แห่แชร์ ป้ายหาเสียงชัชชาติ ขนาดเท่าเสาไฟฟ้า ไม่เกะกะทางเดิน

ชาวเฟซบุ๊กแห่แชร์ ป้ายหาเสียงของนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ แคนดิเดตผู้ว่ากทม. มีขนาดเท่าเสาไฟฟ้า ไม่เกะกะทางเท้าของประชาชน

วันที่ 2 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Oopatham Ratanasupa ได้แชร์ผ่านป้ายหาเสียงของนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งป้ายหาเสียงดังกล่าวอยู่บริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ ว่า  “ข้าน้อยขอคารวะท่านที่จัดทำป้ายนี้ เป็นอย่างสูงงงงง”

โดยมีการระบุว่า ป้ายหาเสียงดังกล่าว ได้จัดทำ โดยมีการลดขนาดความกว้างของป้ายหาเสียง เป็นผลให้ป้ายหาเสียงดังกล่าวไม่เกะกะทางเดินของประชาชนที่สัญจรไปมา นอกจากนี้แผ่นป้ายดังกล่าวยัง ประหยัด รวมถึงแตกต่าง มีการออกแบบอัตลักษณ์ที่ชัดเจนอีกด้วย

รสนา ใช้

นอกจากนี้ นางสาวรสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 7 ได้โพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับป้ายหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ที่ทำมาจากวัสดุใช้แล้ว เพื่อเป็นการไม่เพิ่มขยะในกรุงเทพมหานคร

นางสาวรสนา ระบุว่า ในวันลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.จะเห็นว่า ป้าย ผู้สนับสนุนดิฉันผลิตจากเศษวัสดุทิ้งแล้วนำกลับมาใช้ใหม่แบบแฮนด์เมด โดยกลุ่มศิลปินจิตอาสา ซึ่งทำขึ้นเพื่อประกาศนโยบายเพียง 10 ป้าย เท่านั้น ช่วงนี้จะสังเกตได้ว่า ตามเสาไฟฟ้าจะยังไม่เห็นป้ายประกาศนโยบายของดิฉัน เพราะต้องใช้เวลาสร้างป้ายศิลป์แฮนด์เมด จากวัสดุเหลือใช้ ไม่เพิ่มขยะในกรุงเทพฯ และสร้างทัศนศิลป์ให้กับริมทางมหานครไปด้วย

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครรับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 7 ผุดไอเดียทำป้ายหาเสียงจากวัสดุใช้แล้ว เป็นงานศิลป์แฮนด์เมดไม่เพิ่มขยะ กทม.
PHOTO : รสนา โตสิตระกูล ; Facebook

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทุกครั้งที่มีการหาเสียงทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ปกติพรรคการเมืองมักจัดทำป้ายหาเสียงขนาดใหญ่ และมักไปติดตามเสาไฟฟ้า ป้ายบอกทาง ตามทางแยก โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเห็นได้ชัด แต่ในความเป็นจริงพบว่าบางจุด บางที่มีการบดบังวิสัยทัศน์ การสัญจรบนถนนช่วงที่รถจะต้องเลี้ยวเข้าซอย หรือผ่านทางแยก ทางร่วม หลายครั้งทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมา

เปิดระเบียบการหาเสียง

สำหรับการเลือกตั้งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีจัดการเลือกตั้งล่าสุด เมื่อปี 2556 และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เมื่อปี 2553 กระทั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศให้มีการจัดการเลือกตั้งอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565

การเลือกตั้งครั้งนี้ ทาง กกต.ได้ปรับเปลี่ยนกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ตามประกาศเรื่อง การกำหนดสถานที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ลงวันที่ 28 มีนาคม 2565 ดังนี้

ระเบียบติดป้ายหาเสียง

  1. ให้ผู้สมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ณ สถานที่ที่หน่วยงานกำหนด จำนวน ดังนี้
    • ประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง จัดทำได้ไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้
    • แผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งไม่เกิน 5 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง
  2. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง และติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ดังนี้
    • จัดทำและปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง มีขนาดความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 42 เซนติเมตร
    • จัดทำและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง มีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร
  3. สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียง ให้ปิดประกาศในสถานที่ดังต่อไปนี้
    • บริเวณป้ายปิดประกาศของสำนักงานเขตปกครอง
    • บริเวณป้ายปิดประกาศของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
    • บริเวณป้ายปิดประกาศของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร
    • วิธีการปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครปิดประกาศตามที่หัวหน้าหน่วยงานกำหนด
    • โดยปิดประกาศได้สถานที่ละ 1 แผ่น เท่านั้น
    • ให้ผู้สมัครที่ประสงค์จะปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง แจ้งขอปิดประกาศต่อหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายของสถานที่นั้น ๆ
  4. สถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งต้องคำนึงถึงความเหมาะสม เป็นระเบียบ สะอาด ปลอดภัย แข็งแรง มีทัศนียภาพและทัศนวิสัยที่ดี ไม่เกิดอันตรายแก่ประชาชนหรือต่อยานพาหนะ

รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการหรือประชาชน และจะต้องไม่เป็นการกีดขวางทางสัญจร การจราจร และต้องไม่ติดทับซ้อนกับแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครรายอื่น

สถานที่ต้องห้ามป้ายหาเสียง

สำหรับพื้นที่หรือบริเวณที่ห้ามปิดป้ายหาเสียง ประกอบด้วย

  • ผิวการจราจร
  • เกาะกลางถนน
  • สะพานลอยเดินข้าม
  • สะพานลอยรถข้าม รวมทั้งส่วนประกอบของสะพาน รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร
  • ป้ายประกาศของทางราชการ
  • รั้วหรือกำแพงหรือผนังอาคารของทางราชการ
  • ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน ในส่วนของเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่การไฟฟ้านครหลวงกำหนด
  • ศาลาที่พักผู้โดยสารและบริเวณโดยรอบภายในระยะ 10 เมตร
  • ตู้โทรศัพท์
  • ตู้ไปรษณีย์
  • อนุสาวรีย์
  • ป้อมตำรวจ
  • สุขาสาธารณะ
  • สนามหลวง
  • สวนหย่อม
  • สวนสาธรณะ
  • วงเวียนทุกวงเวียน
  • ถนนโดยรอบพระบรมมหาราชวัง
  • ถนนโดยรอบพระราชวังสวนจิตรลดา
  • ลานพระบรมรูปทรงม้า
  • ถนนราชดำเนินนอก
  • ถนนราชดำเนินกลาง
  • ถนนราชดำเนินใน

กรณีกำหนดเป็นถนนให้หมายความรวมถึงซอยที่แยกจากถนนด้วย สำหรับการติดประกาศในซอยจะต้องมีระยะห่างจากปากซอยไม่น้อยกว่า 10 เมตร

5. ห้ามมิให้ผู้สมัครปิดประกาศ หรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งนอกพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ตนสมัคร

หากปิดป้ายเสียงผิดระเบียบ ต้องทำอย่างไร

ระเบียบปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ข้อสุดท้ายระบุไว้ว่า หากผู้สมัครทำผิดกฎตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2563 ข้อ 19 และตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครฉบับนี้กำหนด

ให้หัวหน้าหน่วยงาน หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจสั่งผู้สมัครให้แก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด และหากไม่ดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ผู้มีอำนาจข้างต้นมีอำนาจรื้อถอน ทำลาย ปลดออก ปกปิด หรือลบข้อความ ภาพ หรือรูปรอยดังกล่าว หรือสั่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ

โดยให้คิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัครนั้น และคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจนำมาเป็นเหตุในการสืบสวนหรือไต่สวนตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดได้