“สมคิด” สั่ง 4 กระทรวง อุ้มสตาร์ตอัพ-เรียลเซ็กเตอร์ปั๊มจีดีพี

“สมคิด” ผนึก 4 กระทรวง แท็กทีมแบงก์ชาติ-ตลท.-ก.ล.ต. ตั้ง รมว.”สุวิทย์” ศูนย์กลางช่วยสตาร์ตอัพและผู้มีรายได้น้อย ดึงเครื่องยนต์เศรษฐกิจเคลื่อนต่อเนื่องพร้อมกันทุกตัว หลังจีดีพีไตรมาสแรกพุ่ง 4.8% มาร์เก็ตแคปมั่งคั่ง 17 ล้านล้าน ยกเครื่องประเทศยืนเด่นเป็นหมุดหมายนักธุรกิจทั่วโลก จับมือพันธมิตรจีน-ญี่ปุ่น-อเมริกา-ยุโรป เซตเกมประเทศไทย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม, วิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหามาตรการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ สตาร์ตอัพภาคการผลิต และกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้เศรษฐกิจภาพรวมขับเคลื่อนไปได้อย่างมีเสถียรภาพ และเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่องและยั่งยืน

นายสมคิดกล่าวตอนหนึ่งในระหว่างปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ “Game Changer…เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต” ที่หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” จัดขึ้นในวาระครบรอบ 42 ปี เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้สั่งการให้ ธปท. กระทรวงการคลัง และ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำมาตรการให้ประเทศไทยเป็น startup nation โดยการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างเศรษฐกิจของผู้ประกอบการรายใหม่ ผู้ประกอบการของคนหนุ่มสาว เพื่อให้เป็นการเติบโตอย่างทั่วถึง และยั่งยืน

“เพื่อทำให้ความมั่งคั่งก่อตัวมากขึ้นและยั่งยืนลงไปถึงเกษตรกร คนยากคนจน คนใช้แรงงานได้มีโอกาสสัมผัสความมั่งคั่งเหล่านี้ โดยการหามาตรการช่วยเหลือ เพื่อให้เป็น inclusive growth ครอบคลุมชนชั้นล่าง ชั้นกลาง”

กำลังผลิตโตทะลุ 72%

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “มีคำพูดตำหนิรัฐบาลว่า ทำเพื่อเอื้อธุรกิจ ไม่เอื้อเกษตรกร ขอถามกลับไปว่า ถ้าภาคเกษตรโตถึงร้อยละ 6.5 เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยหรือ ถ้าหากกำลังการผลิตขึ้นมาร้อยละ 72 ไม่มีผลทำให้การซื้อวัตถุดิบ การจ้างงานเลยหรือ การลงทุนจากต่างประเทศไม่มีผลจากการจ้างงานเลยหรือ การลงทุนต่างประเทศในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้เป็นพื้นฐานต่อไปในคนรุ่นข้างหน้า ไม่ได้มีผลต่อประชาชนรากหญ้าและเกษตรกรเลยหรือ การที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อใคร ถ้าไม่ใช่เพื่อคนยากคนจน คนด้อยโอกาส”

นายสมคิดกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลข GDP ไตรมาสแรก ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.8 บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจทุกเซ็กเตอร์ เป็นสัญญาณของเครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัวกำลังขับเคลื่อน และหากรักษาโมเมนตัมได้ดีจะทำให้เศรษฐกิจหมุนไปได้อย่างต่อเนื่อง

ไทย-หมุดหมายนักธุรกิจทั่วโลก

นายสมคิดกล่าวว่า ตัวเลขส่งออกเดือนเมษายนเติบโตร้อยละ 12 และเฉลี่ย 4 เดือน โตร้อยละ 11 ประเทศไทยจะเป็นดาวรุ่ง (rising star) ของภูมิภาค นักลงทุนต่างประเทศเดินทางมาไม่ขาดสาย

