“คมนาคม 2563” มือเติบกำงบฯ 2 แสนล้าน เทกระจาดลงทุน กู้เศรษฐกิจปีชวด

เข้าสู่ปี 2563 อย่างเป็นทางการยังคงเป็นที่จับตาวาระงานของ “กระทรวงคมนาคม” มีโปรเจ็กต์ก่อสร้างเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ จะสร้างผลสำเร็จได้มากสักแค่ไหน เพราะช่วงที่ผ่านมาขยับเขยื้อนได้น้อยมาก

นอกจาก 44 เมกะโปรเจ็กต์ เม็ดเงินลงทุน 1,947,310 ล้านบาท ที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการทั้ง “ถาวร เสนเนียม” และ “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” ต้องออกแรงเข็นกันไปแล้ว

ม.ค.คิกออฟประมูลงบฯ 63

ยังมีโครงการอยู่ในงบประมาณปี 2563 ที่ได้รับจัดสรร 208,396 ล้านบาท รอกดปุ่มประมูลอีกนับ 1,000 โครงการ เนื่องจากงบประมาณบังคับใช้ล่าช้า 4 เดือนต้องขยับการประมูลจากเดิมต้องเริ่มบรรเลงในเดือน ต.ค. มาเป็นเดือน ม.ค. 2563 แทน เพื่อให้การเบิกจ่ายทันสิ้นปีงบประมาณ

ด้าน “ศักดิ์สยาม” จัดติวเข้มผู้บริหารเร่งผลักดันแผนงาน-แผนเงินออกสู่ระบบ โดยงบฯลงทุนในปี 2563 ทั้งของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจอยู่ที่ 346,524.96 ล้านบาท แบ่งเป็น ทางบก 163,371.63 ล้านบาท หรือ 47.15%, ทางราง 126,419.32 ล้านบาท หรือ 36.48%, ทางอากาศ 48,637.53 ล้านบาท หรือ 14.04%, ทางน้ำ 7,791.96 ล้านบาท หรือ 2.25% และด้านนโยบาย 304.52 ล้านบาท หรือ 0.09%

“ให้แต่ละหน่วยเตรียมแผนจัดซื้อจัดจ้างให้เรียบร้อย คาดว่า พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จะประกาศใช้ในเดือน ก.พ. ซึ่งจะเหลือเวลาแค่ 8 เดือนใช้จ่ายงบประมาณ หากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ควรใช้โมเดลแบ่งสร้างเป็นหลายสัญญาให้งานเดินหน้าได้เร็วขึ้น หากโครงการใหญ่ที่พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรีให้เร่งเสนอมายังกระทรวง แต่ต้องทำทุกอย่างให้รอบคอบ ผลศึกษา EIA แหล่งเงินทุนจะใช้งบประมาณ PPP กองทุนหรือเงินกู้”

ปิดดีลเซ็นงานระบบมอเตอร์เวย์

ไฮไลต์โครงการเด่นในปี 2563 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะเซ็นสัญญาโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่ารวม 39,138 ล้านบาท ที่มีกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราชกรุ๊ป เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด คาดว่าจะเซ็นสัญญามอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ก่อนจะเสนอ ครม.อนุมัติเดือน มี.ค. 2563 และช่วงกลางปีจะเซ็นมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี

ต่อมาเป็นมอเตอร์เวย์ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว วงเงิน 32,210 ล้านบาท เซ็นสัญญาแล้วกำลังเตรียมก่อสร้างช่วง 10 กม.แรก จากบางขุนเทียน-เอกชัย 1 ระยะทาง 10.8 กม. ส่วนการเปิด PPP ระบบเก็บเงินและสร้างต่ออีก 15 กม.ถึงบ้านแพ้ว รอสรุปผลการศึกษา จะเสนอให้กระทรวงพิจารณาต้นปี 2563

ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน 18 กม. วงเงิน 29,400 ล้านบาท และมอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ 18 กม. วงเงิน 37,500 ล้านบาท จะสรุปผล PPP ในช่วงต้นปี และรอรายงานวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม (EIA) ส่วนสายนครปฐม-ชะอำ 109 กม. วงเงิน 79,006 ล้านบาท รอทบทวน EIA ใหม่ ชาวบ้านยังคัดค้าน ด้านสายหาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย 71 กม. วงเงิน 40,620 ล้านบาท รออนุมัติ EIA และความไม่แน่ไม่นอนของกระแสรายได้การเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 และด่านศุลกากรฝั่งประเทศมาเลเซีย

