4 เกมไล่ล่าอสังหาปีเสือ (2) ลงทุนรอบใหม่ฟื้นความเชื่อมั่นหลังโอมิครอน

4 คน

เต็มไปด้วยความคึกคักและความเชื่อมั่นสำหรับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลังยุคโอมิครอน

โดยโควิด 2 ปี (2563-2564) วันนี้กล่าวได้ว่า สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอีกครั้งจากวัคซีนและนโยบายเปิดประเทศที่รัฐบาลรีสตาร์ตครั้งที่ 2 ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ซีอีโอต่างค่ายแต่ประกาศแผนลงทุนปีเสือที่มีมู้ดแอนด์โทนไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือขยับแผนลงทุนอีกระลอก เพื่อดักอนาคตที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า

ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์
ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์

SC ทะยานเป้า 4 ปี แสนล้าน

เริ่มกันที่บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นเจ้าตลาดบ้านหรูกลุ่มราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป “ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดแผนโรดแมป “SC Thriving for Good” เติบโตบนวิถีโลกใหม่ หลังจากปรับตัวอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2563-2564

บริษัทรอดผ่านวิกฤตอย่างแข็งแกร่งและสะสมเสบียงอย่างเพียงพอ จึงวางอนาคตเบื้องหน้าผ่านโรดแมป 4 ปี (2565-2568) สู่เป้าหมาย “เติบโต เชื่อมต่อ ยั่งยืน” สร้างรายได้เติบโตต่อเนื่อง 4 ปี เกิน 100,000 ล้านบาท

โดย SC สื่อสารผ่าน 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์แรก “Thriving-เติบโต บนสมรภูมิเดิม และน่านน้ำใหม่” ด้วยการประกาศรายได้บ้านแนวราบ 20,000 ล้านบาท ภายในปี 2568 และแน่นอนว่ายังคงเป็นแบรนด์บ้านเดี่ยวอันดับ 1 ในใจผู้คน ส่วนตลาดคอนโดมิเนียมตั้งเป้ารายได้ 20,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2565-2568 เฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านบาท

รวมทั้งสร้าง Growth Engine เพื่อเพิ่มสัดส่วนกำไรจากโอกาสการลงทุนธุรกิจโลกใหม่ ควบคู่รักษาสถานะการเงินมั่นคงแข็งแกร่ง พร้อมรับทั้งโอกาสและวิกฤตรอบใหม่ที่คาดเดาไม่ได้

ยุทธศาสตร์ที่ 2 “Connecting-เชื่อมต่อ ทุกสิ่งถึงกัน สร้างคุณค่าที่มากกว่า” ส่งมอบคุณภาพชีวิตดีให้ลูกค้า ด้วยนวัตกรรมที่เชื่อมต่อถึงสินค้าและบริการ ภายใต้วิธีคิดลูกค้าเป็นศูนย์กลางหรือ Human-centric ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์หลากหลายจากการเชื่อมต่อ Ecosystems ผ่าน Blockchain Technology

คีย์เวิร์ดอยู่ที่ทีมงานทั้งองค์กร 1,200 ชีวิต ทำงานได้อย่างคล่องตัว รวดเร็ว แม่นยำ ผ่านข้อมูลทั้งหมดที่เชื่อมต่อถึงกันด้วยเทคโนโลยี และการสื่อสารที่สม่ำเสมอและทั่วถึง

ยุทธศาสตร์ที่ 3 “Sustaining-ยั่งยืน สร้างคุณค่า สู่ผู้คนและสิ่งแวดล้อม” แผน 4 ปี ปั้น SC ให้เป็นแบรนด์ผู้นำที่มีความน่าเชื่อถือสูง ผ่านการรักษามาตรฐานคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปี 2568 เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์เป็นองค์กรที่เติบโตควบคู่กับความใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ว้าวที่สุดคือ SC จะเป็นองค์กรอสังหาฯที่น่าทำงานอันดับ 1 ด้วยนโยบาย “สมดุลดี สังคมดี และอนาคตดี” เพื่อทุกคนในองค์กร

เติบโตยั่งยืนบนวิถีโลกใหม่

สำหรับปีปัจจุบัน 2565 SC จะมีโครงการพัฒนาเพื่อขายทั้งสิ้น 78 โครงการ มูลค่า 69,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนแนวราบ : แนวสูง 70:30 ตั้งงบลงทุนซื้อที่ดินใหม่ 11,500 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโต 4 ปีดังกล่าว

แผนธุรกิจรัว ๆ SC ตั้งเป้ารายได้และยอดขายเท่ากันที่ 22,000 ล้านบาท โดยทำสถิตินิวไฮเปิดตัวใหม่ 27 โครงการ มูลค่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งซีอีโอบอกว่า เป็นแผนธุรกิจที่เติบโตเร็วกว่าเดิมถึง 1 ปีเต็ม

แบ่งการลงทุนเป็นแนวราบ 25 โครงการ มูลค่า 33,500 ล้านบาท (สัดส่วนเกิน 70% เป็นบ้านเดี่ยวเริ่มต้น 10 ล้านบาท ซึ่ง SC เป็นผู้นำในเซ็กเมนต์นี้” ส่วนคอนโดฯ เปิด 2 โครงการใหม่ 6,500 ล้านบาท บนทำเลรถไฟฟ้า BTS 2 สถานี “วงเวียนใหญ่-ทองหล่อ”

สำหรับแฟนคลับคอนโดฯ SC อดใจรออีกสักนิด ทำเลทองหล่อมีเพียง 20 ยูนิต เริ่มต้นกันที่ยูนิตละ 29 ล้านบาท

“เศรษฐกิจวิ่งช้าลง 3 ปี แต่นวัตกรรมบนโลกวิ่งเร็วขึ้น 10 ปี องค์กรที่ยั่งยืนจะสร้างคุณค่าสู่ทั้งผู้คนและโลก คุณค่านี้จะเป็นผู้สร้างกำไร และกำไรจะกลับมาสร้างคุณค่าต่อไปอย่างยั่งยืน และนี่คือทิศทางการเติบโตยั่งยืนของ SC บนวิถีโลกใหม่ SC Thriving for Good เติบโต เชื่อมต่อ ยั่งยืน”

ชานนท์ เรืองกฤตยา
ชานนท์ เรืองกฤตยา

พันธมิตรหนุนอนันดาฯแกร่ง

ถัดมา เกมบุกลงทุนรอบใหม่ของบริษัทมหาชนที่ย้ำหมุดความเป็นเจ้าตลาดคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในดีเวลอปเปอร์รายแรก ๆ ที่ประกาศแผนลงทุนรอบใหม่เพราะมั่นใจว่าตลาดอสังหาฯ เทรนด์เริ่มฟื้นตัวชัดเจน

โดยวางกลยุทธ์ ANANDA New Blue ประเดิมลงทุนปี 2565 ด้วยการเปิดตัว 7 โครงการใหม่ มูลค่าเกิน 28,000 ล้านบาท โดยมีจุดแข็งแกร่งอยู่ที่พันธมิตรธุรกิจสนับสนุนด้านการเงินเพื่อสร้างการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งและสร้างอนาคตร่วมกัน ขานชื่อออกมาจะพบพันธมิตรชั้นนำระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ไม่ว่าจะเป็นมิตซุย ฟูโดซัง, บีทีเอส กรุ๊ป, เพรซิเดนท์ ดี เวนเจอร์, ดุสิตธานี, สแครทช์ เฟิร์สท์ และดิ แอสคอทท์

มุมมองคือ สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายและมีทิศทางที่ดีขึ้น ตลาดอสังหาฯ เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว และที่จะกลับมาอย่างแน่นอนคือวิถีชีวิตของคนเมือง เพียงแต่อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบแตกต่างไปจากเดิม ลูกค้าในแต่ละช่วงวัยมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น โดยปัจจัยของช่วงอายุ และ Generation เป็นตัวกำหนดที่สำคัญ

“หน้าที่ของแบรนด์ในการพัฒนาโครงการก็ต้องมีความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ตรงกับความต้องการนั้น ๆ อนันดาฯ เรามั่นใจ และเชื่อมั่นในศักยภาพคอนโดฯติดรถไฟฟ้าเป็นสินค้าตอบโจทย์ความต้องการในการใช้ชีวิตคนเมืองได้เป็นอย่างดี และอย่างไร้ขีดจำกัด”

จุดเน้นของอนันดาฯ คือ ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองในยุคหลังโควิด การใช้ชีวิตในเมืองยังคงเป็นความจำเป็น มีความสำคัญสำหรับกลุ่มคนในวัยทำงาน กลุ่มคนที่กำลังศึกษาเล่าเรียน กลุ่มครอบครัว ตลอดจนกลุ่มระดับลักเซอรี่ในเมือง ซึ่งมีดีมานด์ที่พักอาศัยสะดวกสบายในการเดินทาง การบริการและการดูแลพิเศษ ตลอดจนสิทธิพิเศษต่าง ๆ มีสถานที่ทันสมัยในการพบปะสังสรรค์

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์
ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์

20 ปี ริชี่เพลซฯ โตพุ่ง 65%

ถัดมา ธุรกิจอสังหาฯ ของนายกสมาคมคอนโดฯ “ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ RICHY ซึ่งครบรอบก่อตั้ง 20 ปีในปีเสือ

ในวาระ 2 ทศวรรษของรี่ชี่เพลซ 2002 บริษัทตั้งเป้ายอดรับรู้รายได้ปี 2565 เติบโต 65% ซึ่งต้องบอกว่า เป็นการประกาศเป้าที่ท้าทายเป็นอย่างมากในยุคโอมิครอน

ปัจจุบัน ริชี่เพลซ 2002 มียอดขายรอโอนในมือ (backlog) 2,400 ล้านบาท ขณะที่โครงการสร้างเสร็จพร้อมขายมีมูลค่ารวม 6.2 พันล้านบาท ดังนั้นเมื่อนับรวมโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก จะทำให้บริษัทมีโครงการสะสมในมือเกิน 11,000 ล้านบาท

สำหรับปีเสือ บริษัทประกาศแผนธุรกิจเดินหน้าเปิดตัวใหม่ 4 โครงการทั้งคอนโดฯ และบ้านแนวราบ มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท ได้แก่ ทาวน์โฮม “ริชตัน พัฒนาการ สวนหลวง” สไตล์ยูโรเปี้ยน จำนวน 131 ยูนิต, “ริชตัน ดอนเมือง เพิ่มสิน” จำนวน 163 ยูนิต และ 2 คอนโดฯ ที่รอเปิดตัวในปีนี้

ก้าวย่างที่สำคัญ เป็นการเติบโตโดยเกาะติดเทรนด์ธุรกิจโลกใหม่อย่างสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อต่อยอดการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทในอนาคต

“แนวโน้มธุรกิจอสังหาฯในปีนี้น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในสังคมเริ่มปรับตัวให้อยู่กับสถานการณ์โควิด แม้จะมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น แต่การใช้ชีวิตเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติ ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางจะมากขึ้น แต่เป็นลักษณะการทยอยฟื้นตัวมากกว่า และเชื่อว่าอุตสาหกรรมอสังหาฯได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว”

บุญ ชุน เกียรติ
บุญ ชุน เกียรติ

ชีวาทัยแข่งในเกม 5 พันล้าน

ขณะที่กลุ่มชีวาทัยซึ่งมีผู้บริหารอิมพอร์ตจากสิงคโปร์ “บุญ ชุน เกียรติ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2565 คาดว่าจะมีรายได้ 2,800-3,000 ล้านบาท จาก 2 โครงการใหม่ที่จะรับรู้รายได้ในปีนี้เป็นปีแรก

ประกอบด้วย “ชีวาทัย ปิ่นเกล้า” จำนวน 593 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,587 ล้านบาท คอนโดสูง 13 ชั้น ทำเลติดถนนอรุณอมรินทร์ ใกล้สะพานพระราม 8 ใกล้รถไฟฟ้า MRT สถานีบางยี่ขัน รวมทั้งใกล้โรงพยาบาลศิริราช ห้องชุดพื้นที่ใช้สอย 29-56 ตารางเมตร ติดตั้ง Home Automation เต็มระบบ พร้อมโอนและรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 3/65

กับ “ชีวาทัย ฮอลล์มาร์ค ลาดพร้าว-โชคชัย 4 (เฟส 2)” จำนวน 380 ยูนิต มูลค่าโครงการ 994 ล้านบาท คอนโดฯ โลว์ไรส์สไตล์ Loft บนทำเลลาดพร้าว ถนนสังคมสงเคราะห์ ใกล้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีเทาในอนาคต ใกล้จุดขึ้นทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ห้องไซซ์ 26-45 ตารางเมตร พร้อมโอนและรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4/65

แผนธุรกิจปีเสืออาจแปลกตาไปบ้างตรงที่บริษัทมีแผนพัฒนา 6 โครงการใหม่ แบ่งเป็นคอนโดฯ โลว์ไรส์แบรนด์ชีวาทัย ฮอลล์มาร์ค 2-3 โครงการ มูลค่า 2,800 ล้านบาท, บ้านเดี่ยวแบรนด์ชีวารมย์ 2 โครงการ มูลค่า 1,500 ล้านบาท และทาวน์โฮมแบรนด์ชีวาโฮม 1 โครงการ อีก 700 ล้านบาท

แต่ทั้งหมดนี้มีตัวแปรขึ้นอยู่กับการปิดดีลซื้อแลนด์แบงก์สามารถทำได้จบภายในปี 2565 นี้หรือไม่ ถ้าไม่ทันก็เพียงแค่ขยับแผนไปเปิดตัวในปีหน้าแทน แต่แผนลงทุนถูกฟิกซ์ไว้แล้วทั้งแบรนด์และขนาดโครงการ

โดยอาวุธลับของชีวาทัยก็คือ “ชีวาแคร์” บริการหลังการขายที่มีวิสัยทัศน์ตั้งเป้าก้าวขึ้นอยู่อันดับที่ 1 ในใจลูกค้าด้านคุณภาพและบริการ สำหรับกลุ่มบริษัทอสังหาฯ ช่วงรายได้ไม่เกิน 5 พันล้านบาท