เปิดยอดบริจาคเงิน 19 พรรคการเมือง “ประชาธิปัตย์” มากสุด 24 ล้าน

เงินบริจาคพรรคการเมือง

กกต. เผยรายชื่อ-ยอดเงินบริจาค 19 พรรคการเมือง พบ “ประชาธิปัตย์” รับมากสุด 24 ล้านบาท

วันที่ 27 มิถุนายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยบัญชีรายชื่อผู้บริจาคและจำนวนเงินที่บริจาคให้กับพรรคการเมือง รวม 19 พรรค ประจำเดือนเมษายน 2565 โดยมีรายละเอียดของแต่ละพรรค ดังนี้

    1. พรรคภูมิใจไทย ได้รับเงินบริจาค จำนวน 78 ราย รวมเป็นเงิน 12,050,000 บาท
    2. พรรคเสรีรวมไทย ได้รับเงินบริจาค จำนวน 10 ราย รวมเป็นเงิน 250,000 บาท
    3. พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเงินบริจาค จำนวน 56 ราย รวมเป็นเงิน 24,193,000 บาท
    4. พรรคประชาชาติ ได้รับเงินบริจาค จำนวน 1 ราย รวมเป็นเงิน 240,000 บาท
    5. พรรครักษ์ธรรม ได้รับเงินบริจาค จำนวน 2 ราย รวมเป็นเงิน 21,000 บาท
    6. พรรคก้าวไกล ได้รับเงินบริจาค จำนวน 20 ราย รวมเป็นเงิน 6,746,550.60 บาท
    7. พรรคภราดรภาพ ได้รับเงินบริจาค จำนวน 1 ราย รวมเป็นเงิน 30,000 บาท
    8. พรรคอนาคตไทย ได้รับเงินบริจาค จำนวน 1 ราย รวมเป็นเงิน 30,000 บาท
    9. พรรคกล้า ได้รับเงินบริจาค จำนวน 3 ราย รวมเป็นเงิน 1,090,000 บาท
    10. พรรคพลังปวงชนไทย ได้รับเงินบริจาค จำนวน 1 ราย รวมเป็นเงิน 31,830 บาท
    11. พรรคเป็นธรรม ได้รับเงินบริจาค จำนวน 4 ราย รวมเป็นเงิน 48,000 บาท
    12. พรรคไทยภักดี ได้รับเงินบริจาค จำนวน 2 ราย รวมเป็นเงิน 700,000 บาท
    13. พรรคไทยสร้างไทย ได้รับเงินบริจาค จำนวน 6 ราย รวมเป็นเงิน 873,000 บาท
    14. พรรคพลังประชารัฐ ได้รับเงินบริจาค จำนวน 6 ราย รวมเป็นเงิน 21,000,000 บาท
    15. พรรคเพื่อไทย ได้รับเงินบริจาค จำนวน 9 ราย รวมเป็นเงิน 20,000,000 บาท
    16. พรรคประชากรไทย ได้รับเงินบริจาค จำนวน 3 ราย รวมเป็นเงิน 110,000 บาท
    17. พรรคพลังสยาม ได้รับเงินบริจาค จำนวน 7 ราย รวมเป็นเงิน 350,000 บาท
    18. พรรคไทยสร้างชาติ ได้รับเงินบริจาค จำนวน 1 ราย รวมเป็นเงิน 150,000 บาท
    19. พรรคเศรษฐกิจไทย ได้รับเงินบริจาค จำนวน 10 ราย รวมเป็นเงิน 10,000,000 บาท

บริจาคเงินให้พรรคการเมืองทำอย่างไร

สำหรับการบริจาคเงินภาษีให้กับพรรคการเมือง เป็นไปตาม มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 โดยแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองพร้อมการยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปี โดยมีหลักเกณฑ์ และวิธีการ ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 176) ดังนี้

1. ผู้มีเงินได้เมื่อคำนวณภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.90/91 แล้วมีเงินภาษีที่ต้องชำระตั้งแต่ 100 บาท ขึ้นไป

2. ผู้มีเงินได้ที่มีสิทธิ์บริจาคต้องแสดงเจตนาไว้ในช่องที่กำหนดไว้ในแบบ ภ.ง.ด.90/91 โดยต้องระบุให้ชัดเจนว่า ประสงค์จะบริจาค หรือ ไม่บริจาค และระบุ รหัสพรรคการเมือง ที่ต้องการบริจาคหากไม่ระบุความประสงค์ หรือไม่ระบุรหัสพรรคการเมือง ถือว่าไม่ได้แสดงเจตนาบริจาค ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • ระบุรหัสพรรคการเมืองที่ต้องการบริจาคได้เพียง 1 พรรคการเมือง หากแสดงเจตนาเกินกว่า 1 พรรคการเมือง ถือว่า ไม่ประสงค์จะบริจาคให้พรรคการเมืองใด
  • เมื่อแสดงเจตนาบริจาคให้แก่พรรคการเมืองใดแล้ว ห้ามเปลี่ยนแปลง
  • พรรคการเมืองที่ผู้บริจาคจะแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้ได้ในปีภาษีใด จะต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนพรรคการเมืองในปีภาษีนั้น หากพรรคการเมืองที่แสดงความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้สิ้นสภาพ เลิก หรือยุบตามกฎหมายในปีภาษีใด ให้ถือเสมือนว่า ไม่มีพรรคการเมืองนั้นที่จะได้รับการแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีในปีภาษีนั้น

สามารถค้นหารหัสพรรคการเมือง ได้จากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง www.ect.go.th หรือจากเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th

3. การแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองตาม 2. ห้าม มิให้นำไปหักเป็นค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร

4. ผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิระบุการแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองในแบบ ภ.ง.ด.90/91 ให้ถือตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ฝ่ายที่มีเงินได้เป็นผู้ระบุความประสงค์ในแบบ ภ.ง.ด.90/91
  • กรณีสามีหรือภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และแยกยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 หรือรวมยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 แต่แยกคำนวณภาษี ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีสิทธิระบุความประสงค์ในแบบ ภ.ง.ด.90/91
  • กรณีสามีหรือภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และรวมยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 รวมทั้งรวมคำนวณภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิระบุความประสงค์ของตนเองในแบบ ภ.ง.ด.90/91 โดยกรอกรายละเอียดการคำนวณแยกรายการบุคคลใน “ใบแนบ ภ.ง.ด.90/91 ปีภาษี 2551 รายละเอียดคำนวณ ภ.ง.ด.90/91 แยกรายบุคคล กรณีคู่สมรสรวมคำนวณภาษี และบริจาคภาษีแก่พรรคการเมือง” (แล้วแต่กรณี)