สู่วันใหม่ที่ปลายอุโมงค์กับ “เศรษฐา ทวีสิน” ชัดเจนทั้งแก้โควิด-เศรษฐกิจ-การเมือง และไม่พร้อมนั่งนายกฯ

เศรษฐา ทวีสิน

เมื่อทุกเสี้ยววินาทีในวิกฤตคือชีวิตของทุกคน “เครือมติชน” ผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำ จัดมหกรรมสุขภาพออนไลน์ครั้งสำคัญ “Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย” #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน ระหว่างวันที่ 18-22 สิงหาคม 2564

หนึ่งในไฮไลต์ช่วงเสวนาบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นกิจกรรมพูดคุยในหัวข้อ “สู่วันใหม่ปลายอุโมงค์” กับ “เศรษฐา ทวีสิน” วันที่ 20 สิงหาคม เวลา 20.00-22.00 น. ทางข่าวสด-Clubhouse ครั้งแรกกับ เศรษฐา ทวีสิน CEO บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) นักธุรกิจแถวหน้าของเมืองไทย ไอดอลของคนรุ่นใหม่ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ควบคู่กับการดูแลสังคมอย่างต่อเนื่องจริงจัง อาทิ ปูพรมฉีดวัคซีนให้พนักงานและครอบครัว ตลอดจนผู้ด้อยโอกาสในชุมชนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ด้วยความตั้งใจว่า “คนไทยต้องได้วัคซีนเพียงพอ รวดเร็ว และเท่าเทียม”

มีแต่ปัจจัยลบ “โควิด เศรษฐกิจ การเมือง”

“เศรษฐา” ตอบคำถามแรกว่ามีความรู้สึกอย่างไรภายในสถานการณ์โควิดระลอก 3

ต้องยอมรับว่าเหนื่อยครับ ถ้าจะพูดตรงไปตรงมาก็มีความรู้สึกท้อกับสถานการณ์ปัจจุบันพอสมควร ถ้าจะให้สรุปสั้น ๆ คือ เหนื่อยและท้อ แต่เรื่องของบริษัทแสนสิริเราไปได้ด้วยดี เพราะเราเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ได้มีการบริหารจัดการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่คิดว่าจะเลวร้าย แต่พอดีเรื่องของสถานการณ์ประเทศชาติ โรคระบาด ทำให้เราเหนื่อยและรู้สึกท้อพอสมควร

ถ้าย้อนเวลาไปเมื่อ 18 เดือนที่แล้วที่มีโควิดเกิดขึ้นใหม่ ๆ ผมว่าต่อให้คนที่มองโลกในแง่ร้ายที่สุดก็ไม่คิดว่าเราจะอยู่ในสภาพที่เลวร้ายขนาดนี้ มีคนป่วยโควิด 20,000 คน เสียชีวิต 200 คน สภาพเศรษฐกิจ การจ้างงาน เหนือความคาดหมายในแง่ลบพอสมควร ไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์การเมืองที่เลวร้ายอยู่ทุกวัน

นิยามโรคระบาดระลอก 3 คือสถานการณ์สงคราม

เสียงชื่นชมที่ดังกระหึ่มวงการธุรกิจมาจากแสนสิริลงทุน 40 ล้านบาทไปกับแคมเปญซื้อวัคซีนฉีดให้กับพนักงาน-ลูกค้า-คู่ค้า คำถามหลักคือต้องทำถึงขนาดนี้เลยหรือ ?

ผมว่าเป็นหน้าที่เลยนะครับ ไม่ใช่แค่ซื้อวัคซีนอย่างเดียว คนที่แข็งแรงกว่าซึ่งก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าบริษัทแสนสิริเราแข็งแรง เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องออกมาช่วยคนที่อ่อนแอกว่า จะด้วยเหตุผลว่าธุรกิจของเราก็ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยรวมพอสมควรเหมือนกัน ถ้าเศรษฐกิจของประเทศไปไม่ได้ บริษัทของเราไปไม่ได้ เราก็ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ ถ้าจะพูดถึงว่าทำไปเพื่อประโยชน์ของตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่ง

แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ คนป่วยวันละ 20,000 คน เสียชีวิตวันละ 200 คนเป็นอย่างน้อย แล้วก็ยังมีคนที่ป่วยอยู่ซึ่งหาเตียงไม่ได้ ยังเข้าโรงพยาบาลสนามไม่ได้ ยังเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลไม่ได้ ซึ่งปกติโดยชอบธรรม ผมว่าคนที่แข็งแรงกว่า คนที่สามารถช่วยเหลือได้ เป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นรื่องการบริจาค ระบบสาธารณสุข อุปกรณ์การแพทย์ อาหาร ยา วัคซีน

แคมเปญ #แสนสิริไม่ทอดทิ้งใคร #NoOneLeftBehind ยังรวมถึงการเหมาซื้อผลผลิตจากเกษตรทั้งมะม่วง แตงโม ลำไย และดูแลช้างที่เชียงใหม่ด้วย

“เศรษฐา” บอกเล่าที่มาที่ไปว่า หลายท่านมาตั้งคำถามเรื่องเหล่านี้เป็น priority หรือเปล่า เป็นเรื่องสำคัญที่สุดหรือเปล่า ผมเรียนตรง ๆ ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งผมเห็นว่าเป็นสถานการณ์ของสงคราม ผมเชื่อว่าเราไม่มีเวลามาเข้าที่ประชุม ไม่มีเวลามาเรียกประชุมคณะกรรมการหลายฝ่าย ใครเดือดร้อน เราไหวเราก็เข้าไปช่วยเลย แตงโมราคาตกต่ำขนาดนี้ยังไงชาวสวนชาวไร่ก็อยู่ไม่ได้ พอดีเรารู้จักต้นทางเราก็เข้าไปช่วยเหลือเขาเพื่อช่วยพยุงราคา

