4 เกมปั้น อสังหาฯปีเสือ (3) ยุคโอมิครอน แผนลงทุนไฮบริดคือคำตอบ

4 คน อสังหาฯ

เดือนแห่งความรัก กุมภาพันธ์ 2565 ยังอยู่ในบรรยากาศการประกาศแผนลงทุนใหม่ในช่วงต้นปี

“ประชาชาติธุรกิจ” ตามไปดูแผนธุรกิจของ 4 บิ๊กแบรนด์ ซึ่งนำเสนอเป็นตอนที่ 3 ของซีรีส์อสังหาริมทรัพย์ปีเสือ ภาพรวมมีการส่งสัญญาณปรับตัวปรับกลยุทธ์การทำมาหากินไปตามสถานการณ์โอมิครอน

พฤกษาฉกมือดีบุกสตาร์ตอัพ

เริ่มจากค่ายพฤกษา เรียลเอสเตท เรื่องใหม่ของบริษัทคือการเปิดตัวผู้บริหารที่เชื้อเชิญมาจากบิ๊กแบรนด์อีกราย และทำงานประจำสำนักงานฮับในสิงคโปร์มาก่อน “อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง (มหาชน) ผู้บริหารที่รายงานตรงกับเจ้าพ่อพฤกษาฯ “ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์” ทำให้กลิ่นอายการแถลงข่าวอิงกับตัวเลขสไตล์สิงคโปร์

“อุเทน” ประกาศเป้ายอดขายปี 2565 เพิ่ม 23% จำนวน 31 พันล้านบาท หรือ 31,000 ล้านบาท ยอดโอนเติบโต 18% ที่ 33 พันล้านบาท หรือ 33,000 ล้านบาท

ภารกิจที่แฮนเดิลด้วยตัวเองคือ งบฯลงทุน 3.5 พันล้านบาท เพื่อปลั๊กอินค่ายพฤกษาฯ เข้าสู่โลกสตาร์ตอัพ ไล่ล่าอนาคตที่พฤกษาฯ จะเป็นยูนิคอร์นตัวใหม่ในโลกเทคโนโลยีดิสรัปชั่นภายใต้โมเดลการลงทุนในธุรกิจ “New Corporate Venture”

โดยปี 2565 บริษัทวาง 4 กลยุทธ์ 1.ปรับ portfolio ลดสต๊อก เพิ่มสัดส่วนกลุ่มลูกค้าเรียลดีมานด์บ้านระดับพรีเมี่ยม 2.บริหารจัดการที่ดินในมือ 157 ผืน มูลค่า 15.4 พันล้านบาท, โครงการอยู่ระหว่างการพัฒนา 145 โครงการ มียูนิตพร้อมอยู่ 2,300 ยูนิต

3.ความร่วมมือ (synergy) ธุรกิจอสังหาฯกับโรงพยาบาลวิมุตในเครือ เปิดศูนย์ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงวัยในโครงการ และ 4.สร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ตามหลัก ESG

“การลงทุนใน Corporate Venture Fund 3.5 พันล้านบาท มองหาการลงทุน 2 กลุ่ม คือ พร็อพเทค เช่น โซลูชั่นที่สร้างประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า การขายและการตลาดดิจิทัล Smart Home IOT Senior Living, Nursing Home เป็นต้น อีกเรื่องคือ เฮลท์เทค เน้นแพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ผ่านอินเทอร์เน็ต”

โดยต้นปี 2565 มีการลงทุนในบริษัท Clinical Laboratories, Digital Heath และ Genomic Labs ที่สิงคโปร์ อีกทั้งยังมีการจัด Bootcamp เพื่อคัดเลือกทีม External Venture Building จากทีมที่สมัครเข้ามามากกว่า 100 ทีม ควบคู่กับเฟ้นลงทุนสตาร์ตอัพในต่างประเทศภายในเดือนมีนาคมนี้

ปิยะ ประยงค์
ปิยะ ประยงค์

ส่วนผู้บริหารหลัก “ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนลงทุนใหม่ปีเสือ จุดโฟกัสอยู่ที่ตลาดบ้านแนวราบ โดยวางแผนเปิด 22 ทาวน์เฮาส์ 6 บ้านเดี่ยว กับ 3 คอนโดมิเนียม มูลค่าโครงการรวม 16,300 ล้านบาท

