วัฒนธรรมกับความหมาย ในลายสัก 3 ชนเผ่า ไทยและไต้หวัน

ในยุคปัจจุบัน “ลายสัก” หรือ tattoo ถูกให้คุณค่าในเชิงเรื่องศิลปะและความสวยงาม ซึ่งเป็นเฉพาะส่วนบุคคลนั้น ๆ แต่ในอดีตลายสักเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมที่มีความหมายโดยรวมระดับสังคม หมู่บ้าน ชนเผ่า เปรียบเสมือนร่างกายของมนุษย์เป็นฝาผนังที่สังคมร่วมกันบันทึกเรื่องราวภาพเขียนลงไป เพื่อสืบทอดเรื่องราว วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนนั้น ๆ

ปัจจุบันคนหลายชนเผ่าในโลกนี้ยังคงสืบทอดบันทึกวัฒนธรรมเอาไว้ในลายสักบนร่างกาย เฉกเช่นรุ่นก่อน ๆ ปฏิบัติสืบทอดกันมา บางครั้งเราเห็นคนที่มีลายสักบนใบหน้า บางคนมีลายสักอยู่ที่แขน ขา ซึ่งลวดลายเหล่านั้นมีรายละเอียดที่เห็นแล้วรู้ว่า นั่นไม่ใช่ลวดลายศิลปะหรือความสวยงาม แต่เราก็ไม่สามารถเข้าใจความหมายของมันได้ หากไม่มีคำอธิบาย และก็คงจะดี ถ้ามีใครมาอธิบายความหมายในรอยสักให้ฟัง

…แล้วก็ดีอย่างที่คิดจริง ๆ เมื่อมิวเซียมสยาม ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย จัดนิทรรศการ “สักสี สักศรี : ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน” หรือ “Tattoo COL-OR, Tattoo HONOR : Indigenous Tattoos in Taiwan and Thailand” ซึ่งเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับรอยสัก เพื่อบอกเล่ามรดกทางวัฒนธรรมผ่านศิลปะการสักลายบนเรือนร่างของ 3 กลุ่มชาติพันธุ์ใน 2 แผ่นดิน ไทยและไต้หวัน คือ ชาวไท่หย่า (Atayal) ชาวไผวัน (Paiwan) จากไต้หวัน และชาวล้านนาไทย ที่มาพร้อมคำอธิบาย ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจความหลากหลายของความเชื่อและวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์

วัฒนธรรมการสักขาลายของชาวล้านนา ประเทศไทย

วัฒนธรรมการสักของชาวล้านนา แบ่งการสักออกเป็น 2 ส่วน คือ การสักส่วนบน ตั้งแต่เอวขึ้นไปถึงแขนและศีรษะ เรียกว่า สักยาข่าม (คงกระพัน) และสักปิยะ (สักมหานิยม) และการสักส่วนล่าง คือ การสักตั้งแต่เอวลงไปถึงเท้า เรียกว่า สักขาลาย และสักข่ามเขี้ยว (ป้องกันสัตว์มีพิษ) การสักยาข่าม สักปิยะ และสักข่ามเขี้ยว สักด้วยหมึกเขม่าไฟผสมดีสัตว์และยาสมุนไพร หรือธาตุศักดิ์สิทธิ์ สักเป็นตัวอักขระ รูปยันต์ หรือรูปสัตว์ และสวดคาถากำกับ แต่สักขาลายจะเป็นการสักลายสัตว์ต่าง ๆ ในกรอบสี่เหลี่ยมหรือมนตั้งแต่เอวถึงขา ไม่มีการเสกคาถาหรือตัวยาศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นการสักเพื่อฝึกความอดทน กล้าหาญ และความเป็นลูกผู้ชาย

การสักขาลายเป็นเสมือนเครื่องหมายแสดงความเป็นลูกผู้ชาย ความกล้าหาญ และความอดทน ที่สามารถฝึกให้เคยชินต่อความเจ็บปวดได้ด้วยความสมัครใจ เป็นการแสดงออกของขนบธรรมเนียมกลุ่มผู้ชายล้านนา

ผ่านลวดลายสัตว์หิมพานต์ ตามคติความเชื่อจากศาสนาพุทธและฮินดู ได้แก่ หนู นกกระจาบ นกแร้ง สิงโต ค้างคาว ชะมด ราชสีห์ นกกาบบัว เสือ ช้าง ลิงและหนุมาน ส่วนลวดลายอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมเช่นกัน คือ ลายดอกไม้ ตัวมอมหรือสิงโต รูปนกยูง และเมฆหรือลม เป็นต้น