” หากรักษาโมเมนตัมจะทำให้เศรษฐกิจไทยโดดเด่นมากขึ้นเป็นลำดับ ในช่วงปลายปี 2557 GDP ของไทยคิดเป็นมูลค่า 13.2 ล้านล้านบาท 2 ปีผ่านไป หรือสิ้นปี 2560 GDP เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 15.4 ล้านล้าน ช่วงเวลาเพียง 2 ปี มูลค่า GDP เพิ่มขึ้น 2 ล้านล้าน เป็นความมั่งคั่งของประเทศ”

มาร์เก็ตแคป 17 ล้านล้าน

นายสมคิดกล่าวว่า ช่วงปลายปี 2557 ตัวเลขดัชนีตลาดหุ้นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ที่ 1,400 จุด ขณะนี้ 1,700 จุด จากปลายปี 2557 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) อยู่ที่ 13.2 ล้านล้าน ณ ขณะนี้มาร์เก็ตแคป 17.5 ล้านล้าน ภายในระยะเวลา 2 ปี มาร์เก็ตแคปโตขึ้น 4 ล้านล้าน คนชั้นกลางก็ได้ประโยชน์

“โลกกำลังเปลี่ยน บุญเก่ากำลังจะหมด มิหนำซ้ำในอนาคต บุญเก่าอาจเป็นตัวถ่วง ฉะนั้นต้องปรับเปลี่ยนเกมของตัวเอง โดยมี 5 ตัวแปร ได้แก่ ตัวแปรแรก การสร้างมูลค่า (value driven) ภาคการผลิตและบริการ โดยการสร้างคุณภาพ มาตรฐานและเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดนวัตกรรม โดยเฉพาะดีไซน์

จับมือจีน-ญี่ปุ่น-ยุโรป-อเมริกา

นายสมคิดกล่าวว่า ตัวแปรที่สอง การสร้างเศรษฐกิจของผู้ประกอบการรายใหม่ ผู้ประกอบการของคนหนุ่มสาว เพื่อให้เป็นการเติบโตอย่างทั่วถึง ยั่งยืน สร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยเป็น startup nation ตัวแปรตัวที่สาม สำคัญอย่างยิ่ง คือ เรื่องดิจิทัล โดยการสร้างพันธมิตรกับจีน ญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ฉะนั้น นโยบายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ การทรานส์ฟอร์มผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เป็นดิจิทัลเพื่อไม่ให้ตกกระแสโลก

นายสมคิดกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสพบผู้บริหารบริษัทกูเกิล รับผิดชอบภาคพื้นแปซิฟิกจะร่วมกับบริษัทไทย อาทิ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ทำโครงการ Google for Thailand เพื่ออบรมคนให้สามารถใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีความรู้ในการสร้างธุรกิจขึ้นมาผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อก้าวขึ้นเป็นสตาร์ตอัพให้ได้

สร้างเมืองใหม่รายจังหวัด

นายสมคิดกล่าวว่า ตัวแปรตัวที่สี่ การสร้างเข็มทิศสู่ตลาดใหม่ (new frontier) ในภาคธุรกิจบริการ เพื่อสร้างธุรกิจเล็ก ๆ ในห่วงโซ่ภาคการท่องเที่ยว ในอดีตการบริการเป็นภาคเล็ก การท่องเที่ยวเป็นตัวแถม ปัจจุบันภาคการผลิตเล็กกว่าภาคบริการ ภาคเอกชนต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน ถ้าไม่ทำจะประสบกับปัญหาการว่างงาน เพราะในอนาคตจะเข้าสู่การใช้เครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากขึ้น นอกจากนี้ยังได้หารือกับผู้ว่าการแบงก์ชาติ ให้ร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อคิดนโยบายเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของเรียลเซ็กเตอร์ด้วย ไม่ใช่แค่การดูเฉพาะไฟแนนเชียลเซ็กเตอร์

ตัวแปรที่ห้า การสร้างศูนย์กลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (city state) ไม่ให้ประเทศไทยรวยกระจุก สร้างเมืองใหญ่ในทุกจังหวัดเหมือนมณฑลของประเทศจีน เป็นเหตุผลให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเป็นรายกลุ่มจังหวัด ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน การสร้างรถไฟเพื่อเป็นโครงข่ายสร้างกิจกรรมจากการท่องเที่ยว

กลุ่ม CLMV โตทะลุ 7%

นายสมคิดกล่าวว่า ทั้งหมดเรียกว่าเป็น real game changer ที่ตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานข้อเดียว คือ ประเทศไทยต้องโดดเด่น หากวาดภาพตัวเองให้เป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศ CLMVT เป็นเส้นทางผ่าน One Belt One Road และยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

“ประเทศไทยต้องเสนอตัวเองในเวทีนานาชาติให้ชัดว่าจะเป็นศูนย์กลางของภูมิรัฐศาสตร์ ภายใน 5 ปี ตรงนี้จะเป็น growth area เพราะทุกประเทศใน CLMV มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเกินร้อยละ 7 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไต่ระดับจากร้อยละ 1 มาสูงสุดร้อยละ 4.8 ฉะนั้นต้องชูปมเด่นให้ต่างประเทศเห็นอนาคตว่า ประเทศไทยเป็นผู้ set game ของตัวเอง”

ทบทวน “มาตรการไม่เวิร์ก”

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ได้นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสตาร์ตอัพมาหารือ โดยพิจารณาว่ามาตรการส่งเสริมที่เคยให้ไปนั้นใช้ได้ผลหรือไม่ หรือตรงกับความต้องการของสตาร์ตอัพหรือไม่

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า นายสมคิดมอบหมายให้พิจารณาสนับสนุนสตาร์ตอัพ หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ว่า เหตุใดยังไม่เวิร์ก โดยจะให้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพ

จากการหารือกันในเบื้องต้น ระหว่างกระทรวงการคลัง ตลท. กรมสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธปท. ก็มีข้อเสนอให้จัดทำสนามทดสอบ (regulatory sandbox) ให้แก่สตาร์ตอัพเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันมาตรการทางภาษีก็ให้ไปมากแล้ว

“ตอนนี้กำลังทบทวนมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดสตาร์ตอัพใหม่ ๆ ส่วนหนึ่งก็คงต้องมีมาตรการจูงใจเพิ่มเติม ซึ่งคงไม่ใช่แค่เรื่องภาษี ต้องมีอีกหลายมาตรการตามมา ซึ่งที่ผ่านมาก็มีข้อเสนอว่าน่าจะทำแซนด์บอกซ์ขึ้นมา” แหล่งข่าวกล่าว

ปลุกแบงก์ปล่อยกู้เรียลเซ็กเตอร์

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า แนวคิดของนายสมคิด อยากเห็น ธปท.มีนโยบายสนับสนุนเรียลเซ็กเตอร์มากขึ้นนั้น ในฐานะที่ ธปท.กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ก็อยากให้หารือกับธนาคารพาณิชย์ให้มีการปล่อยกู้แก่เอกชนที่เป็นเรียลเซ็กเตอร์มากขึ้น เพื่อเร่งให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้น

“พวกอุตสาหกรรมต่าง ๆ แทนที่จะไปเล่นหุ้น ทำกำไร ก็ควรจะมีการลงทุนเรียลเซ็กเตอร์มากขึ้น โดยแบงก์ชาติก็คงต้องไปคุยกับแบงก์พาณิชย์ให้เร่งปล่อยให้กลุ่มนี้ เพื่อให้การลงทุนภาคเอกชนเกิดมากขึ้น” นายอภิศักดิ์กล่าว

ถก 7 หน่วยงานแก้ 3 โจทย์

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีให้เร่งพัฒนาไทยสู่การเป็น Startup Nation ในปีหน้า ให้กระทรวงวิทย์ฯ เป็นหน่วยงานหลักได้ประชุมร่วมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ คลัง เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ บีโอไอ ตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)

หาข้อสรุปให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ ได้แก่ 1) ให้สภาพัฒนฯ กำหนดยุทธศาสตร์สตาร์ทอัพไทย เพื่อวางตำแหน่ง ว่าสตาร์ทอัพไทยควรอยู่ในจุด Global Startup หรือ Local Startup

