ดัชนีเชื่อมั่นไตรมาส 2/66 อสังหาฝากความหวัง “หลังเลือกตั้ง”

อสังหา

ไตรมาส 1/66 จบเมื่อไหร่ มีข้อมูลสถิติต่าง ๆ เมื่อนั้น

ล่าสุด “REIC-ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์” จัดทำ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (current situation index)

Q1/66 เชื่อมั่นฝ่อตัว

โดย “ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์” รักษาการผู้อำนวยการ REIC ระบุว่า ในภาพรวมไตรมาส 1/66 ดัชนีความเชื่อมั่นมีค่าดัชนีเท่ากับ 46.7 ลดลงค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/65 (QOQ) ที่มีค่าดัชนีเท่ากับ 51.5

และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวของปีก่อน หรือเทียบกับไตรมาส 1/65 (YOY) ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 47.1 ก็มีความเชื่อมั่นลดลงเล็กน้อยเช่นกัน และยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0

สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นลดลงและมีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ธุรกิจในภาวะปัจจุบัน

Q2/66 มีลุ้นหลังเลือกตั้ง

ขณะที่ยังมีความคาดหวังในเชิงบวกกับสถานการณ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ฯมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 67.1

แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการบิ๊กแบรนด์กลุ่มนี้ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาที่มาของสถิติความเชื่อมั่นที่ลดลง พบว่า มีความเชื่อมั่นในด้าน “ผลประกอบการ ยอดขาย การลงทุน การเปิดโครงการใหม่/เฟสใหม่” ที่ลดลงระหว่าง -10.8 ถึง -3.5 จุด อาจเป็นผลมาจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.(คณะกรรมการนโยบายการเงิน แบงก์ชาติ)

โดย กนง.ประกาศเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี ต่อมาในวันที่ 28 มีนาคม 2566 ขึ้นอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.75

ขณะที่ความเชื่อมั่นในด้าน “ต้นทุนผลประกอบการ” ที่ปรับเพิ่มขึ้น 3.7 จุด สะท้อนว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในด้านต้นทุนการประกอบการในการพัฒนาที่อยู่อาศัยมากขึ้นเนื่องจากมีการปรับตัวคงที่ในระดับหนึ่ง

แต่เนื่องจากภาพรวมต้นทุนยังคงสูงอยู่ทำให้ระดับความเชื่อมั่นยังต่ำกว่าร้อยละ 50 ต่อเนื่องมามากกว่า 5 ไตรมาส

ดัชนีความเชื่อมั่น

บิ๊กแบรนด์ฮึกเหิมจัด

เมื่อจำแนกความเชื่อมั่นตามกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า ความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการกลุ่ม listed companies ในไตรมาส 1/66 มีค่าดัชนีเท่ากับ 50.0 ต่ำกว่าไตรมาส 4/65 ที่มีค่าดัชนี 55.2 แต่ยังคงเท่ากับค่ากลางที่ระดับ 50.0

แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจในภาวะปัจจุบัน

ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่ม nonlisted companies ในไตรมาส 1/66 มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 41.9 ลดลงจากไตรมาส 4/65 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.0 และต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0

แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็กนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความกังวลต่อปัจจัยลบดังกล่าวมากกว่าบิ๊กแบรนด์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

รายกลาง-เล็กเชื่อมั่นลดลง

น่าสนใจว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในภาพรวมอีก 6 เดือนข้างหน้า (expectations index) มีค่าเท่ากับ 61.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/65 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 60.5 และสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0

สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอีก 6 เดือนเพิ่มขึ้น

แบ่งเป็นความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในด้าน “ผลประกอบการ ยอดขาย การลงทุน” เพิ่มขึ้นระหว่าง 2.4-4.9 จุด คาดว่ารับอานิสงส์การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากการซื้อเพื่อเก็งกำไรเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยระยะยาว

อย่างไรก็ตาม พบด้วยว่า “การจ้างงาน ต้นทุน การเปิดโครงการใหม่/เฟสใหม่” ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 4/65 อยู่ที่ -3.2 และ -0.3 จุดตามลำดับ

แบ่งเป็น กลุ่ม listed companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่น 6 เดือนหน้าเท่ากับ 67.1 จากไตรมาส 4/65 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 61.2 แสดงให้เห็นว่ายังคงมีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่ผู้ประกอบการ nonlisted companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 52.9 ลดลงจากไตรมาส 4/65 ซึ่งอยู่ที่ 59.3 แสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมั่นความลดลง


โดยเฉพาะความเชื่อมั่นยกแผงในด้านผลประกอบการ ยอดขาย การลงทุน การจ้างงาน ต้นทุนการประกอบการ และการเปิดโครงการใหม่