เรื่องของช้าง การแสดงช้างก็ถือเป็นห่วงโซ่ทางธุรกิจของวงการท่องเที่ยว เป็นเสน่ห์ของประเทศไทย ช้างก็เป็นสัตว์ที่กินเยอะ ไม่มีโชว์ ไม่มีการท่องเที่ยว ไม่มีรายได้เข้ามาทำยังไง เราก็บริจาคอาหารส่วนหนึ่ง แต่ก็คิดว่าไม่ยั่งยืนเท่าไหร่ เรามีที่ดินในเชียงใหม่ที่ยังไม่ได้พัฒนาก็นำมาปลูกหญ้าเนเปียร์ ซึ่งผมชื่อว่าเป็นการช่วยเหลือที่ยั่งยืนได้ เป็นอาหารให้ช้างได้ในระยะยาว

ซึ่งเราคาดว่าวิกฤตนี้ก็คงอีกพอประมาณ อย่างน้อยก็ถึงต้นปีหน้ากว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ ลองจินตนาการว่าคนที่ชอบเมืองไทยมาดูโชว์ช้าง เข้ามากินสตรีตฟู้ดที่อร่อยราคาถูก แล้วพอกลับมาอีกทีพอวิกฤตโควิดหายไปแล้วไม่เจอของเหล่านี้ เขาจะอยากมาเมืองไทยอีกหรือเปล่า นี่เป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ผมว่าถ้าช่วยกันคนละไม้คนละมือ มีคนอย่างแสนสิริทำอยู่ 7-8 รายการ บริษัทอื่นช่วยกันคนละ 7-8 รายการ ผมว่าประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้

จุดย้ำคือ “คนแข็งแรงต้องช่วยเหลือคนอ่อนแอ” ดังนั้น 100% ทำเพื่อช่วยเหลือคนตัวเล็กในสังคม

Call out-ตะโกนดัง ๆ ธุรกิจใหญ่ต้องช่วยธุรกิจเล็ก

แคมเปญที่บริษัทแสนสิริตั้งงบประมาณใช้จ่าย 40 ล้านบาทดังกล่าว เป็นเสมือนการ Call out ให้กับสังคมด้วย “เศรษฐา” ระบุว่า ใช้คำว่า call out ภาษาอังกฤษก็ใช่ แต่ผมอยากใช้คำภาษาไทยมากกว่า ผมอยากใช้คำว่าตะโกน ผมตะโกนจนเสียงแหบแล้ว พูดมาโดยตลอด เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องทำ เพราะเราจะบอกว่าเราเสียภาษีไปแล้วเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำ จะพูดอย่างนั้นก็ถูก แต่รัฐบาลมีความสามารถพอหรือเปล่า เขาดูแลได้ทั่วถึงหรือเปล่า ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าไปคอยเขาดีกว่า เพราะถ้าคอยตายพอดี คนตัวเล็กคนที่อ่อนแอกว่าเขาเหนื่อย อย่าเกี่ยงกันดีกว่า วันนี้ทำอะไรได้ก็ทำดีกว่า

ถือว่าเป็นการวิ่งมาราธอน เพราะเคสนี้ไม่ใช่เป็นการช่วยวันนี้แล้วก็จบ คุณต้องมีการทำงบประมาณของตัวเองเพื่อให้อยู่ไปได้ยาวหน่อย ไม่ใช่ช่วยโป้งเดียวแล้วจบ วิกฤตโควิดผมเชื่อว่ายังมีอีกอย่างน้อย 3-4 เดือน เพราะวัคซีนยังไม่มีความชัดเจน

แสนสิริโมเดล สั่งซื้อวัคซีน mRNA ฉีดเข็ม 3 ให้พนักงาน

ผมคิดว่าบูสเตอร์ชอตเข็ม 3 ยังไงก็จำเป็น ตอนที่ผมสั่งจองไปยังไม่เห็นทางรัฐบาลออกมาขยับเขยื้อนเลย ผมสั่งจองวัคซีนโมเดอร์นาเมื่อ 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าโรคระบาดจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนคนไทยที่จะต้องรับวัคซีนฟรี เราอย่าไปรอตรงนั้นดีกว่า วันนี้เราไหวเราจ่ายเงินล่วงหน้าไปเลยให้กับหน่วยงานเอกชนที่สามารถนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นามาได้ เราก็พร้อมที่จะจัดการ

ผมก็สั่งซื้อไป 6,000 โดส ซึ่งเพียงพอกับพนักงานของเรา อยากจะสั่งให้มากกว่านี้อยากจะสั่งเผื่อคู่ค้าด้วย ก็อาจจะมีเหลืออยู่บ้างนิดหน่อย ผมอยากจะลองให้เป็นโมเดลให้หลายบริษัทที่ยังไหวอยู่ทำสิ่งเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน อย่าไปหวังพึ่งรัฐบาลอย่างเดียวเลย ช่วยกันได้ก็ช่วยกันไปถึงแม้ว่าจะเป็นงบประมาณของบริษัท

อย่างที่ผมพูดมาโดยตลอดว่า ช่วงเวลานี้ 4 เสาที่ค้ำบัลลังก์ของผู้บริหารระดับสูงอยู่ก็มี 1.ลูกค้า 2.พนักงาน 3.ผู้ถือหุ้น และ 4.สังคม วันนี้สังคมต้องการการเยียวยาที่สุด ผู้ถือหุ้นต้องเสียสละเยอะที่สุด เพราะฉะนั้นเรื่องการซื้อวัคซีนผมโชคดีมีผู้ถือหุ้นที่เข้าใจและเห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ ไตรมาส 4/64 พนักงานของแสนสิริก็จะได้บูสเตอร์ชอต

