พ.ค.ประมูลไฮสปีด”ไทย-จีน”เฟสสอง

แบบก่อสร้างรถไฟไทย-จีน - รูปแบบโครงสร้างทางยกระดับที่จีนและไทยร่วมกันออกแบบพัฒนาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่จะสร้างคู่ขนานไปกับรถไฟปัจจุบัน
คืบหน้ารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช เร่งเครื่องประมูลเต็มสูบ ดีเดย์ พ.ค.เปิดยื่นช่วง “สีคิ้ว-กุดจิก” ระยะทาง 11 กม. ค่าก่อสร้างกว่า 2.7 พันล้าน ส่วนที่เหลือรอแบบรายละเอียด เผยช่วงลำตะคองหวั่นเกิดดินสไลด์ จีนแนะขุดอุโมงค์ลึกอีก 10-20 เมตรพาดยาว 15 กม. กระทบต้นทุนเพิ่ม 500 ล้าน มิ.ย.ชง ครม.อนุมัติจ้างที่ปรึกษาออกแบบเฟส 2 เชื่อมไฮสปีดเทรนลาว-จีนที่เวียงจันทน์ หนุนการเดินทางและท่องเที่ยว 3 ประเทศ

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในเดือน พ.ค. 2561 ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. เงินลงทุน 179,412 ล้านบาท ในช่วงที่ 2 จากสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม.ค่าก่อสร้างประมาณ 2,700 ล้านบาท

“จีนจะส่งแบบรายละเอียดฉบับสมบูรณ์ในเดือน มี.ค. จากนั้นฝ่ายไทยจะตรวจแบบ จัดทำราคากลาง และจัดทำทีโออาร์ คาดว่าจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาเดือน พ.ค. ได้ผู้รับเหมาในเดือน ส.ค.นี้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับเนื้องานช่วงนี้จะเป็นงานถมคันดินก่อสร้างโครงสร้างทางยกระดับและระดับดิน ซึ่งงานก่อสร้างจะเริ่มต่อจากช่วงที่ 1 จากกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.ที่กรมทางหลวงได้เริ่มงานถมคันดินไปแล้ว ค่าก่อสร้าง 425 ล้านบาท

“งานโยธาเราแบ่ง 15 สัญญา ค่าก่อสร้าง 122,593 ล้านบาท เริ่มดำเนินการแล้ว 1 สัญญา จะเหลือ 14 สัญญา งานต่อไปเป็นงานช่วงที่ 2 จะเป็นงานสัญญาเดียว ส่วนผู้รับเหมาที่มีสิทธิ์ยื่นประมูลเป็นผู้รับเหมางานถนน สะพาน ได้หมด จากนั้นจะทยอยดำเนินการไปจนครบทั้งหมดภายในปีนี้ จะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดบริการในปี 2564”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า งานช่วงที่ 3 จากมวกเหล็ก-ลำตะคอง (อุโมงค์) ฝ่ายจีนจะส่งร่างแบบรายละเอียดในเดือน มี.ค. คาดว่าจะส่งแบบรายละเอียดฉบับสมบูรณ์ในเดือน เม.ย. 2561 เพื่อจัดทำทีโออาร์ คาดว่าจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาในเดือน มิ.ย. 2561

“งานช่วงที่ 3 จะแยกงานอุโมงค์ออกมาเป็นอีก 1 สัญญา เนื่องจากเป็นงานก่อสร้างใช้เทคนิคเฉพาะ มีระยะทางประมาณ 15 กม. และมีการปรับแบบเล็กน้อยหลังจากจีนเข้าไปสำรวจพื้นที่ช่วงลำตะคอง พบว่าอาจจะเกิดดินสไลด์ได้ ทำให้ต้องขุดอุโมงค์ให้ลึกลงไปกว่าเดิมอีกประมาณ 10-20 เมตร ทำให้มีค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดิม 9,000 กว่าล้านบาท เป็น 10,000 กว่าล้านบาท อาจจะส่งผลให้เงินลงทุนโครงการเพิ่มขึ้นด้วย”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับช่วงแก่งคอย-บันไดม้า-โคกกรวด-ลำตะคอง-โคราช ระยะทาง 119.5 กม. ค่าก่อสร้าง 57,905.02 ล้านบาท ฝ่ายจีนจะส่งร่างแบบรายละเอียดในเดือน เม.ย. จากนั้นจะตรวจสอบแบบ คาดว่าจะส่งแบบรายละเอียดฉบับสมบูรณ์ในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2561 ถึงจะเริ่มกระบวนการจัดทำราคากลางก่อนเพื่อประกวดราคาเดือน ก.ค. 2561

ส่วนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง-นวนคร-เชียงรากน้อย-บ้านโพธิ์-พระแก้ว-สระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 119 กม. ค่าก่อสร้าง 58,932.79 ล้านบาท ฝ่ายจีน จะส่งร่างแบบรายละอียดเดือน มิ.ย.นี้ให้ไทยตรวจสอบ เพื่อจัดทำราคากลางและเริ่มการประกวดราคาเดือน ก.ย. 2561

ด้านความคืบหน้าของโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลการหารือของคณะกรรมการร่วมครั้งล่าสุด ฝ่ายไทยจะทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมในเดือน มี.ค.-พ.ค. 2561 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในเดือน มิ.ย.นี้

จากนั้นจะจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดและจะใช้เวลาดำเนินการ 10 เดือน คาดว่าจะประกวดราคาภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 โดยฝ่ายจีนตกลงจะเชิญผู้แทน 3 รัฐบาล คือ ไทย สปป.ลาว และจีน มาเจรจาหารือการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูงในช่วงจากหนองคาย-เวียงจันทน์

เพื่อเชื่อมกับรถไฟจีน-ลาวที่กำลังก่อสร้างเส้นทางคุนหมิง-เวียงจันทน์ ให้โครงข่ายเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่อง และเตรียมการเรื่องการลดอุปสรรคการเดินทางของประชาชนของทั้ง 3 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคนเข้าเมือง และระบบการตรวจพิธีการด้านศุลกากร