ทำไมประชาชนเลือกยี่ห้อวัคซีนโควิดไม่ได้? อนุทินอธิบายแล้ว

ทำไมประชาชนเลือกวัคซีนเองไม่ได้
ภาพจากเฟซบุ๊ก Like Anutin

“อนุทิน” เผยความคืบหน้าการหารือกับผู้ผลิตวัคซีนซิโนฟาร์มจากจีน ยัน สธ.สนับสนุนการขึ้นทะเบียนวัคซีนทุกตัวในโลก พร้อมอธิบายสาเหตุที่ประชาชนเลือกยี่ห้อวัคซีนเองไม่ได้ 

วันที่ 30 เมษายน 2564 มติชน รายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบกับตัวแทนบริษัทผู้ผลิตวัคซีนซิโนฟาร์มจากจีน ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้คุยกันถึงขั้นเจรจา เราต้องเจรจากับบริษัทผู้ผลิตที่มีความพร้อม อย่างน้อยในขั้นที่ส่งเอกสารมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทย เกือบสมบูรณ์แล้ว

แต่กระทรวงสาธารณสุขยืนยันกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนว่า พร้อมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนวัคซีนทุกตัวในโลกนี้ หากบริษัทซิโนฟาร์มต้องการมาขึ้นทะเบียนในไทย เพื่อมาจำหน่ายให้กับทั้งภาครัฐหรือเอกชน ต้องส่งเอกสารตามระเบียบการขึ้นทะเบียนวัคซีนของทาง อย. กำหนด

นายอนุทิน กล่าวว่า ขอทำความเข้าใจในประเด็นที่ยังมีการพูดอยู่ว่า รัฐบาลปิดกั้นการขึ้นทะเบียนวัคซีน ขอยืนยันอีกครั้งว่า วัคซีนที่เข้ามาในประเทศไทยต้องเสรี ด้วยคุณสมบัติ มาตรฐานที่ดี มีความปลอดภัย ที่ได้รับการรับรองจาก อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้นำมาใช้ในประเทศไทยได้ รัฐบาลไม่เคยปิดกั้นโอกาสหรือการขึ้นทะเบียนวัคซีนที่จะเข้ามา

นายอนุทิน กล่าวถึงการเลือกยี่ห้อวัคซีนว่า ประชาชนคงเลือกฉีดไม่ได้ เพราะแต่ละชนิดมีความเหมาะสมที่จะบริหารจัดการฉีดในกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน เช่น วัคซีนไฟเซอร์ มีผลการทดลองในเด็กตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป หากนำเข้ามาได้จะสำรองฉีดให้เด็ก 12-18 ปี ส่วนวัคซีนซิโนแวค ที่ฉีดเข็ม 2 ห่างจากเข็มแรก 3 สัปดาห์ ใช้เวลาสร้างภูมิคุ้มกันน้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่น ต้องเร่งฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทำงานด่านหน้า ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้คนทำงานในเวลารวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องใช้วัคซีนแต่ละชนิดสำรองให้กับข้อบ่งชี้ของแต่ละคนตามความจำเป็นต้องใช้ด้วย เช่น การแพ้วัคซีน

“ประชาชนทั่วไปไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบว่าจะฉีดวัคซีนซิโนแวคหรือแอสตร้าฯ เพราะทุกคนจะได้รับวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดความปลอดภัยเทียบเท่ากันหมด ยืนยันว่าวัคซีนที่เข้ามาในประเทศไทยทุกยี่ห้อ มีคณะกรรมการตรวจสอบความปลอดภัยอยู่แล้ว” นายอนุทินกล่าว