เร่งสร้าง “4ท่าเรือบก” หนุนแหลมฉบัง เวนคืน 6 พันไร่หมื่นล้านประเดิม “ฉะเชิงเทรา” รับอีอีซี

แหลมฉบัง
ฮับโลจิสติกส์ - รูปแบบการพัฒนาท่าเรือบก จำนวน 4 แห่งที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาทำแผนพัฒนา เกาะไปตามแนวรถไฟทางคู่ หนุนการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในปี 2562
เวนคืนที่ดิน 6,710 ไร่กว่า 1.1 หมื่นล้าน ลงทุน 2.5 หมื่นล้าน ผุดท่าเรือบก 4 จังหวัด เกาะรถไฟทางคู่ ปักหมุดฉะเชิงเทรา โคราช ขอนแก่น นครสวรรค์ หนุนท่าเรือแหลมฉบัง บูมไทยฮับโลจิสติกส์ภูมิภาค ดึงเอกชนร่วมทุน 30 ปี ปักหมุด “บ้านโพธิ์” แจ้งเกิดแห่งแรกรับอีอีซี

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบก (dry port) เป็นโครงข่ายการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือแหลมฉบังกับจุดต้นทาง-ปลายทาง การขนส่งสินค้าในประเทศและประตูการค้าชายแดนที่สำคัญ

เช่น แม่สอด เชียงของ หนองคาย นครพนม มุกดาหาร รวมถึงลดการจราจรแออัดของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะมีการพัฒนาระยะที่ 3 เมื่อแล้วเสร็จจะมีขีดความสามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้ 1.8 ล้าน TEU/ปี

สราวุธ ทรงศิวิไล

ปั้นไทยศูนย์กลางโลจิสติกส์

“เป้าหมายจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบก เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญตอบสนองการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทยและของประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคหรือกลุ่มประเทศ CLMV”

นายสราวุธกล่าวอีกว่า ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่าพื้นที่มีความเหมาะสมจะพัฒนาท่าเรือบก มี 4 จังหวัด โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) เกิน 12% และอยู่ในแนวโครงการรถไฟทางคู่ ได้แก่ สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย, สายมาบกะเบา-จิระ, สายจิระ-ขอนแก่น และสายลพบุรี-ปากน้ำโพ

เปิดโผที่ตั้ง 4 จังหวัด

สำหรับจุดที่ตั้งทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา 2.ต.กุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 3.ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และ 4.ต.เขาทอง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ แต่ละแห่งจะใช้พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 1,000-1,800 ไร่ ใช้เงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับราคาที่ดินของแต่ละพื้นที่

เนื่องจากเป็นโครงการที่จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี ภาครัฐโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะเป็นผู้จัดหาที่ดิน ส่วนเอกชนจะลงทุนพัฒนาโครงการ

“ตามไทม์ไลน์ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเสนอผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอคณะกรรมการโลจิสติกส์แห่งชาติที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาภายในเดือนธันวาคมนี้”

นำร่องฉะเชิงเทราที่แรก

นายสราวุธกล่าวว่า โดยจะเริ่มดำเนินการที่ จ.ฉะเชิงเทราเป็นแห่งแรก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดว่าจะเปิดประมูลปลายปี 2562 เริ่มก่อสร้างในปี 2563 พร้อมเปิดบริการในปี 2567 ส่วนที่โคราชและขอนแก่นจะดำเนินการเป็นอันดับต่อไป จะเปิดบริการในปี 2568 จากนั้นจะเป็นที่นครสวรรค์จะเปิดดำเนินการในปี 2570

เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 5.5% เพิ่มเป็น 30% โดยท่าเรือบกที่จะพัฒนานี้ ทำหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าเหมือนท่าเรือ ประกอบด้วย 3 ชนิด

1.ท่าเรือบกใกล้ท่าเรือ (close dry port) 2.ท่าเรือบกระยะกลางประมาณ 300 กม.จากท่าเรือ (mid-range dry port) และ 3.ท่าเรือบกที่ชายแดน (distant dry port) เพื่อตอบสนองต่อปริมาณการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตในแต่ละพื้นที่

โดยหัวใจความสำเร็จของการพัฒนาท่าเรือบกนี้ คือ 1.การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยภาครัฐจะให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนและบริหารจัดการท่าเรือบก 2.กฎระเบียบที่อำนวยความสะดวกด้านการขนส่งเพื่อการนำเข้าและส่งออก 3.การขนส่งทางรถไฟที่จะต้องมีความแน่นอน ตรงต่อเวลา และมีค่าใช้จ่ายที่แข่งขันได้ และ 4.การเชื่อมโยงระบบข้อมูลการขนส่งให้สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ

แหลมฉบัง

ลงทุน 2.5 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมในรายละเอียดผลการศึกษาที่ปรึกษานำเสนอ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้ง 4 แห่ง รวม 25,240 ล้านบาท เวนคืนที่ดิน 6,710 ไร่ มีค่าชดเชย 11,630 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.จ.นครราชสีมา ขนาดพื้นที่ 1,800 ไร่ เงินลงทุน 7,000 ล้านบาท มีค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 3,140 ล้านบาท ค่าปรับสภาพที่ดิน 740 ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียด 70 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 2,160 ล้านบาท ค่าอุปกรณ์ 800 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตามมาตรการสิ่งแวดล้อม 20 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 70 ล้านบาท

2.จ.ขอนแก่น ขนาดพื้นที่ 1,800 ไร่ เงินลงทุน 6,790 ล้านบาท มีค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 3,040 ล้านบาท ค่าปรับสภาพที่ดิน 630 ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียด 70 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 2,160 ล้านบาท ค่าอุปกรณ์ 800 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตามมาตรการสิ่งแวดล้อม 20 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 70 ล้านบาท

3.จ.นครสวรรค์ ขนาดพื้นที่ 1,310 ไร่ เงินลงทุน 3,270 ล้านบาท มีค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1,310 ล้านบาท ค่าปรับสภาพที่ดิน 430 ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียด 35 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 1,080 ล้านบาท ค่าอุปกรณ์ 360 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตามมาตรการสิ่งแวดล้อม 20 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 35 ล้านบาท

4.จ.ฉะเชิงเทรา ขนาดพื้นที่ 1,800 ไร่ เงินลงทุน 8,180 ล้านบาท มีค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 4,140 ล้านบาท ค่าปรับสภาพที่ดิน 920 ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียด 70 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 2,160 ล้านบาท ค่าอุปกรณ์ 800 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตามมาตรการสิ่งแวดล้อม 20 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง 70 ล้านบาท