มาตรการแคมป์คนงานทำ Bubble&Seal เข้มข้น

ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่งจะเผชิญกับมาตรการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง 30 วัน กลับมาเริ่มทำงานก่อสร้างได้ใหม่เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีการทำ Bubble & Seal อย่างเข้มข้น ถ้าสมมติให้ “เศรษฐา” เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะแก้ปัญหาอย่างไร

แคมป์คนงานถ้าติดโควิดดูแลบริหารจัดการได้ง่าย เพราะ 1.เป็นพื้นที่จำกัด 2.เป็นแรงงานต่างชาติ เราสามารถบริหารจัดการดูแลได้ เพราะฉะนั้นกลับไปเรื่องวัคซีน ต้องมีวัคซีนให้เขา แสนสิริหรือหลายบริษัทใหญ่ก็มีการจัดหาวัคซีนมาให้แรงงานเหล่านี้ ถ้าได้วัคซีนแล้วก็ควรจะปล่อย

แต่ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐมีความเชื่อมีข้อมูลพร้อมว่าแคมป์คนงานเป็นจุดกระจายเชื้อโควิดจริง ๆ หน้าที่ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่างเราก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ถ้ามีกาารฉีดวัคซีนแล้ว ทางสาธารณสุขเขตมาดูแล้วพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถปล่อยมาทำงานได้ ผมเชื่อว่าก็เป็นสิ่งที่น่าจะต้องทำ ไม่อย่างนั้นห่วงโซ่ทางธุรกิจก็จะดำเนินต่อไปไม่ได้

รัฐบาลต้องให้ความสำคัญทั้งวัคซีนและฟื้นเศรษฐกิจ

มีการคาดการณ์ 100 วันอันตรายคนไทยจะติดโควิดสายพันธุ์เดลต้าครึ่งค่อนประเทศ มองทางรอดกี่เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ?

จริง ๆ แล้วปัญหานี้ไม่ได้ยากขนาดนั้น ก่อนอื่นเราต้องมีความชัดเจนในแง่ของวัคซีน ผมเห็นด้วยกับรัฐบาลที่บอกว่าวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่เร็วที่สุด วัคซีนแต่ละชนิดก็มีประสิทธิภาพต่างกันไป เข้าใจ แต่ถ้าได้ซิโนแวคได้ซิโนฟาร์มมาวันนี้ก็ต้องเอา เพราะการฉีดวัคซีนไปแล้วก็บรรเทาการติดเชื้อ บรรเทาความรุนแรง และการเสียชีวิตได้ การได้วัคซีนที่เร็วที่สุด 100 วันอันตรายก็จะถูกทอนลงไป

ระหว่างที่เรายังไม่ได้วัคซีน เรื่องที่นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ขอมาตลอดเวลา เรื่อง social distancing การ work from home การระมัดระวังตัว ซึ่งเป็นเรื่องของการดูแลตัวเองด้วยเหมือนกัน กินอาหารให้ครบหมู่ ออกกำลังกาย กินอาหารเสริมที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ออกมาบอกว่าถ้ายังไม่มีวัคซีนก็ต้องดูแลตัวเองไปก่อน นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทา 100 อันตรายให้อันตรายน้อยลง

เรื่องของ 100 อันตราย แป๊บเดียวก็ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนแล้ว ระหว่างนี้อาจมี various อื่น ๆ ออกมาอีกเยอะแยะไปหมด เรื่องการซื้อวัคซีนเข็ม 3 ของรัฐบาลก็สำคัญ วันนี้อย่ามัวแต่พะวงว่าเราจะได้เข็ม 1 เข็ม 2 เมื่อไร่ เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องจัดหาบูสเตอร์ชอตมาให้เรา เตรียมพร้อมไว้ก่อนเลย ไม่อย่างนั้นเราก็จะอยู่ในวงเวียนอย่างนี้ ต่อให้เยียวยาเศรษฐกิจมากขนาดไหนตามก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์เหล่านี้ได้

วันนี้เราต้องมองควบคู่กันไป ในฐานะที่เป็นผู้นำประเทศถ้าท่านนายกฯ มัวแต่พะวงเรื่องวัคซีนอย่างดียว ผมเชื่อว่าก็อาจจะไม่เหมาะสมเท่าไหร่ ท่านต้องดูเรื่องเศรษฐกิจด้วย ต้องมองข้ามชอตไปด้วยว่าถ้าเดือนมกราคม 2565 เราฉีดวัคซีนได้ 100 ล้านโดสแล้ว การท่องเที่ยวกลับมาเปิดได้ มีสายการบินบินเข้ามาไหม นกแอร์ แอร์เอเชีย การบินไทย บางกอกแอร์เวย์สเป็นยังไง แข็งแรงพอที่จะเป็นสายการบินที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาได้หรือเปล่า คนที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวจะอยู่ไปได้ถึงวันนั้นหรือเปล่า

เชียร์รัฐบาลกู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท

วันนี้เรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเท่า ๆ กับเรื่องวัคซีน ผมอ่านสัมภาษณ์ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ) ก็มีกำลังใจขึ้นมาว่าน่าจะกู้เงินอีก 1 ล้านล้านบาทมาเยียวยา ท่านก็ถูกถามว่าอย่างนั้นจะทำให้อัตราหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงขึ้นหรือเปล่า จะพาประเทศไปสู่หายนะหรือเปล่า ท่านก็ตอบว่าถ้าไม่กู้จะแย่กว่านี้อีก กู้มาก็ต้องใช้ให้ถูกทางด้วย

แต่วันนี้ก็หมดหวังไปอีกหน่อยก็เศร้าอีกหน่อยที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (อาคม เติมพิทยาไพสิฐ) บอกว่าไม่จำเป็นต้องกู้ ผมว่าก็เป็นอะไรที่ผู้นำต้องเด็ดขาด เป็นหน้าที่ท่านนายกฯ ว่าออกคำสั่งแล้วจะทำหรือไม่ทำ จะปล่อยให้ลูกหาบมาเล่นละครรายวันไม่ได้

“เศรษฐา” วิพากษ์ตรงไปตรงมาว่า การบริหารประเทศเป็นหน้าที่รัฐบาล อาสามาทำแล้วต้องทำให้ได้ ไม่ใช่อธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้ ต้องมีการตัดสินใจที่เด็ดขาดมากกว่านี้

ที่ผมพูดอย่างนี้อาจจะเหมือนการตำหนิรัฐบาลแต่จริง ๆ แล้วเราทุกคนรักประเทศเหมือนกัน เราทุกคนอยากให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้ เราทุกคนอยากให้คนที่อ่อนแอกว่าแข็งแรงขึ้นมา และเมื่อโควิดหมดไปก็สามารถมีงานทำและอยู่ได้อย่างสันติสุข เพราะฉะนั้นที่ออกมาพูดค่อนข้างตรงไปตรงมาไม่ได้หมายความว่าไม่ให้กำลังใจท่านนายกฯ ไม่ได้หมายความว่าไม่ชอบเป็นการส่วนตัวเพราะผมไม่รู้จักท่าน แต่เท่าที่ดูแล้วการบริหารจัดการประเทศยัง (ทำให้) ดีขึ้นได้อีกเยอะ

หดหู่ใจที่สุด ข่าวคนป่วยโควิดนอนตายในบ้าน

สถานการณ์โควิดเรื่องที่สะเทือนใจที่สุดของ “เศรษฐา” คืออะไร

ดูข่าวแล้วหดหู่ใจกับอัตราการเสียชีวิต อัตราการติดโรค เรื่องร้านที่ถูกปิดกิจการ อีกอย่างหนึ่งคือวิธีการที่เขาเสียชีวิต บางคนนอนอยู่ในบ้านกำลังคอยอยู่ สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนคนไทยคือต้องเข้าถึงระบบการรักษาสุขภาพที่ดี ขณะนี้ประเทศของเราไม่สามารถออฟเฟอร์สิทธิพื้นฐานเหล่านี้ให้กับเขาได้ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

คิดถึงภาพรวมแค่นี้ผมคิดว่าคนที่แข็งแรงกว่าก็ไม่ควรที่จะนอนหลับอย่างสบาย คุณต้องเข้าใจ ถ้าวันนี้ผมไม่สบายผมไปหาโรงพยาบาล เพราะผมเป็น CEO แสนสิริ ผมมีเส้นสายมีพรรคพวกผมไปโรงพยาบาลได้ บางคนชีพจรแผ่วลงไปอีกไม่กี่ชั่วโมงถ้าเขาได้รับยาได้รับออกซิเจนที่เพียงพอเขาอาจมีชีวิตอยู่รอดได้ แต่เขาเข้าถึงไม่ได้ มีกี่คนที่อยู่ในสภาพนี้ ผมว่าเป็นอะไรที่เราไม่ควรจะยอมรับได้

และไม่ใช่เวลาที่จะมาบอกว่าเป็นความผิดของใคร ถ้ามัวแต่เถียงกันด่าทอกัน ผมว่าคนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือเหล่านั้นจะเป็นคนที่ซัฟเฟอร์มากที่สุด วันนี้ช่วยได้ ช่วย ทำอะไรได้ก็ทำไปก่อน ทำเร็ว ทำไมคุณเศรษฐาช่วยคนนี้แต่ไม่ช่วยคนนี้ ก็ผมช่วยไหวผมก็จะช่วย ซื้อลำไยอาจจะไม่มีประโยชน์เท่ากับซื้อถังออกซิเจน แต่ผมก็ซื้อถังออกซิเจนด้วย คือเราไหวตรงไหนเราก็ทำ ทำด้วยสปีดที่รวดเร็ว

ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน

กับคำถามถ้ามีอำนาจรัฐในมือจะแก้ไขอะไรภายใน 90-180 วัน “เศรษฐา” บอกว่า ถ้าสมมุติว่าเป็นนายกรัฐมนตรีมีหลายเรื่องเหลือเกินที่ต้องทำ โฟกัส 3 เรื่อง เริ่มจากเรื่องรัฐธรรมนูญยังไงก็ต้องแก้ เป็นเรื่องที่ทำให้สังคมไทยพิกลพิการ เพราะการที่คนมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ท่านก็มีเสียงสนับสนุนจาก 250 ส.ว. ซึ่งเลือกโดยคน 10 กว่าคน ส่วน ส.ส.อีก 500 เสียงเลือกมาโดยประชาชน 28 ล้านคน

นั่นคือ 500 เสียงทำงานเพื่อประชาชน 250 เสียงทำงานเพื่อคนที่เลือกเข้ามา เพราะฉะนั้นคนที่เขาเลือกมาจะทำงานเพื่อใคร แก่นสารของผู้นำต้องเห็นประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องเห็นความลำบากยากแค้น โควิดเรื่องสำคัญที่สุดคือวัคซีน เราใช้วิธีอะไรมาแล้วก็ว่ากันไป จะให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรมไปติดต่อมา ได้วัคซีนมาไม่เพียงพอ ในฐานะนายกฯ ต้องยกหูหาผู้นำประเทศที่มีวัคซีน ผู้นำจีน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ผู้นำรัสเซีย ประเทศไทยยังไงก็เป็นที่ต้องการในแง่ธุรกิจ เป็นที่ใฝ่ฝันว่าคนอยากมาลงทุน

วันนี้ถ้าท่านนายกฯ ประยุทธ์ยกหูหาประธานาธิบดี โจ ไบเดน แล้วบอกว่าต้องการอะไร จะให้เราซื้อสินค้าอะไรก็บอกมา หรือจะให้ซื้อเครื่องบิน F16 ก็ยอมซื้อ แต่ต้องขอวัคซีนไฟเซอร์, โมเดอร์นา, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันมา 50 ล้านโดส แล้วต้องมาจริง ๆ สมมุติวัคซีนโดสละ 1,000 บาท ประชากรไทย 70 ล้านคน ตามสูตรแล้วควรมีวัคซีน 3 เท่าของประชากรไทย ประมาณ 200 ล้านโดส คูณ 1,000 ก็ประมาณ 2 แสนล้านบาท นำ 2 แสนล้านบาทหารเขาไปในงบกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งสมมุติมี 3 ล้านล้านบาท สัดส่วนแค่ 6.7%
จะซื้ออะไรก็ซื้อเถอะ ประเทศจีนเขาก็อยากขายรถไฟหรืออุปกรณ์หลายอย่างให้เราซื้อเขาแล้วขอวัคซีนเข้ามาด้วย อันนี้ยังไม่ลงรายละเอียดว่าเป็นซิโนฟาร์มหรืออะไรก็ตาม

เราตั้งอยู่บนสมมติฐานก่อนว่าวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่เร็วที่สุด เพราะฉีดแล้วก็ลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราความรุนแรงและการเสียชีวิตวัคซีนเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องการใช้ geopolitics ภูมิศาสตร์การเมืองที่จะต้องเล่นพ่อแง่แม่งอนกับจีน สหรัฐอเมริกา เพื่อให้เขาส่งมอบวัคซีนให้เรา เป็นหน้าที่ของผู้บริหารสูงสุดของประเทศคือท่านนายกรัฐมนตรี เป็นภารกิจที่ท่านต้องทำ ไม่ใช่สั่งให้นาย ก นาย ข สั่งให้กระทรวง ก กระทรวง ข ไปทำ เป็นหน้าที่ที่ท่านต้องทำและต้องทำให้ได้

กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์

เรื่องมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ วันนี้ท่านต้องเตรียมการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะเราไม่เคยเจอวิกฤตที่ยากขนาดนี้ ที่สาหัสขนาดนี้ มีคนเสียชีวิตเยอะขนาดนี้ มีการตกงานเยอะขนาดนี้มาก่อน ถ้าท่านไม่ทำ ถ้าท่านไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ไปถึงวันนั้นที่เราหลุดจากโควิดได้ ประเทศไทยก็จะล้าหลังประเทศอื่น ทำให้เราไม่สามารถอยู่ในการค้าโลกได้

เอกชนพร้อมที่จะสนับสนุน ผมนายเศรษฐา ทวีสิน พร้อมที่จะเป็นกำลังใจให้ท่านให้บรรลุได้ถึงภารกิจนี้

โจทย์ใหญ่ประเทศไทย “ช่องว่างความเหลื่อมล้ำ”

มุมมองตรงไปตรงมาตามสไตล์ “เศรษฐา” เป็นผลกระทบที่มีจุดเริ่มต้นมาจากรัฐธรรมนูญ ส.ว. 250 คนมีสิทธิ์มหาศาล ผมยืนยันไม่ได้บอกว่า ส.ว.เป็นคนไม่ดี แต่ที่มาที่ไปมันผิด ท่านไม่ควรมีสิทธิ์มาเลือกนายกรัฐมนตรี นี่คือต้นตอของความเหลื่อมล้ำ ผมเป็น 1 ใน 28 ล้านเสียง ผมทำได้แค่นี้ ประเด็นนี้คือความเหลื่อมล้ำทางการเมือง และก็ส่งผลไปทุก ๆ แง่มุม ไม่ว่าจะเรื่องวัคซีน VVIP คนที่ยังไม่ควรได้ก็มาแย่งเขา

สิ่งเหล่านี้เป็นความพิกลพิการทางสังคมไทยซึ่งเราไม่ควรยอมรับ และต้องแก้ไข เป็นสิ่งที่หลังวิกฤตนี้ผ่านไป การรีคัฟเวอร์ของเศรษฐกิจไทยจะเป็น V Shape Recovery คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลง ความห่าง (ความเหลื่อมล้ำ) ตรงนี้จะห่างมากขึ้นเยอะ ถ้าห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ คนที่อยู่ข้างล่างจะอยู่ได้อย่างไร การกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องใช้เงิน รัฐบาลก็มีรายจ่ายเยอะจะเอาเงินมาจากไหน

รายได้หลักของประเทศคือภาษี คนที่ควรจะจ่ายภาษีเยอะหรือถ้าจะต้องมีการเปลี่ยนฐานภาษี ก็จะต้องเปลี่ยนฐานภาษีกับคนที่เเข็งแรง นั่นก็คือฐานบนหรือฐานภาษีจากคนรวย ผมยืนยันว่าคนที่แข็งแรงคนที่มีเงินเยอะก็ต้องเสียภาษีเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษีมรดก อย่าลืมว่าภาษีจ่ายเมื่อคุณมีรายได้ มรดกก็ถือเป็นรายได้ อย่าไปเก็บใครที่ไม่มีรายได้ ภาษีเป็นมาตรการทางการคลังที่นำมาซึ่งความเสมอภาคของชนทุกชั้น นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากคอลเอาต์

“เศรษฐา” ฝากข้อคิดด้วยว่า (เรื่องภาษี) อย่าให้มีการแอนตี้เกิดขึ้น อยากให้ทุกคนรับฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง เพราะหลังจากวิกฤตินี้แล้ว ประเทศไทยต้องการงบประมาณเพิ่มมากขึ้น ต้องมีการเก็บภาษี อย่าให้คนที่อ่อนแอหรือรายได้น้อยต้องซัฟเฟอร์กับการที่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบการเก็บภาษี เขาต้องได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ คนที่ต้องเสียสละคือคนที่อยู่ฐานบน

แรงงานคืนถิ่น-ดูแลราคาพืชผลเกษตรกร

สำหรับมาตรการเยียวยาสถานการณ์โควิดของรัฐบาลมีอะไรที่ทำเพิ่มหรือลด มีอะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องทำบ้าง

มาตรการเยียวยารัฐบาลทำเยอะมาก ทำเป็นชอต ๆ ไป มันหมือนให้ยาเสพติด ค่อย ๆ ให้ไปทีละ 2,000 บาท 2,500 บาท 5,000 บาท ไม่มีอะไรที่ต่อเนื่อง ไม่มีอะไรที่ประชาชนคนที่เดือดร้อนสามารถวางแผนระยะยาวกับการเยียวยาได้ ถ้าให้อะไรต้องให้ชัดเจน ต้องให้มากพอ ไม่ใช่ให้ 1 เดือนก็หมดแล้ว พรุ่งนี้จะทำยังไง ผมว่ามันเป็นวิธีการที่ให้คนเสพติดกับการที่ต้องมีการ handout เป็นเกมการเมือง ก็อาจจะช่วยได้บ้าง แต่ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ

มีหลายประเทศซึ่งพอเกิด pandemic ขึ้นมารัฐบาลเขาประกาศระยะยาวเลยว่าจะ subsidies เรื่องเงินเดือนของธุรกิจที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว 70% เป็นเวลา 6 เดือน อย่างน้อยสบายใจได้แล้ว โควิดที่เกิดขึ้นอย่าลืมหลายธุรกิจต้องหยุดกิจการไป ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต้องหยุดไป

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ทำงานเกี่ยวกับภาคส่วนเหล่านี้ก็มีการแยกย้ายกลับไปภูมิลำเนาเดิม ส่วนมากอาชีพหลักของคนไทยคือเกษตรกรรม อาจจะทำเกษตรกรรมต่อ พืชผลหลัก ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด เหล่านี้คุณ (นักการเมือง) จะอยู่พรรคอะไรก็เรียก (นโยบาย) กันไปตามที่อยากจะเรียก ประกันข้าว จำนำ หรือจ้างผลิตก็ได้ แต่เงินต้องเข้าสู่กระเป๋าของเกษตรกรให้เยอะ ต้องมีการเมกชัวร์ว่าราคาพืชผลที่เขาได้มาเป็นราคาที่สามารถนำไปดำรงชีวิตอยู่ได้ อันนี้ก็อยากจะทำควบคู่กันไป

“การเมือง” ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงค่อยเป็นค่อยไป

คำถามถึงการเมืองท้องถนนที่คนขับเคลื่อนส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ในฐานะพ่อมองการเคลื่อนไหวของเด็กสมัยนี้อย่างไร อนาคตของคนรุ่นหนุ่มสาวจะเป็นอย่างไร

“เศรษฐา” ตอบคำถามประเด็นนี้ยาว โดยยอมรับว่าเป็นคำถามที่ยาก ตอบไปแล้วก็คงไม่ทำให้ทุกคนแฮปปี้ แต่ผมขอเริ่มต้นอย่างนี้ว่า ปีหน้าผมอายุ 60 ปีแล้ว เราอยู่มานานเห็นวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเมืองมาเยอะ อย่างหนึ่งซึ่งคนเจเนอเรชั่นอย่างเราควรที่จะสำนึกคือ การเปลี่ยนแปลงของโลกยังไงก็ต้องเปลี่ยนแปลง คุณจะไปต้านมัน ต้านไม่อยู่หรอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ digitization การอยู่อาศัย การบริการ เช่น 10 ปีที่แล้วการใช้ฟู้ดแอปไหม บิตคอยน์ มือถือ หลาย ๆ อย่างเราต้องยอมรับ

ถ้าคุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ มีหลายธุรกิจที่ล้มหายตายจากไปก็ไม่สามารถที่จะปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ เพราะฉะนั้นผมก็ต้องสอนลูกหรือหลาน สอนที่ทำงานตลอดว่าคนเราเรื่องของการเปลี่ยนแปลงมันมีอยู่แล้ว เรื่องของการยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า

แต่การเปลี่ยนแปลงต้องค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป แล้วถ้าผู้ใหญ่ไม่ยอมรับ เหนื่อย ลำบาก ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอย่างค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปก็จะเกิด revolution (รัฐประหาร) ขึ้น revolution เกิดขึ้นมาเเมื่อไหร่ก็มีการเสียเลือดเนื้อเยอะมาก วันนี้ต้องหันหน้าเข้าหากัน ต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลด้วยวาจาที่สุภาพ อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

เราอยู่ด้วยกันในประเทศไทยประชากร 70 ล้านคน มีหลายเจนเนอเรชั่น มีหลายท่านที่รักชอบใคร มีหลายท่านที่ไม่รักชอบใคร การพูดจาด้วยเหตุด้วยผล อย่าเอาความมันส์ปากเข้ามาพูด ไม่อย่างนั้นจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ถ้าเป็นคนฉลาดแล้วพูดแค่นี้ก็ควรที่จะรู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ หันหน้าเข้าหากันโดยให้คนอื่นเดือดร้อนน้อยที่สุด

การใช้กำลังทั้งสองฝ่ายผมยืนยันผมไม่ยอมรับผมไม่เห็นด้วย ไม่ต้องเป็นลูกเราลูกเขาลูกใครก็ตามที บาดเจ็บไปมันบีบหัวใจมาก เราคนไทยด้วยกัน วันนี้อยู่ในภาวะสงครามกับโรคที่ไม่เคยเจอมาก่อน วันนี้ (จลาจลทางการเมือง) มีการยิงเข้าท้ายทอยซึ่งจริงเท็จยังไงใครเป็นคนทำเรายังไม่ทราบ

แต่การพูดคุยการรับฟังความคิดเห็น และความประสงค์ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงผมถือว่าเป็นสิ่งที่จะต้องรับฟัง ประเด็นที่ไม่ขัดกับจารีตประเพณีของความเป็นคนไทย อย่าฝรั่งจ๋าจนเกินไป ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปดีกว่า แล้วก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป ชีวิตผมอาจจะไม่ได้เห็นแต่ก็ขอให้เปลี่ยนแปลงไปในทางสันติวิธี แล้วเราก็อยู่กันได้อย่างมีความสุข

ขณะเดียวกัน ผมกำลังบอกผู้ใหญ่ว่าคุณก็ต้องฟังด้วยเหมือนกัน เพราะผู้ใหญ่บางคนปัจจุบันนี้เรื่องเทคโนโลยีเขาเข้าไม่ถึง พอเข้าไม่ถึงก็จะเฉา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเหมือนกัน การที่ผู้ใหญ่ต้องรับฟัง แล้วอะไรที่ให้เขาได้ผมว่าให้ไปเถอะ อย่าคิดว่าทุกอย่างเป็นในเชิงการเมือง ทำไม่ได้ ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้องพอให้เขาได้ก็ให้เขาไปเถอะ

แก้รัฐธรรมนูญ ดับไฟการเมืองบนท้องถนน

จากเหตุการณ์จลาจลการเมืองคิดว่าเรื่องอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน

คำตอบคือเรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นกฎของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เป็นกฎหมายสูงสุด ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ผมอยากเห็นผู้มีอำนาจหรือท่านนายกรัฐมนตรีมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้ไปสู่สันติสุข เป็นการที่จะดับไฟตั้งแต่ต้นลง อะไรที่ชัดเจนว่าขัดกับหลักประชาธิปไตย และนำมาซึ่งความเสมอภาค ทำได้ทำเถอะครับ ทำเลย

คำถามอยากพูดอะไรกับผู้ใหญ่ด้วยกันที่ยังมองเด็กรุ่นใหม่ที่มีความฝันทั้งการเมือง อุดมการณ์ เป็นศัตรู?

คำตอบแสดงจุดยืนคือ เริ่มต้นก็ผิดแล้ว ถ้าไปบอกว่าเด็กเป็นศัตรูก็ผิดแล้ว มันไม่ใช่หรอกครับ อย่าไปมองว่าเขาถูกเป่าหูมา ถ้าไปดูถูกเขาว่าถูกซื้อมา ถ้าเริ่มต้นอย่างนี้จะเรียน ก-ฮ มันเรียนไม่ได้ จะเขียน ก ข ยังเขียนไม่ได้เลย เริ่มต้นเปิดมาให้มีความอบอุ่น ให้มีความจริงใจในการรับฟังเขา เพราะเขา (ม็อบทะลุฟ้า) ก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกัน ป็นเพื่อนลูกเพื่อนหลานของคุณเหมือนกัน เป็นอนาคตของชาติ เป็นคนหนึ่งซึ่งจะนำประเทศไปสู่ความเจริญในอนาคตเหมือนกัน

อย่าไปมองว่าเขาเป็นศัตรู อย่าไปมองว่าเขาไร้สาระ อย่าไปมองว่าเขาถูกใครปั่นหัวมา เริ่มต้นตรงนี้บนสมมติฐานนี้ก็เป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ไม่ได้แล้ว ยังไงก็ต้องรับฟังเขา แต่ถ้าเด็กพูดจาไม่เหมาะสมก็ว่ากันไป ก็ต้องคุยกัน แต่อย่าไปมีธงว่าเขาถูกจ้างมา อย่าไปมีธงว่าเขาจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ลองมีธงว่าเขาอยากจะให้ประเทศพัฒนาไป ลองมีธงว่าเขาอยากให้เจนเนอเรชั่นทุกเจนเนอเรชั่นทุก ๆ จุดรวมของหัวใจเราเดินไปข้างหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทุกเสาของสังคมต้องถูกเทคแคร์ด้วยความเคารพนับถือ ด้วยความจริงใจ ก็จะเดินไปข้างหน้าได้

ประเทศเราบอบช้ำเยอะแล้ว เราผ่านกันไปเยอะมากแล้ว ถ้าจุดเริ่มต้นพอไม่ฟังอะไรแล้วมันก็ไม่ได้แล้ว

ทางออกบนถนนประชาธิปไตย ตัวแปรอยู่ที่ “เด็กกับผู้ใหญ่”

คำถามว่าการเมืองต้องเริ่มจากการรับฟังกันของทุกฝ่ายทุกช่วงวัย?