ไฮไลต์แผนธุรกิจปีนี้ ปัจจัยบวกมาจากคอนโดฯสร้างเสร็จพร้อมส่งมอบ 7 โครงการ มูลค่า 29,000 ล้านบาท เป็นตัวแบ็กอัพเป้ารับรู้รายได้ 33,000 ล้านบาท ได้ดูมีความเป็นไปได้สูงขึ้นทันตาเห็น ขณะที่บริษัทเบาตัวลงจากการระบายสต๊อกจาก 23,300 ล้าน เหลือเพียง 7,500 ล้านบาท

และ “นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด ธุรกิจโรงพยาบาลที่เปิดบริการตั้งแต่พฤษภาคม 2564 และเป็นคีย์ซักเซสในการบุกตลาดเฮลท์แคร์ของพฤกษาฯ โดยลงทุนแห่งแรก ViMUT Health Center ขนาด 50 เตียง ที่โครงการพฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน เตรียมเปิดบริการเดือนสิงหาคม 2565

เพอร์เฟคโตแข็งแกร่งทั้งโอน-เช่า

ถัดมา “ศานิต อรรถญาณสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) แผนลงทุนไฮบริดที่มีพอร์ตรายได้ทั้งสินค้าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย กับรายได้ประจำ (recurring income) จากธุรกิจโรงแรมภายใต้บริษัทลูก “บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)”

เพอร์เฟคตั้งเป้ารายได้รวมปีเสือ 28,300 ล้านบาท มาจากพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค 12,000 ล้านบาท, แกรนด์ แอสเสทฯ 2,800 ล้านบาท, ขายที่ดิน ขายการลงทุนในโรงแรม และจัดตั้งกองทรัสต์ 8,500 ล้านบาท, รายได้โครงการร่วมทุน 5,000 ล้านบาท

ศานิต อรรถญาณสกุล
ศานิต อรรถญาณสกุล

“ปีนี้กลุ่มเพอร์เฟคเน้นการจัดการโครงสร้างทางการเงินให้แข็งแกร่ง มีเป้าหมายลดภาระหนี้ จากเดิมหนี้สินต่อทุน 2.1 เท่าในปี 2563 ลดเหลือ 1.7 เท่าในปี 2564 โดยปีนี้ต้องการลดเหลือ 1.2 เท่า”

คีย์ซักเซสด้านรายได้ฝากความหวังไว้กับดีล JV-joint venture กับพันธมิตรต่างประเทศ 3 ราย ได้แก่ “ฮ่องกงแลนด์-ซูมิโตโม ฟอร์เรสทรี-เซกิซุย เคมิคอล” รวมทั้งเพิ่งแตกไลน์ลงทุนถุงมือยาง ซึ่งจะสร้างรายได้อีก 2,152 ล้านบาท

สำหรับที่อยู่อาศัย บริษัทวางแผนเปิด 15 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 26,210 ล้านบาท แบ่งเป็น บ้านเดี่ยว 12,845 ล้านบาท บ้านแฝดและทาวน์โฮม 1,930 ล้านบาท โครงการร่วมทุน 11,435 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท แกรนด์ แอสเสทฯ ตั้งเป้ารายได้ปีเสือฟื้นตัวตามเทรนด์เศรษฐกิจไทย ตั้งเป้ารายได้ 1,000 ล้านบาท จากการโอนคอนโดฯ “ไฮด์ เฮอริเทจ ทองหล่อ” พร้อมโอนไตรมาส 2/65 ธุรกิจโรงแรม 1,800 ล้านบาท และโครงการร่วมทุน 2,700 ล้านบาท

“ปีนี้เชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง คาดว่าโรงแรมจะมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่า 50% โดยเน้นการท่องเที่ยวในประเทศ”

FPT โฟกัสแผนลงทุนยั่งยืน

สถานการณ์โควิดนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างเห็นได้ชัด โดย “แสนผิน สุขี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม จำกัด ในเครือเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย หรือ FPT

กลยุทธ์การแข่งขันในปีเสือ เฟรเซอร์สฯ โฮม มีการปรับพอร์ตสินค้าใหม่ จากเดิมทาวน์เฮาส์แบรนด์โกลเด้นทาวน์เคยมีสัดส่วนพัฒนาโครงการ 55-60% ยุคโควิด 2 ปีที่ผ่านมาทำให้อัตราปฏิเสธสินเชื่อในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้นถึง 60-70% ในกลุ่มราคาตลาดกลาง-ล่าง ปีนี้จึงปรับสมดุลพอร์ตมีสัดส่วน 30%

แสนผิน สุขี
แสนผิน สุขี

และหันไปเพิ่มบทบาทสินค้าบ้านแฝดแบรนด์นีโอโฮม กับบ้านเดี่ยวแบรนด์แกรนดิโอ ราคา 8-20 ล้านบาท กับรอยัล เรสซิเดนซ์ แบรนด์ลักเซอรี่ 80-200 ล้านบาท สัดส่วนรวมกัน 54% และโครงการต่างจังหวัด 12%

บริษัทวางแผนพัฒนา 25 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 29,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้ชะลอเปิดตัวในปีที่แล้ว 10 โครงการ มูลค่า 19,000 ล้านบาท โดยโครงการใหม่มี 10 ทาวน์เฮาส์ 2 บ้านแฝด และ 10 บ้านเดี่ยว และขยายลงทุนเพิ่มอีก 3 จังหวัด ตั้งเป้ารับรู้รายได้ 13,000 ล้านบาท

เรื่องใหม่คือเฟรเซอร์สฯ โฮม เตรียมเปิดตลาดคอนโดฯ วางแผนซื้อที่ดิน 1-2-5-7 แปลง ในปี 2565-2568 โดยคาดว่าจะสามารถโอนแท่งแรกได้ภายในปี 2567 เจาะกลุ่มเจน Y มีไลฟ์สไตล์อยู่ในเมือง

จุดแข็งของเฟรเซอร์สฯ โฮมคือ เป็นผู้นำนวัตกรรมด้านฟังก์ชั่นบ้านแนวราบ สำหรับปีเสือจุดพลุการแข่งขันด้วยบ้านเดี่ยวพร้อมสระว่ายน้ำ ด้วยราคาเริ่มต้น 12 ล้านบาท เปรียบเทียบกับตลาดทั่วไป ฟังก์ชั่นนี้ราคา 20 ล้านบาท และเทรนด์ใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานก็คือ มีอีวีชาร์จเจอร์ และเป็นบ้านกรองฝุ่น

“อสังหาฯยุคโอมิครอน พฤติกรรมลูกค้ายังให้ความเชื่อมั่นกับสถานะการเงินของบริษัทว่าสามารถขยายได้แค่ไหน สถานการณ์ตลาดภาพรวมปีนี้ยังไม่ได้ฟื้นตัวชัดเจน แต่เป็นปีเริ่มฟื้นตัว ในขณะที่ธุรกิจที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องระยะยาว ผมมองว่าสิ่งสำคัญคือความยั่งยืนในการทำธุรกิจระยะยาว”

บริทาเนียส่งซิกบุกต่างจังหวัด

ปิดท้ายด้วย “ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) ในเครือออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เพิ่งประสบความสำเร็จจากเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นหุ้นมหาชนอีกราย

สำหรับปี 2565 ประกาศยุทธศาสตร์ “Growth Together” เปิดขายใหม่ 12 โครงการ มูลค่า 13,400 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 11,000 ล้านบาท เป้ายอดรับรู้รายได้ 7,250 ล้านบาท โดยเรื่องใหม่คือการขยายทำเลสู่ภาคอีสาน-ตะวันออก-กลาง ใน 4 จังหวัด “อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา ระยอง ขอนแก่น”

ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์
ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์

ทั้งนี้ บริทาเนียพูดสอดคล้องกับบิ๊กแบรนด์ค่ายอื่น ๆ ที่มีการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตให้กับเจ้าของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแผงหลังคาโซลาร์เซลล์ และ EV charger โดยเริ่มนำร่องทดลองใช้ในพื้นที่ส่วนกลางแบรนด์ “แกรนด์ บริทาเนีย” เพื่อดูผลตอบรับก่อนขยายการติดตั้งไปยังพื้นที่ หรือบ้านในแบรนด์อื่น ๆ

จุดชูโรงของบริทาเนีย คือ บริการหลังการขาย ตลอดช่วงอายุการพักอาศัย (long-life living after sale service) เช่น รับประกันคุณภาพโครงสร้างบ้าน 5 ปี, ให้คำปรึกษาขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน, แจ้งซ่อมและติดตามสถานะผ่านแอป Britania Connect เป็นต้น