Squid Game พลัง Soft Power สร้างเศรษฐกิจเกาหลี-สตช. หวั่นเลียนแบบ

พลัง Soft Power สร้างเศรษฐกิจเกาหลี แต่ สตช. กลับติงซีรีส์ squid game
ภาพจาก รอยเตอร์ส

พลัง Soft Power เกาหลีใต้ สู่การสร้างปรากฎการณ์ซีรีส์ดัง Squid Game ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ  แต่รองโฆษก สตช. หวั่นพฤติกรรมเลียนแบบ

วันที่ 12 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกระแสซีรีส์แนวเอาตัวรอด Squid Game สัญชาติเกาหลีใต้ที่ขึ้นแท่นฮิตติดอันดับยอดผู้ชมสูงสุดบนสตรีมมิ่ง เน็ตฟลิกซ์ โดยเนื้อหาเล่าถึงกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมเล่นเกม ค้นหาผู้รอดชีวิตเพียง 1 เดียว เพื่อรับเงินรางวัลมหาศาล ซึ่งในแต่ละเกม มีการแข่งขัน แย่งชิงเพื่อเอาตัวรอด หากใครแพ้ ก็ต้องจบชีวิตลง

ปรากฎการณ์นี้ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเกาหลีไปอีกขั้น เพราะภายในซีรีส์ได้ใช้บรรยากาศสนามเด็กเล่น หรือพื้นที่หน้าบ้านในการเล่นเกมแต่ละครั้ง อีกทั้งยังใช้การละเล่นของเกาหลีในสมัยก่อนเป็นเกมชี้ตายในการดำเนินเรื่อง เช่น เออีไอโอยู หยุด , ตั๊กจี, เกมลูกแก้ว กันบู หรือเกมแกะน้ำตาลแผ่น (ดัลโกนา) ที่ทำให้ผู้ชมได้หวนรำลึกถึงอดีต

ยกตัวอย่าง จากผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวเกาหลีคนหนึ่งโพสต์ข้อความว่า “Squid Game ทำให้ฉันอยากกินดัลโกนาอีกครั้ง ผ่านไปตั้ง 20 ปีแล้ว มันยังมีอยู่ไหม ? ฉันคิดว่าหาไม่ได้แล้วนะ”

จากความสำเร็จของซีรีส์ ได้เข้ามาส่งเสริม “Soft Power” ของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี รวมทั้ง K-POP และภาพยนตร์ นับเป็นการส่งออกวัฒนธรรมของชาติเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตทั้งสิ้น

Soft Power คืออะไร ?

เว็บไซต์ SoftPower30 ได้ระบุไว้ว่า โจเซฟ ไน ผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ ได้กำหนดแหล่งที่มาของ Soft Power ไว้สามเสาหลัก ได้แก่ ค่านิยมทางการเมือง วัฒนธรรม และนโยบายต่างประเทศ แต่ภายในสามหมวดหมู่นี้ แหล่งที่มาของ Soft Power แต่ละข้อนั้นมีความหลากหลายแยกย่อยลงไปอีก คือ

  • ด้านดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศและความสามารถในการทูตดิจิทัล
  • ด้านวัฒนธรรม การเข้าถึงและการดึงดูดใจของผลงานทางวัฒนธรรมของชาติทั้งวัฒนธรรมป๊อปและวัฒนธรรมชั้นสูง
  • ด้านองค์กร ความน่าดึงดูดใจของโมเดลเศรษฐกิจของประเทศ ความเป็นมิตรต่อธุรกิจ และความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
  • ด้านการศึกษา ระดับทุนมนุษย์ในประเทศ การสนับสนุนทุนการศึกษา และความน่าดึงดูดใจของนักศึกษาต่างชาติ
  • ด้านการว่าจ้าง จุดแข็งของเครือข่ายทางการฑูตของประเทศและการสนับสนุนการมีส่วนร่วมและการพัฒนาระดับโลก
  • ด้านรัฐบาล มุ่งมั่นในเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และคุณภาพของสถาบันทางการเมือง

ซีรีส์เกาหลี ความบันเทิงส่งออก สร้างมูลค่าเศรษฐกิจหมื่นล้าน

Bloomberg รายงานว่า เน็ตฟลิกซ์ เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศเกาหลีกว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.4 หมื่นล้านบาท แม้อุตสาหกรรมผลิตเนื้อหาของเกาหลีมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับภาคการผลิต แต่ก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง การส่งออกเนื้อหามีมูลค่ารวม 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของเกาหลี และยังมากกว่าสินค้าส่งออกที่สำคัญอื่น ๆ เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องสำอาง

นอกจากนี้ ความนิยมของละครเกาหลีและดาราไอดอล ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนพุ่งสูงขึ้นในช่วงหลายปีก่อนที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 แต่การพึ่งพาที่มากเกินไปนั้นกลับเป็นจุดอ่อนสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกาหลี เพราะเกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลจีนและเกาหลีในปี 2560 จนเป็นที่มาของคำสั่งห้ามนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางไปเกาหลี ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) เกาหลีใต้ในปีนั้นลดลง 0.4%

ด้านการท่องเที่ยว ในบรรดานักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปในเกาหลีใต้ในปี 2562 กว่า 13% ได้เข้ามาเพื่อจุดประสงค์ในการสัมผัสกับวัฒนธรรมป๊อปและเข้าร่วมงานแฟนมีตติ้ง ซึ่งสร้างรายได้ให้กับเกาหลีใต้ประมาณ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9.1 หมื่นล้านบาท

อุตสาหกรรมความบันเทิงเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดของเกาหลีควบคู่ไปกับด้านเทคโนโลยี จำนวนคนงานในวงการสร้างสรรค์ผลิตสื่อศิลปะเพิ่มขึ้น 27% ระหว่างปี 2552 ถึง 2562 ขณะที่ในภาคการผลิต ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนดั้งเดิมสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้น 20% ตามข้อมูลจากเว็บไซต์สถิติของเกาหลี

ในรายงานเมื่อเดือนที่แล้ว (ก.ย. 2564) เน็ตฟลิกซ์เปิดเผยว่าได้ช่วยสร้างงานเต็มเวลา 16,000 ตำแหน่งในเกาหลี ตั้งแต่ปี 2559-2563 ในอุตสาหกรรมบันเทิงและที่เกี่ยวข้อง และประเมินว่ามีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจ 4.7 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.6 แสนล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าว

Soft Power ของไทย

วันที่ 13 กันยายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีความชื่นชมและภูมิใจนักออกแบบไทยสามารถนำวิจิตรศิลป์ของไทยในแขนงต่าง ๆ มาสร้างสรรค์ร่วมกับอุตสาหกรรมบันเทิงสมัยใหม่ ตรงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล

ส่วนหนึ่งคือการผลักดัน “Soft Power” ไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์

อีกทั้ง รัฐบาลยังเร่งเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน 15 สาขา คือ 1) งานฝีมือและหัตถกรรม 2) ดนตรี 3) ศิลปะการแสดง 4) ทัศนศิลป์ 5) ภาพยนตร์ 6) การแพร่ภาพและกระจายเสียง 7) การพิมพ์ 8) ซอฟต์แวร์ 9) การโฆษณา 10) การออกแบบ 11) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 12) แฟชั่น 13) อาหารไทย 14) การแพทย์แผนไทย 15) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ขณะเดียวกัน ก็ผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F ได้แก่ 1. อาหาร (Food) 2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) 4.มวยไทย (Fighting) และ 5.การอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) ซึ่งเชื่อว่ายังจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมส่งออกสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด -19 ที่สำคัญของไทยด้วย

สตช. ติง Squid Game หวั่นใช้ความรุนแรง

10 ตุลาคม 2564 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงซีรีส์ Squid Game ซึ่งถูกจัดอยู่ในซีรีส์สำหรับกลุ่มผู้ชมที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีการนำเสนอเนื้อหา ภาพ เสียง และพฤติกรรมรุนแรง เพื่อแก่งแย่งแข่งขันและเอาตัวรอด อาจส่งผลให้เกิดการเลียนแบบ ทำให้ผู้ที่รับชมมีพฤติกรรมรุนแรง หรืออาจส่งผลให้ผู้ชมเกิดความคิดจินตนาการว่าตนอยู่ในสถานการณ์เดียวกับในซีรีส์

จนอาจเกิดเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กหรือเยาวชน ผู้ปกครองจึงต้องคอยควบคุมดูแลการใช้สื่อสังคมออนไลน์ การรับชมสื่อต่าง ๆ และคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเลือกรับสื่อต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม


พร้อมกับระบุว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจ (ผบ.ตร) ตระหนักถึงพิษภัยและรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากสื่อต่าง ๆ จึงได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งทำการแจ้งเตือนให้กับประชาชนได้รับทราบ รวมถึงประชาสัมพันธ์ แนวทางการหลีกเลี่ยง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและเป็นการป้องกันการก่อปัญหาอาชญากรรมในภายหน้า