ส่องปรากฎการณ์ ‘แฟนด้อม’ ผ่านการกดบัตรคอนเสิร์ต ‘Seventeen’

seventeen-fandom

ชวนสำรวจ “พลังแฟนด้อม” และ “สงครามกดบัตร” ผ่านปรากฏการณ์จองบัตรคอนเสิร์ตของ “Seventeen” บอยแบนด์ชื่อดังจากเกาหลีใต้

วันที่ 15 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากวันที่ 13 ต.ค. 2566 เวลา 11.00 น. มีการเปิดจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ต “SEVENTEEN FOLLOW TO BANGKOK” ของบอยแบนด์สัญชาติเกาหลีใต้อย่าง “เซเว่นทีน” (Seventeen) ให้กับ “กะรัต” (ชื่อแฟนคลับของวงเซเว่นทีน) ในรอบสมาชิก CARAT Membership Presale ไปแล้ว วานนี้ (14 ต.ค.) เวลา 16.00 น. จึงมีการจำหน่ายบัตรในรอบทั่วไปสำหรับแฟนคลับที่ไม่ได้สมัครสมาชิกแบบพิเศษบนคอมมิวนิตี้อย่างเป็นทางการของวงมาก่อน

ปัจจุบันที่นั่งของคอนเสิร์ตถูกจำหน่ายหมดแล้ว และเมื่อเช็กสถานะที่นั่งว่างบนเว็บไซต์ allticket.com จะพบว่าไม่เหลือที่นั่งที่สามารถจับจองสิทธิ์ได้อยู่เลย รวมถึงไม่สามารถกดปุ่ม Buy Now เพื่อทำการสั่งซื้อได้อีกต่อไป ซึ่งหลังจากระบบเปิดให้แฟนคลับเข้าไปซื้อบัตรคอนเสิร์ตตั้งแต่การจำหน่ายในรอบสมาชิกมาจนถึงรอบทั่วไป ก็เกิดการจับจองสิทธิ์อย่างรวดเร็วและจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตหมดในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตทั้งรอบสมาชิกและรอบทั่วไป #SVTinBKK แฮชแท็กของคอนเสิร์ตครั้งนี้ ได้ติดเทรนด์ X ในประเทศไทยด้วย ซึ่งเนื้อหาของโพสต์ใน #SVTinBKK มีทั้งการแสดงความดีใจของแฟนคลับที่จองบัตรได้สำเร็จ ความผิดหวังของแฟนคลับที่ไม่สามารถจองบัตรได้ตามที่ต้องการ และการรวบรวบข้อมูลของบัญชีผู้ใช้ที่เป็นมิจฉาชีพและฉวยโอกาสหลอกลวงจากความต้องการบัตรคอนเสิร์ตที่มีมากกว่าปกติ เพื่อเตือนภัยในหมู่แฟนคลับด้วยกัน

แม้ว่าทราฟฟิกของการซื้อ-ขายผ่านช่องทางการจำหน่ายอย่างเป็นทางการจะสงบลงแล้ว แต่การซื้อ-ขายนอกตลาดบน X กลับกำลังคึกคักและไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ เมื่อแฟนคลับและผู้ใช้งาน X อีกหลายรายยังคงโพสต์จำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตที่ทำการจองในระบบเสร็จสิ้นไปแล้ว

โดยมีทั้งกลุ่มที่จำหน่ายบัตรจากรอบสมาชิก เพราะได้ที่นั่งจากการซื้อบัตรรอบทั่วไปตรงตามความต้องการมากกว่า, กลุ่ม “บัตรดีล” หรือการดีลสิทธิ์จากคนที่ได้บัตรไปแล้วมาจำหน่ายให้ผู้ที่ต้องการบัตรในราคาที่สูงกว่าปกติ และกลุ่ม “บัตรอัพ” ที่จำหน่ายบัตรในราคาที่สูงกว่าราคาขายจริงเป็นจำนวนมาก เช่น บัตร VIP ราคา 9,900 บาท อาจขายในราคาใหม่ที่ 20,000 บาท

Advertisment

นอกจากการซื้อ-ขายบัตรนอกตลาดจะกำลังคึกคัก ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไปคอนเสิร์ตก็ใช้โอกาสนี้ในการโปรโมทและจำหน่ายสินค้าหรือบริการของตนเองในแฮชแท็ก #SVTinBKK เช่นกัน อาทิ ธุรกิจเช่ามือถือ และร้านจำหน่ายแท่งไฟและอุปกรณ์เชียร์ระหว่างรับชมคอนเสิร์ต

อย่างไรก็ตาม แฟนคลับอีกหลายรายยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดการของผู้จัดคอนเสิร์ตในหลากหลายประเด็น เช่น ราคาของบัตรคอนเสิร์ตที่แพงขึ้นจากในอดีต ซึ่งดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ช่วงที่การระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย, การจำหน่ายบัตรรอบสมาชิกที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าว่าจะเปิดให้จับจองเพียงบางโซนเท่านั้น, การไม่ระบุชื่อบนบัตรคอนเสิร์ตที่กลายเป็นช่องโหว่ให้คนบางกลุ่มสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากความต้องการของแฟนคลับได้, ความไม่ชัดเจนในการจัดการปัญหาจากร้านที่อ้างว่าใช้ “บอต” (bot-robot) กดบัตรคอนเสิร์ต

Advertisment

จากสถานการณ์การจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตของวงเซเว่นทีนที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23 ธ.ค. 2566 ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน คงเป็นภาพสะท้อนของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการเคป๊อป และพลังแห่งการจับจ่ายของกลุ่มแฟนคลับที่พร้อมสนับสนุนผลงานของศิลปินที่ตนชื่นชอบได้เป็นอย่างดี

“Seventeen”