การสักขาลาย เป็นการสักตามจารีตประเพณี และขนบธรรมเนียมกลุ่ม ไม่มีการผสมตัวยาสมุนไพร แร่ธาตุ และไม่ต้องเสกคาถากำกับ แต่ก่อนการสักขาลายต้องมีพิธีกรรม คือ การตั้งขันครู อันประกอบด้วย หมาก ใบพลู ยาสูบ และเงินค่าขันครู เงินค่าขันครูจะมากหรือน้อยจะสัมพันธ์กับความละเอียดและความสวยงามของลวดลาย และเมื่อสักเสร็จแล้ว ครูสักจะให้ผู้สักกินข้าว พริก เกลือ น้ำ และผูกด้ายขาวที่ข้อมือเป็นอันจบพิธีกรรมการสักขาลาย

วัฒนธรรมการสักหน้าของชาวไท่หย่า (Atayal) ไต้หวัน

ชาวไท่หย่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของไต้หวัน มีขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับการสักลายบริเวณหน้าของสตรีและบุรุษ มีความหมายถึงการเป็นชายชาตินักรบ ความแข็งแกร่งและกล้าหาญ หากเป็นผู้หญิงหมายความถึง การเป็นสตรีที่มีความสามารถในการถักทอ ได้รับการยอมรับในสังคม

ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นเข้าไปมีบทบาทในการปกครองและจัดลำดับทางสังคมไต้หวัน ค่านิยมการสักถูกมองว่าไร้อารยธรรม หลายคนจำเป็นต้องผ่าตัดลบรอยสักออก แต่บางคนก็ยังแอบสักต่อ

จากคติความเชื่อของชาวไท่หย่าที่ว่า ผู้ที่ได้รับการสักลายบนใบหน้าเท่านั้นที่จะสามารถข้ามสะพานแห่งสายรุ้งได้หลังจากเสียชีวิต ซึ่งสะพานสายรุ้งนี้จะเป็นเสมือนก้าวเข้าสู่โลกแห่งวิญญาณและได้พบกับบรรพบุรุษ การที่จะได้สักบนใบหน้าได้ บุรุษจะต้องพิสูจน์ความกล้าหาญของตนในฐานะนักล่า โดยจะต้องล่าหมูป่าหรือสัตว์ใหญ่อื่น ๆ หรือพิสูจน์ความเป็นนักรบด้วยการนำศีรษะของข้าศึกกลับมา ส่วนสตรีต้องพิสูจน์ความขยันและความสามารถผ่านการทอผ้าและปลูกพืช และเมื่อได้รับการสักบนในหน้าแล้วจะได้การยอมรับเป็นชาวไท่หย่าที่แท้จริง

วัฒนธรรมการสักมือและร่างกายของชาวไผวัน (Paiwan) ไต้หวัน

ชาวไผวัน ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของไต้หวัน บุรุษชาวไผวันสักส่วนบนของลำตัว บริเวณหน้าอก หลัง และแขน ส่วนสตรีชาวไผวันจะสักบริเวณหลังมือ รอยสักของชาวไผวันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะปรากฏอยู่บนร่างกายไปตลอดชีวิต

การสักของชาวไผวันมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ ศักดินา สถานะทางสังคม และความรับผิดชอบ โดยขนบและความเชื่อที่มีความพิถีพิถันมองว่ารอยสักเหมือนลวดลายบนเสื้อผ้า หรืองานแกะสลักที่สะท้อนถึงสถานะทางสังคม หรือตำแหน่งของบุคคลนั้น ๆ ดังนั้น ผู้ที่จะสามารถสักได้จะต้องเป็นหัวหน้าเผ่าและสมาชิกในครอบครัวหัวหน้าเผ่าเท่านั้นที่จะสามารถสักลายพิเศษได้ หากผู้ใดสักลายโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องถูกลงโทษหรือถูกกีดกันจากคนในเผ่า

นิทรรศการ “สักสี สักศรี : ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน” จัดแสดงวัตถุและภาพหาชมยาก อาทิ หุ่นไม้แกะสลัก มือไม้แกะสลัก ภาพประวัติศาสตร์การสักของกลุ่มชาติพันธุ์ จัดฉายภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการสัก รวมถึงกิจกรรมเสวนาและเวิร์กช็อปตลอดการจัดแสดงนิทรรศการ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมและร่วมกิจกรรมได้ฟรี ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2562 ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) กรุงเทพฯ