“ม.ค.กรมจะประมูลงานโครงการใหญ่และย่อยเป็นโครงการใหม่ในปี 2563 ซึ่งกรมได้งบฯ 113,883 ล้านบาท ให้จบ เมื่องบประมาณมีผลบังคับใช้จะได้เบิกจ่ายในทันที ส่วนโครงการใหญ่ก็จะพยายามผลักดันเคลียร์ปัญหาโดยเร็ว”

ประมูลถนนชนบท 3 พันสัญญา

ด้าน “ปฐม เฉลยวาเรศ” อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า งบประมาณปี 2563 ของกรมได้รับจัดสรร 47,472 ล้านบาท เป็นงบฯลงทุน 97% และดำเนินการ 3% ในครึ่งหนึ่งของงบฯลงทุน เป็นงบฯซ่อมบำรุงทาง ยังไม่มีโครงการใหญ่เกิน 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีโครงการมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ จะลงทุนในปี 2563 ได้แก่ 1.ก่อสร้าง ถ.สาย ง1 ผังเมืองรวมเมืองอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ 434 ล้านบาท และ 2.ก่อสร้าง ถ.สาย จ4 และ จ5 ผังเมืองรวมเมืองมหาสารคาม 167 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างรวมเบ็ดเสร็จแล้วอยู่ที่ประมาณ 3,000 โครงการ

“โครงการใหญ่ได้งบฯศึกษาแล้ว จะของบฯปี 2564 เช่น สะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อยกับแผ่นดินใหญ่ จ.กระบี่ ออกแบบไทยแลนด์ริเวียร่า ถนนต่อเชื่อมสะพานนนทบุรี 1 ถึงวงแหวนรอบนอกกาญจนาภิเษก และส่วนต่อขยายถนนกัลปพฤกษ์-ถนนพุทธสาคร”

ปิดจ๊อบด่วนพระราม 3

ในส่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มี 2 โครงการเร่งด่วนใช้เงินลงทุนจากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์(TFFIF) คือ 1.ทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 18.7 กม. วงเงินรวม 31,244 ล้านบาท หลังจากลงนามในส่วนสัญญาที่ 4 ระยะทาง 2 กม. วงเงิน 6,636 ล้านบาท กับ บมจ.ช.การช่าง ไปแล้ว อีก 3 สัญญา จะเซ็นให้ได้ในเดือน ก.พ. 2563

ส่วนสัญญา 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจรและระบบสื่อสาร วงเงิน 877.4 ล้านบาท ที่ยกเลิกประมูลไป ล่าสุดอยู่ระหว่างหารือกับกรมทางหลวงพิจารณาปรับปรุงระบบไร้ไม้กั้นซึ่งเป็นนโยบายของนายศักดิ์สยาม 2.ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 แยกเกษตรฯเชื่อมต่อ ถ.วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันออก ระยะทาง 18.5 กม. วงเงิน 15,200 ล้านบาท อยู่ระหว่างขอปรับปรุงรายงาน EIA คาดว่าจะเสนอ ครม.ขออนุมัติโครงการในเดือน มิ.ย. และเปิดประมูลในเดือน ต.ค. 2563

ได้ฤกษ์ประมูลสายสีแดง

ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หลังรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางผ่าน ครม.เมื่อต้นปี 2562 ได้แก่ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ 6,570.40 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 10,202.18 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 6,645.03 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมประมูลพร้อมกันทั้ง 3 เส้นทาง คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาก่อสร้างในเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2563

ส่วนสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก (Missing Link) และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง รวมระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท หลังจากได้ขยายเวลาก่อสร้างจาก 36 เดือน เป็น 54 เดือน เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างทบทวนแนวเส้นทางที่ทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ทางคู่ติดเวนคืน-สภาพัฒน์

โครงการที่เงียบหายไปตลอดปีที่ผ่านมา อย่าง “รถไฟทางคู่ เฟส 2” อีก 7 เส้นทาง และรถไฟสายใหม่ 2 สาย ยังไม่รู้ว่าในปี 2563 จะได้ฤกษ์ประมูลหรือไม่ ได้แก่ สายบ้านไผ่-นครพนม 355 กม. 66,848.33 ล้านบาท และเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 323 กม. 85,345 ล้านบาท หลัง ครม.อนุมัติตั้งแต่ปี 2561 กำลังจ้างที่ปรึกษาสำรวจเวนคืนที่ดิน จะแล้วเสร็จและเปิดประมูลทั้ง 2 โครงการ ในปี 2564

