บิ๊ก รฟม.ขานรับศาลปกครอง เดินหน้าประมูลสายสีส้ม 1.22 แสนล้าน

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

8 สิงหาคม 2565 พลิกชะตาอีกรอบ สำหรับงานประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) วงเงินลงทุน 122,041 ล้านบาท

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่ง “ยกคำร้อง” ตามที่ BTSC ร้องขอให้ระงับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนงานประมูลสายสีส้ม วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ของ รฟม. (ดูกราฟิกประกอบ)

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ
ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ

สีส้มตะวันออก-ตะวันตก 2.35 แสนล้าน

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทางตลอดเส้นยาว 35.9 กิโลเมตร

แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ส่วน โดยใช้ “ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย” เป็นเซ็นเตอร์หลัก ประกอบด้วย “สีส้มตะวันออก” ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร มี 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี วงเงินลงทุนรวม 113,279 ล้านบาท

“สีส้มตะวันตก” ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทางที่เหลืออีก 13.4 กิโลเมตร มีจำนวน 11 สถานี จุดเน้นคือเป็นสถานีใต้ดินตลอดสาย วงเงินลงทุนรวม 122,041 ล้านบาท

เมื่อรวมทั้งสองส่วนทำให้รถไฟฟ้าสายสีส้ม “ตะวันออก+ตะวันตก” มีวงเงินลงทุนรวม 113,279+122,041 = 235,320 ล้านบาท

อัพเดตสถานะ “สายสีส้มตะวันออก” เซ็นสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 แบ่งเป็น 6 สัญญา ล่าสุด ณ 31 กรกฎาคม 2565 ความคืบหน้าก่อสร้างในภาพรวมอยู่ที่ 95.94%

ในขณะที่สายสีส้มตะวันออกมีความคืบหน้าก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ เหลียวกลับมาดู “สายสีส้มตะวันตก” ซึ่งผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่าเสียดายต้นทุนเวลา เพราะยังไม่สามารถเปิดไซต์ก่อสร้างเพื่อตอกเสาเข็มต้นแรก จากสาเหตุขั้นตอนการประมูลมีความล่าช้าออกไป

รันขั้นตอนประมูลเสนอ “กก.มาตรา 36”

พลันที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ว่าการ รฟม. “ภคพงศ์” กล่าวว่า การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนสายสีส้ม ซึ่งเปิดให้ยื่นซองข้อเสนอประกวดราคาวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 และมีเอกชน 2 รายยื่นข้อเสนอ

โดย รฟม.ได้เปิดซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ เมื่อ 1 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ขณะนี้ได้มอบหมายบริษัทที่ปรึกษาประเมินและสรุปเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ ข้อเสนอประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดให้เอกชนยื่นทั้งหมด 4 ซองด้วยกัน ได้แก่ ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ, ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค, ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน มีรายละเอียด 3.1 บัญชีปริมาณงานโยธา ระบบรถไฟฟ้า เดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง 3.2 แผนธุรกิจและแผนการเงิน 3.3 ตารางผลตอบแทนที่จะให้แก่ รฟม. และหรือเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่จะขอรับจาก รฟม.

และซองที่ 4 ข้อเสนออื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการ การดำเนินงานของ รฟม.

เป้าประมูลจบปี’65-ตอกเข็มต้นปี’66

คำถามถึงขั้นตอนหลังมีคำสั่งศาลปกครองกลางวันที่ 8 สิงหาคม 2565 คำอธิบายขั้นตอนคือ “ตอนนี้ที่ปรึกษาที่ รฟม.จ้างมาช่วยประเมินข้อเสนอแล้วเสร็จและส่งมอบให้คณะกรรมการ ม.36 ได้ภายในสัปดาห์ถัดไป พอให้คะแนนซองที่ 1 เสร็จแล้วจึงจะสามารถเปิดซองที่ 2 ซึ่งเป็นซองเทคนิค

ส่วนเวลาขึ้นอยู่กับการนัดหมายของกรรมการ ม.36 แต่ที่ผมประมาณการคือภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งต้องดูองค์ประชุมด้วย เพราะกรรมการแต่ละท่านก็เป็นข้าราชการระดับสูง ต้องให้เกียรติท่านด้วยนะครับ”

หลังจากผ่านซองที่ 2 ขั้นตอนก็ทำซ้ำด้วยการให้ที่ปรึกษาประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคที่คาดว่าต้องใช้เวลามากขึ้น เพราะมีถึง 3 งาน “โยธา-ติดตั้งระบบรถไฟฟ้า-เดินรถ” ซึ่งถือเป็นส่วนหลักของการจัดทำข้อเสนอด้านเทคนิค คาดว่าใช้เวลาในส่วนของที่ปรึกษาไม่เกิน 2 สัปดาห์ และนัดหมายกรรมการ ม.36 เพื่อพิจารณาต่อไป

จะเห็นว่าขั้นตอนการเปิดซองประมูลต้องใช้เวลาอีกพอสมควร อย่างไรก็ตาม รฟม.ทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการและสนับสนุนการทำงานของกรรมการ ม.36 ถ้าหากเป็นไปได้ก็อยากให้สามารถเริ่มต้นเปิดไซต์ก่อสร้างภายในต้นปี 2566 นี้ นั่นหมายความว่าภายในสิ้นปี 2565 จะต้องมีข้อสรุปผู้ชนะประมูล

“ถ้าทุกอย่างราบรื่นแล้วก็ไม่มีคดีฟ้องร้องอะไรที่จะมาขัดจังหวะกันอีก ก็อยากให้เป็นอย่างนั้น นี่คือสิ่งที่ผมประสงค์นะครับ แต่ในการทำงานก็จะมีความเห็นที่ไม่ตรงกันกับ thirds party บ้างอะไรบ้าง ก็มีเรื่องคดีต่าง ๆ ตามที่เป็นข่าว ก็ต้องไปชำระสะสางเรื่องคดีความ ถึงจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างเต็มตัว”

ล่าช้ากว่าแผนแม่บท 2 ปี

คำถามถึงข้อกังวลงานประมูลสายสีส้มตะวันตก คำตอบคือ “…เป็นขั้นตอนของกฎหมาย ในส่วนของคดี 2 คดีแรกซึ่งมีคำสั่งของศาลปกครองกลางออกมา (ปี 2563) เรายื่นอุทธรณ์ไปแล้ว ต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อน คดีถึงจะมีผลบังคับ

เพราะฉะนั้นในส่วนของ รฟม.เองก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ ประกอบกับล่าสุดในเรื่องคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของ BTSC ซึ่งศาลท่านก็ได้กรุณาเมตตาไม่สั่งคุ้มครองตามที่ผู้ฟ้องร้องขอไป”

และ “ดังนั้นเมื่อไม่มีคำสั่งห้ามไม่ให้ดำเนินการต่อ รฟม.ในฐานะหน่วยงานของรัฐก็จำเป็นจะต้องเดินหน้าให้เป็นไปตามแผนลงทุน ซึ่งปีนี้เป็นแผนที่ล่าช้าไปกว่าแผนแรกเกิน 2 ปีแล้ว”


ความคาดหวังของผู้ว่าการ รฟม. ก็อยากที่จะเดินหน้าเพื่อประโยชน์สาธารณชนให้ได้ใช้รถไฟฟ้าโดยเร็ว เพราะรถไฟฟ้ายิ่งเปิดเร็วเท่าไหร่ ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์ยิ่งมีอัตราที่สูง ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้วทั่วโลกว่าถ้ามีโครงข่ายครบ ผู้โดยสารหรือประชาชนที่อาศัยอยู่ในโครงข่ายนั้น ๆ ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น