ข้อแนะนำเพิ่มเติมของ “เศรษฐา” คือ อย่าจัดฉากมารับฟังนะ ต้องรับฟังจริง ๆ และมีขั้นตอนต่อไปที่ชัดเจน มีไทม์ไลน์ที่ชัดเจนเหมือนกับที่เราทำธุรกิจกัน จะทำอะไรตกลงกันได้แค่ไหน วันนี้ให้ได้แค่นี้ก่อนนะ จะเสร็จภายในวันนี้ ๆ ไม่ใช่ไปหลอกเขาว่าจะทำแล้วไม่ให้เขา แล้วก็หาเหตุผลมาอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้

ผมก็เข้าใจทั้งสองฝ่าย ถ้าผมเป็นผู้ใหญ่แล้วเด็กมาทำอะไรที่ก้าวร้าวพูดจาไม่เหมาะสม ผมเองก็ของขึ้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเบาด้วยกันทั้งสองฝ่ายประเทศก็เดินไปข้างหน้าได้ อย่ามากล่าวหาว่าไม่รักประเทศ อย่าเริ่มต้นอย่างนั้นเลย เราเป็นผู้ใหญ่เราต้องเข้าใจเด็กมากกว่า เราต้องเป็นฝ่ายที่ให้อภัยมากกว่าเพราะเขาเป็นเด็ก เราต้องฉลาดกว่าที่จะใช้วิธี handle เขา บริหารจัดการเขาให้เขาเข้ามาอยู่ใน mainstream ของสังคมของเราได้

สรุปก็คือผู้ใหญ่ต้องเปิดใจกว้าง 100% ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือผู้ใหญ่ไม่เปิดกว้าง แต่ปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากเด็กเหมือนกัน ซึ่งอย่างที่เรียนไปแล้วว่าวิธีการพูดจาที่ aggressive อาจทำให้ผู้ใหญ่หลายเจนเนอเรชั่นยอมรับไม่ได้

ต้องขอโทษด้วยนะครับถ้าผมพูดอะไรที่ชัดเจนไปนิดหนึ่งสำหรับหลาย ๆ เจนเนอเรชั่น ผมไม่มีเจตนาอื่น แต่อยากให้มีความชัดเจนเกิดขึ้นในการที่จะแก้ไขปัญหาประเทศ

ตำแหน่งอันทรงเกียรติ “เศรษฐา” ไม่พร้อมนั่งนายกฯ

ในช่วงถาม-ตอบ มีเสียงเชียร์ให้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม คำตอบที่ชัดเจนที่สุดของ “เศรษฐา” คือ

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติ คนที่จะมาต้องมีความพร้อมมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตัดสินใจ เรื่องการเห็นหัวคน เรื่องการเข้าถึงได้ทุกภาคส่วน และเรื่องที่สำคัญที่สุดคือต้องมาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว

ตัวผมเองผมมีความพอใจในสิ่งที่ผมทำอยู่ ผมเข้าใจว่าตัวผมเองมีขีดจำกัดหลายเรื่อง ตัวผมเองไม่มีความทะเยอทะยาน สิ่งที่ผมทำอยู่ผมก็หวังว่าจะช่วยประเทศชาติได้ ที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ทำอสังหาริมทรัพย์ หรือมาพูดคุยกับพรรคพวกในปัจจุบันนี้ผมถือว่าเป็นสิ่งที่ผมทำได้ และทำได้ในขีดความสามารถที่ตัวเองมีอยู่

เราต้องมีความเข้าใจตัวเองว่าเรายังไม่เหมาะสม เราก็ไม่มีความทะเยอทะยานเรื่องนี้ ช่วยชาติไหมอยากช่วย อยากช่วยทุกคนไหมอยากช่วย อยากเป็นกำลังใจให้ท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันไหมก็อยากเป็นกำลังใจให้ แล้วก็อยากจะช่วยแนะนำ มีความหวังดีกับประเทศชาติ ไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่อยากจะไปถึงจุดนั้น

ผมพอใจในชีวิตที่ตัวเองยืนอยู่ในปัจจุบันนี้พอสมควรแล้ว บริษัทเองก็เหนื่อยแล้ว ช่วยพรรคพวก ช่วยซัพพลายเออร์ต่าง ๆ ก็ภาคภูมิใจอยู่แล้ว ทุกวันนี้ก่อนเข้านอนก็มีการคิดถึงตัวเองเสมอว่าเราได้ทำอะไรที่เราช่วยคนอื่นบ้างหรือเปล่า ถ้าวันไหนทำน้อยหรือไม่ได้ทำเลยก็จะไม่ค่อยสบายใจ

ถ้าเราคิดได้แค่นี้ผมเชื่อว่ามันก็เป็นการช่วยชาติได้อย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นจะต้องไปใฝ่สูงถึงขนาดไปเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าเกิดมีใครมาชวนหรือมีคำแนะนำหรือมีการเสนอแนะอะไรก็ถือว่าเป็นคำขอบคุณ ไม่ได้มีความทะเยอทะยานอะไรเหล่านั้นเลย

จุดยืนที่เน้นย้ำมากที่สุดเกี่ยวกับเสียงเชียร์ให้เข้าสู่ถนนการเมืองและเป็นนายกรัฐมนตรี

“เศรษฐา” ตอบโดยไม่ลังเลว่า ไม่ใช่ตอนนี้แน่นอน ตอนนี้ผมมั่นใจว่าผมยังไม่สามารถที่จะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้ ถ้ามา (เป็นแขกรับเชิญข่าวสด clubhouse) เพราะอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีผมว่ามันไม่ใช่ เพราะต้องแบกภาระของประชาชน 70 ล้านคนไว้ ถ้าเราทำไม่ได้มันไม่ใช่เราพังคนเดียว มันพังทั้งประเทศ

ผมเชื่อว่ามีผู้ใหญ่หลายท่านที่มีความสามารถ มีความเหมาะสม มีความพร้อมมากกว่า นักการเมืองก็ไม่ใช่หมายความว่าจะใช้ไม่ได้ ก็มีหลายท่านหลายพรรคที่เสนอตัวอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติ และไม่ใช่ว่านาย ก นาย ข หรือจะเป็นนายเศรษฐามานั่งได้ ผมว่ามันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอกครับ

เราต้องมีความประมาณตัวเองให้ดี แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ช่วยต่อไป เราก็ยินดีที่จะช่วย