากปี 2563 รองลงมา ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว

ส่วนการนำเข้าสินค้า 5 อันดับแรกจากฟิลิปปินส์ ในปี 2564 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ มีมูลค่าสูงสุด 947 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.35 จากปี 2563 รองลงมา ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ตามลำดับ

ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) รายได้โตทะลุ 3 หมื่นล้าน

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2544 ทุนจดทะเบียน 108.5 ล้านบาท ระบุชื่อ นายเจอรัลด์ พอล มาร์โกลีส เป็นกรรมการ

รายงานงบกำไรขาดทุน ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา จนถึงปี 2560 ขาดทุนติดต่อกัน 4 ปี

อย่างไรก็ตาม 3 ปีหลัง พบว่า มีรายได้รวมและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังนี้
ปี 2563 รายได้รวม 30,400 ล้านบาท กำไรสุทธิ 620 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้รวม 31,231 ล้านบาท กำไรสุทธิ 591.9 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้รวม 49.2 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 39.8 ล้านบาท