2) ประเด็นเรื่องการส่งเสริมบรรยากาศการทำธุรกิจสตาร์ตอัพ ทั้งในเรื่องการเงิน และเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องการเงิน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของสตาร์ตอัพทั้งกลุ่มที่ยังเป็นไอเดีย กลุ่มที่มีโปรดักส์แล้ว กลุ่มที่กำลังทำ Market Testing และกลุ่มที่เริ่มทำเชิงพาณิชย์แล้ว อาจกำหนดมาตรการส่งเสริมในหลายรูปแบบ เช่น บีโอไออาจจะกำหนดมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่เงินหรือการลดภาษีจากกำไร เพราะธุรกิจสตาร์ตอัพยังไม่มีกำไร ดังนั้นจะเน้นเรื่องการส่งเสริมการให้สิทธิในการเข้าถึงกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Fund) และการให้สมาร์ทวีซ่า หรือการให้กรมบัญชีกลางพิจารณาถึงแนวทางการในการส่งเสริมให้เกิดมีการจัดซื้อจัดจ้างสตาร์ตอัพในการดำเนินโครงการภาครัฐ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีการยกร่างกฎหมายใหม่ 3 ฉบับ ทั้งกฎหมายสตาร์ทอัพ กฎหมายแซนด์บอกซ์ และกฎหมายให้สิทธิผู้ทำวิจัยนำงานวิจัยมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างโดยกระทรวงวิทย์ และ 3) มอบให้ NIA เป็นเจ้าภาพหลักในการวางระบบบริการเบ็ดเสร็จที่เรียกว่า Startup System Indicator

ฝันสร้าง “ซิลิคอนวัลเลย์”

แหล่งข่าวกล่าวว่า แนวคิดหนึ่งในการสนับสนุนสตาร์ตอัพก็คือ การมีศูนย์บริหารเบ็ดเสร็จจุดเดียว (วันสต็อปเซอร์วิส) ที่อำนวยความสะดวกสตาร์ตอัพ เพื่อให้สตาร์ตอัพไปโฟกัสการทำโมเดลธุรกิจให้เดินหน้า โดยไม่ต้องมานั่งบริหารจัดการเรื่องงบฯที่ต้องส่งกรมสรรพากร หรือการขอใบอนุญาตต่าง ๆ รวมถึงไม่ต้องกังวลว่า ทรัพย์สินทางปัญญาจะถูกขโมย รวมทั้งหากสตาร์ตอัพต้องการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะต้องได้รับการอำนวยความสะดวกด้วย

“ตอนนี้เราอยากเป็นเหมือนซิลิคอนวัลเลย์ที่ผลิตสตาร์ตอัพขึ้นมาได้เยอะ ๆ แต่สิ่งแวดล้อมเรายังไม่ได้ ถ้าจะทำได้ต้องเริ่มตั้งแต่เรื่องการศึกษาเลย ต้องผลิตคนที่คิดเป็น ไม่ใช่เอาแต่ท่องจำ” แหล่งข่าวกล่าว

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า การประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง ยังอยู่ในขั้นตอนการระดมความคิด โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องไปคิดต่อว่าจะทำอะไรได้อีกบ้าง

ด้านายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า จากการประชุม คิดว่าจะต้องมีหน่วยงานกลางรับผิดชอบเกี่ยวกับสตาร์ตอัพโดยเฉพาะ เป็นลักษณะวันสต็อปเซอร์วิส ส่วนสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว ส่วนมาตรการอื่น ๆ ยังไม่ตกผลึก

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รายงานผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของสตาร์ตอัพสรุปว่า ในปี 2559 มีจำนวนสตาร์ตอัพที่ก่อตั้งใหม่ 72 ราย และ ณ เดือน ก.พ. 2561 มีสตาร์ตอัพที่ลงทะเบียนกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ 713 ราย และขอรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้จำนวน 71 ราย