เพจดังเรียกร้องรัฐบาล ฉีด แอสตร้าเซนเนก้า ให้ หมอ-พยาบาล ก่อน

จ่าเรียกร้องฉีดแอสตร้าให้หมอ-พยาบาล
REUTERS/Ann Wang

เพจ Drama-addict เรียกร้องรัฐบาลเอาโควต้าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมดมาฉีดให้หมอ-พยาบาล พร้อมฝากโรงพยาบาล ห้ามกดดันหมอ-พยาบาล ให้ฉีดซิโนแวก

วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 นพ.วิทวัส ศิริประชัย หรือ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน แอดมินเพจ Drama-addict โพสต์ข้อความเรียกร้องให้รัฐบาลเอาโควต้าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมด มาให้หมอและพยาบาลฉีดก่อน ื่องจากเป็นกลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อหนกมาก ข้อความทั้งหมดมีดังนี้

หมอ พยาบาล ควรได้ฉีดวัคซีนที่ประสิทธิภาพสูงเพราะเสี่ยงติดเชื้อหนักมาก ในตัวเลือกที่เรามีตอนนี้ AZ ดีกว่า (แหม่ เรามีสองออปชั่นเองนี่นะ ซิโนแวคกับ AZ แต่ถ้ามี pfizer moderna ก็ดีนะ หมอพยาบาลส่วนมากคงอยากได้สองตัวนั้นมากสุด) ขอเรียกร้องให้รัฐเอาโควต้าวัคซีน AZ ทั้งหมด มาให้หมอและพยาบาลฉีดก่อน และฝากกำชับไปทาง รพ. ต่าง ๆ ว่า ห้ามกดดันให้หมอพยาบาล ฉีดวัคซีนซิโนแวค เขามีสิทธิที่จะเลือกนะครับ

เมื่อวานนี้ ข่าวสด รายงานว่า ในทวิตเตอร์มีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เล่าว่าถูกหน่วยงานที่สังกัดกดดันให้ฉีดวัคซีนซิโนแวก เช่น ให้ลงนามสัญญาว่าหากติดโควิด หน่วยงานจะไม่รับผิดชอบใด ๆ, ให้เขียนบันทึกข้อความส่งให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งอาจมีผลต่อการประเมินค่าจ้าง และ ถูกใช้คำพูดกดดัน ขณะที่หมอ-พยาบาล เหล่านี้ กังวลเรื่องผลข้างเคียงรุนแรงของวัคซีน ยืนยันว่าต้องการฉีดวัคซีเช่นกัน แต่ต้องเป็นวัคซีนที่สามารถเลือกได้ ไม่ควรบังคับกัน ที่สำคัญหากเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนก็ควรมีมาตรการรองรับหรือช่วยเหลือ

ภาพจาก ข่าวสด
ภาพจาก ข่าวสด
ภาพจาก ข่าวสด

เมื่อวันที 30 เมษายน ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เรื่องการเลือกยี่ห้อวัคซีนของประชาชนว่า ประชาชนคงเลือกฉีดไม่ได้ เพราะแต่ละชนิดมีความเหมาะสมที่จะบริหารจัดการฉีดในกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน เช่น วัคซีนไฟเซอร์ มีผลการทดลองในเด็กตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป หากนำเข้ามาได้จะสำรองฉีดให้เด็ก 12-18 ปี

ส่วนวัคซีนซิโนแวก ที่ฉีดเข็ม 2 ห่างจากเข็มแรก 3 สัปดาห์ ใช้เวลาสร้างภูมิคุ้มกันน้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่น ต้องเร่งฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทำงานด่านหน้า ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้คนทำงานในเวลารวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องใช้วัคซีนแต่ละชนิดสำรองให้กับข้อบ่งชี้ของแต่ละคนตามความจำเป็นต้องใช้ด้วย เช่น การแพ้วัคซีน

“ประชาชนทั่วไปไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบว่าจะฉีดวัคซีนซิโนแวกหรือแอสตร้าฯ เพราะทุกคนจะได้รับวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดความปลอดภัยเทียบเท่ากันหมด ยืนยันว่าวัคซีนที่เข้ามาในประเทศไทยทุกยี่ห้อ มีคณะกรรมการตรวจสอบความปลอดภัยอยู่แล้ว” นายอนุทินกล่าว

ก่อนหน้านี้ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า วัคซีนแอสตราเซเนกา จะเข้าประเทศไทย รอบแรก 26 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2564 ตั้งแต่เดือนมิถุนาย 6 ล้านโดส เดือนกรกฎาคม 10 ล้านโดส และเดือนสิงหาคม 10 ล้านโดส

ส่วนรอบที่สอง จำนวน 35 ล้านโดส เดือนกันยายนถึงธันวาคม 2564 แบ่งเป็น เดือนกันยายน 10 ล้านโดส เดือนตุลาคม 10 ล้านโดส เดือนพฤศจิกายนอีก 10 ล้านโดส และเดือนธันวาคม 5 ล้านโดส โดยเบื้องต้นเข้ามาลอตแรกแล้ว 117,600 โดส เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งได้กระจายไปยังพื้นที่เป้าหมาย เพื่อฉีดให้แก่กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 ทันที

“วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า กำหนดให้ฉีดในผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปเป็นหลัก โดยการฉีดในสถานพยาบาลจะออกแบบให้มีการฉีดคนละวันกับวัคซีนของซิโนแวก โดยคนที่รับวัคซีนแอสตราฯฉีดวันเสาร์-อาทิตย์ และของซิโนแวกฉีดวันจันทร์-ศุกร์ เพื่อไม่ให้การมาฉีดวัคซีนไม่สับสน เพราะกลุ่มเป้าหมายคนละกลุ่ม” นพ.ธงชัย กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในไทยผ่านสยามไบโอไซเอนซ์ เมื่อวันที่ 28 เมษาน ที่ผ่านมา นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้การผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย โดยสยามไบโอไซเอนซ์กำลังเร่งผลิต ซึ่งมีความคืบหน้ามากแล้ว คาดว่าวัคซีนลอตแรกจะสามารถทยอยส่งให้แก่รัฐบาลไทยได้ทันตามกำหนดเดิม ช่วงเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อกระจายวัคซีนสู่กลุ่มปนะชาชนไทยได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ดี ขอย้ำว่าแอสตร้าเซนเนก้าให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพวัคซีน ดังนั้น วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าในแต่ละรุ่นการผลิตจึงต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพต่าง ๆ รวมกันมากกว่า 60 ครั้ง นับตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตไปจนถึงการฉีดวัคซีน เพื่อให้ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนมั่นใจได้ว่าจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล