สรุปขั้นตอนใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก. บัตรสีอะไร ใช้กาแบบไหน

บัตรเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม สก

สรุปขั้นตอนการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. มีบัตรกี่ใบ เลือกผู้แทนประเภทไหนใช้บัตรสีอะไร มีข้อห้ามอะไรบ้างที่ต้องรู้ก่อนเข้าคูหา

การใช้สิทธิใช้เสียงของประชาชนคนไทยในการเลือกผู้แทนถูกเว้นว่างในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ปี 2565 อย่าง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ แน่นอนว่าต้องมีทั้งผู้ที่เคยใช้สิทธิและผู้ที่ยังไม่เคยใช้สิทธิ จึงอาจต้องมีการทบทวนขั้นตอน และกติกาที่ต้องรู้ก่อนเข้าคูหา

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมขั้นตอนการใช้สิทธิเลือกตั้งที่ต้องรู้ จะต้องทำอย่างไรบ้างเมื่อเข้าคูหา และการเลือกตั้งในครั้งมี มีการกำหนดสีของประเภทบัตรเลือกตั้งไว้อย่างไร

ขั้นตอนการเข้าคูหาเลือกตั้ง

ขั้นตอนที่ 1 : ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่ ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือบัญชีรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง

ขั้นตอนที่ 2 : แสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานที่ทางราชการออกให้ โดยต้องมีภาพถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ

ขั้นตอนที่ 3 : ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ และรับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ ในกรณีที่ย้ายเขตที่อยู่ใหม่ จะได้รับบัตรเลือกตั้งที่เขตที่อยู่ใหม่เพียงใบเดียว คือ บัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และจะต้องเดินทางไปยังเขตที่อยู่เดิมที่ได้ทำการเพิ่มชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ก.

ขั้นตอนที่ 4 : เมื่อเข้าคูหาแล้ว ให้ทำเครื่องหมายกากบาทลงในช่องหมายเลขผู้สมัครแบบเต็มช่อง

ขั้นตอนที่ 5 : เมื่อกากบาทเลือกหมายเลขผู้สมัครแล้ว ให้นำมาหย่อนลงหีบด้วยตนเอง โดยจะต้องหย่อนให้ถูกประเภทหีบด้วย

บัตรเลือกตั้งสีไหน ใช้เลือกอะไร

สำหรับการเลือกตั้งในครั้งจะมีบัตรเลือกตั้ง จำนวน 2 ใบ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดสีบัตรลงคะแนนของแต่ละประเภท ไว้ดังนี้

  • เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. : บัตรสีน้ำตาล
  • เลือกตั้งสมาชิกสภา กทม. : บัตรสีชมพู

ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งผู้ว่า กทม

ข้อห้ามในการเข้าคูหา

  1. ห้ามไม่ให้ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนน หรือพยายามออกเสียงลงคะแนน
  2. ห้ามจงใจทำให้บัตรเลือกตั้งของตนเองชำรุด เสียหายหรือทำให้เป็นบัตรเสีย หรือพยายามทำให้บัตรเสียเป็นบัตรที่ใช้ได้
  3. ห้ามผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการเลือกตั้ง
  4. ห้ามจัดหรือเล่นการพนันที่มีเดิมพันเกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง
  5. ห้ามหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีใดก็ตาม แม้จะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
  6. ห้ามใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งเพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง
  7. ห้ามขาย จำหน่าย แจกจ่าย หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้งในระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง
  8. ห้ามเรียก รับ หรือยอมรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครใด หรืองดเว้นไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด
  9. ห้ามทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง หรือเพื่อแกล้งให้ผู้สมัครผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  10. ห้ามจงใจทำเครื่องหมายอื่น หรือเขียนข้อความใดไว้ที่บัตรเลือกตั้งนอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนนเสียง
  11. ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากหน่วยเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่และอำนาจ

ไปใช้สิทธิไม่ได้ทำอย่างไร

ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิได้ จะต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน คือ ก่อนวันเลือกตั้งระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2565 และหลังวันเลือกตั้งระหว่างวันที่ 23-29 พฤษภาคม 2565