รัฐทุ่มเงินกู้ 4 หมื่นล้านฟื้นท่องเที่ยว รีดภาษีตัวใหม่โป๊ะรายได้คลัง

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

สุพัฒนพงษ์ ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เล็งทุ่มงบฯเงินกู้ 4 หมื่นล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก-ชนบท คล้ายมิยาซาวาฟันด์ อาคมเพิ่มประสิทธิภาพ-รีดภาษีตัวใหม่ ใจแข็ง ไม่ต่ออายุขยายเวลาลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง ชดเชยรายได้เข้ารัฐ

วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวถึงการใช้เงินกู้เยียวยาโควิด-19 ที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทว่า ก็ต้องดู ตอนนี้ยังรอดูจังหวะอยู่ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหนในช่วงนี้ ส่วนใหญ่ก็จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นโครงการที่กระจายสู่ชนบทคล้าย ๆ มิยาซาวาฟันด์ ให้เกิดการจ้างงานในระดับท้องถิ่น

“สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้ก็คือ บริบทของการเปิดประเทศ จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเราเพิ่มเปิดมาได้ระยะเวลาหนึ่ง ถ้าแนวโน้มมันดีขึ้น วิธีการคงไม่ได้เน้นเรื่องของการเยียวยา แต่จะไปช่วยในเรื่องการส่งเสริมสร้างความพร้อมให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวและบริการให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นในการรองรับ หรือให้บริการที่ดีขึ้นกับนักท่องเที่ยว เพื่อเสริมรายได้ให้กับประเทศ” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เชื่อว่าการท่องเที่ยวคงเข้ามาในจุดที่สำคัญ ๆ ก่อน เพราะฉะนั้นจังหวัดในเมืองรองทั้งหลายก็ต้องสร้างงานสร้างอาชีพให้เขา ซึ่งเรื่องนี้สภาพัฒน์กำลังดูอยู่ โดยเป็นระดับจังหวัดรวบรวมส่งขึ้นมา ซึ่งเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เงินกู้ที่เหลืออยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทที่เหลือ กำลังดูอยู่ว่าจะเลือกไปทางไหน ถ้าการเปิดประเทศของเราไปได้อย่างดี ซึ่งตั้งแต่เราเปิดประเทศมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1.2-1.3 ล้านคนแล้ว ยิ่งช่วงเดือนหลัง ๆ มาเยอะด้วย ถ้าเกิดแนวโน้มเป็นอย่างนี้ น่าจะไปทางบวก เน้นในเรื่องของการสร้างรายได้ เราจะมาดูว่า ทำอย่างไร ซึ่งเราทำหลายอย่าง

เช่น สินเชื่อให้ผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยวบริการได้เปิดตัว ได้ซ่อมแซม ได้สินเชื่อวงเงินไม่เยอะ ให้ผู้ประกอบการได้เปิดบริการเต็มที่เหมือนเดิม เราก็จะไปดูว่าจะเสริมตรงนี้ได้อย่างไร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว ดึงดูดให้เข้ามา

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า เงินกู้ที่ยังเหลืออยู่ 4 หมื่นล้านบาทอยู่ จะพิจารณาในเรื่องของการฟื้นฟูให้มาก โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างเสริมเศรษฐกิจฐานราก ฟื้นฟู เช่น การส่งเสริมอาชีพ การให้ความรู้ การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานล่างได้มีรายได้ของตัวเอง ปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี เช่น สวนทุเรียนสมาร์ทฟาร์มเมอร์

นายอาคมกล่าวถึงรายได้ที่รัฐสูญเสียไป 2 หมื่นล้านบาทจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ว่ารายได้จากแหล่ง 3 กรมจัดเก็บ คือ สรรพากร สรรพสามิต ศุลกากร และรายได้จากรัฐวิสาหกิจยังพอนำมาถัวเฉลี่ยกันไปได้

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับแผนการจัดเก็บภาษี มีแผนการจัดเก็บรายได้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ เช่น การเพิ่มช่องทางเสียภาษีออนไลน์ หรือภาษี e-Services ภาษีการค้าอีคอมเมิร์ซในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็มาอยู่ในระบบภาษี และเป็นภาษีตัวใหม่ที่มีการจัดเก็บ คือ ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี เพิ่มประสิทธิภาพให้ง่ายในการยื่นแบบการเสียภาษี


“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเก็บเหมือนเดิมแล้ว หลังจากสิ้นสุดในเดือนเมษายน มีบางพื้นที่เท่านั้นที่ยังขยายเวลา เช่น กทม.ขยายถึงเดือนกรกฎาคมก็ว่ากันไป หลายส่วนก็ยังเรียกร้องให้ลดอีก แต่เศรษฐกิจเริ่มดีแล้ว เพราะฉะนั้นอัตราการเก็บภาษีก็ควรกลับไปภาวะปกติ ตอนนี้ไม่มีลดภาษีแล้ว” นายอาคมกล่าว