ส่วนอีก 7 เส้นทาง วงเงินรวม 263,453.57 ล้านบาท รายงาน EIA ผ่านแล้วในบางเส้นทาง อยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเสนอ ครม.ในเดือน มิ.ย. และประมูลได้ทุกโครงการในเดือน ก.ค. 2563

ประกอบด้วย 1.ปากน้ำโพ-เด่นชัย 281 กม. 59,399.8 ล้านบาท 2.เด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กม. 54,470.02 ล้านบาท 3.ขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. 25,842 ล้านบาท 4.จิระ-อุบลราชธานี 308 กม. 36,683 ล้านบาท 5.ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 กม. 23,080 ล้านบาท 6.สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา 321 กม. 56,114.26 ล้านบาท และ 7.หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กม. 7,864.49 ล้านบาท

ลุ้น ครม.อนุมัติสีส้ม ม.ค.นี้

ฟากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมผลักดัน 2 รถไฟฟ้าเปิดประมูลในปี 2563 ได้แก่ สายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ 35.9 กม. 122,041 ล้านบาท รูปแบบลงทุน PPP net cross 30 ปี คาดว่า ครม.จะอนุมัติเดือน ม.ค. จากนั้นเปิดประมูลเดือน มิ.ย. และเซ็นสัญญาเดือน มี.ค. 2564 และสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 กม. 101,112 ล้านบาท

ขยายสนามบินใต้-อีสาน

โครงการทางอากาศก็คึกคัก “ทวี เกศิสำอาง” อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า จะเร่งดำเนินการให้สนามบินเบตง จ.ยะลา เปิดบริการในเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนโครงการลงทุนใหม่มี 4 โครงการ วงเงิน 3,425 ล้านบาท เริ่มประมูลในเดือน ม.ค.-มี.ค.นี้ มีโครงการขยายลานจอดเครื่องบิน สนามบินสุราษฎร์ธานี เพิ่มจาก 5 ลำ เป็น 11 ลำ วงเงิน 500 ล้านบาท, ขยายทางขับขนาน สนามบินกระบี่ เพิ่มศักยภาพการรองรับเครื่องบิน จาก 10 ลำ/ชม. เป็น 25 ลำ/ชม. วงเงิน 1,350 ล้านบาท, ปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร สนามบินนราธิวาส เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 864,000 คน/ปี เป็น 1.7 ล้านคน/ปี วงเงิน 800 ล้านบาท และปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร สนามบินบุรีรัมย์ เพื่อเพิ่มความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 850,000 คน/ปี เป็น 1.7 ล้านคน/ปี วงเงิน 775 ล้านบาท

ฝั่ง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ในวันที่ 3 มี.ค.นี้ จะเปิดประมูลรันเวย์ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ 21,795.941 ล้านบาท แต่จะเซ็นสัญญาได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (EHIA) คาดว่าจะได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ในเดือน มิ.ย. 2563

ปิดท้ายที่ บมจ.การบินไทย กับการจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ มูลค่า 156,169 ล้านบาท หลังคณะกรรมการ (บอร์ด) ตีกลับให้ทบทวนและนำเสนออีกครั้งภายใน 6 เดือน ซึ่งเดดไลน์ในวันที่ 28 มี.ค.นี้

ขณะที่เจ้ากระทรวง “ศักดิ์สยาม” เปรยอยากจะใช้แนวทางการเช่าเหมือนกับรถเมล์ใหม่ ขสมก. จำนวน 2,500 กว่าคัน จะเปิด PPP ให้เอกชนหารถมาวิ่งในเส้นทาง มาเป็นโมเดลพลิกฟื้นภาระหนี้ ดีกว่าทุ่มเม็ดเงินไปซื้อใหม่ และต้องแบกภาระการซ่อมบำรุง

ส่วนการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO) เครื่องบินอู่ตะเภา วงเงิน 4,400 ล้านบาท ทางคณะกรรมการคัดเลือกเห็นชอบเอกสารข้อเสนอ (RFP) คาดว่าแอร์บัสในฐานะคู่สัญญาจะมายื่นข้อเสนอในเดือน มี.ค.นี้ จากนั้นเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และ ครม.เห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญา และเซ็นสัญญาในเดือน ส.ค. 2563 นี้

เป็นสารพัดโปรเจ็กต์ของ “คมนาคม” ที่พร้อมกดปุ่มเดินหน้าในปีหนู ถ้าไม่โดน “สารหนู-โอ๋ แซ่รื้อ” แตะเบรกไปเสียก่อน


คลิกอ่านเพิ่มเติม… 3 รัฐมนตรียูไนเต็ด รวมใจเป็นหนึ่งยึดฐานที่มั่น 2 ล้านล้าน