
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอบคุณรัฐบาลเศรษฐา ต่ออายุลดค่าโอน-จำนอง เหลือจ่ายล้านละ 10,100 บาทเท่านั้น
วันที่ 1 มกราคม 2567 นายอิสระ บุญยัง ประธานกรรมการ กานดา พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป และประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคเอกชนขอขอบคุณรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ออกไปอีก 1 ปี
โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน 2% เหลือ 1% และค่าธรรมเนียมจดจำนอง 1% เหลือ 0.01% สำหรับการโอนและจดจำนองที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยหมดอายุมาตรการในวันที่ 31 ธันวาคม 2566
ล่าสุด รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ออกไปอีก 1 ปี โดยให้มีผลบังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
สาระสำคัญ ค่าโอน 2% ลดเหลือ 1% หรือภาระค่าใช้จ่ายภาษีโอนจากล้านละ 20,000 บาท ลดเหลือล้านละ 10,000 บาท
อีกรายการคือค่าจดจำนอง (กรณีขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน) 1% ลดเหลือ 0.01% หรือภาระค่าใช้จ่ายจดจำนอง จากล้านละ 10,000 บาท ลดเหลือล้านละ 100 บาท
มีผลให้การโอนและจดจำนองที่อยู่อาศัย จากอัตราปกติ 3% หรือล้านละ 30,000 บาท ลดเหลือ 1.01% หรือล้านละ 10,100 บาทเท่านั้น เงื่อนไขเป็นการโอนและจดจำนองที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยได้สิทธิประโยชน์ทั้งบ้านมือ 1 และบ้านมือสอง
นายอิสระกล่าวว่า การต่ออายุมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองรอบนี้ ถือเป็นของขวัญปีใหม่ชิ้นแรกให้กับผู้บริโภคอสังหาริมทรัพย์ เพราะทำให้ไม่เกิดภาวะการโอนชะงักงัน ทำให้การโอนบ้านและคอนโดมิเนียในช่วงรอยต่อของเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 สามารถทำได้ราบรื่นมากขึ้น
“รัฐบาลเศรษฐาทำงานรวดเร็ว ขั้นตอนราชการตอนนี้มีการออกกฎกระทรวงมหาดไทยออกมารองรับเรียบร้อยแล้ว ไทม์ไลน์จึงรอเพียงการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับทันที จากเดิมในช่วงการต่ออายุมาตรการปีต่อปี เคยมีการสะดุดในแง่การโอนที่อาจต้องรอไปถึงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เพราะรอการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย
ดังนั้น จึงต้องขอขอบคุณทั้งรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง ที่ทำงานบูรณาการจนทำให้สามารถผลักดันมาตรการต่ออายุได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เอกชนคลายกังวล และท้ายที่สุด ประชาชนผู้ซื้อบ้านมือหนึ่งและบ้านมือสองได้รับประโยชน์โดยตรง”
นายอิสระกล่าวตอนท้ายด้วยว่า ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ภาคธุรกิจที่อยู่อาศัยมักถูกนำมาใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต เพราะการซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท มีตัวทวีคูณหรือมัลติไพเออร์ประมาณ 3 เท่า
กล่าวคือ อสังหาฯ ราคา 1 ล้านบาท ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบได้เพิ่มเป็น 3 ล้านบาท จากการซื้อวัสดุ-เฟอร์นิเจอร์-เครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อซ่อมแซม ต่อเติม และตกแต่งบ้าน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ดังนั้น การต่ออายุมาตรการนี้จึงเท่ากับเป็นการมอบของขวัญชิ้นแรกให้กับผู้ที่ซื้อและโอน สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งที่อยู่อาศัยเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน