Squid Game ปลุกกระแส ต่างชาติแห่เรียนภาษาเกาหลี

squid game ทำคนแห่เรียนภาษาเกาหลีเพิ่ม
ภาพการแข่งขันการกล่าวสุนทรพจน์ในเกาหลี REUTERS/Dogyun Kim

ซีรีส์เกาหลีชื่อดัง Squid Game ของเน็ตฟลิกซ์ ปลุกกระแสให้ชาวต่างชาติแห่เรียนภาษาเกาหลีเพิ่มขึ้น 

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 รอยเตอร์ส รายงานว่า สถาบันกวดวิชาหลายแห่งให้ข้อมูลว่า ความสนใจในการเรียนภาษาเกาหลีพุ่งสูงขึ้น หลังการเปิดตัวซีรีส์ดัง Squid Game ในเน็ตฟลิกซ์ ถือเป็นการตอกย้ำความหลงใหลในวัฒนธรรมเกาหลีที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ความบันเทิงไปจนถึงผลิตภัณฑ์ความงาม

แอปพลิเคชั่นสอนภาษา ดิวโอลิงโก อิงค์ (Duolingo Inc) ให้ข้อมูลว่า ซีรีส์ระทึกขวัญความยาว 9 ตอน ซึ่งผู้เข้าแข่งขันต้องเอาชีวิตรอดจากเกมที่เคยเล่นในวัยเด็ก เพื่อชิงเงินรางวัล 45.6 พันล้านวอน ได้กระตุ้นให้ผู้เริ่มต้นเรียนและผู้ที่กำลังเรียนอยู่ หวังจะพัฒนาทักษะของตัวเองมากขึ้นดิวโอลิงโก รายงานว่า มีการสมัครเรียนภาษาเกาหลีในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 76% ส่วนในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 40% ในช่วง 2 สัปดาห์ หลังเน็ตฟลิกซ์เปิดตัวซีรีส์ Squid Game

เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย ได้สร้างชื่อให้กัประเทศตนเองในฐานะศูนย์กลางความบันเทิงระดับโลกผ่านวัฒนธรรมสมัยนิยม หรือป๊อปคัลเจอร์ (Pop Culture) ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงบอยแบนด์ชื่อดังอย่าง BTS และภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง เช่น Parasite ที่คว้ารางวัลออสการ์ได้สำเร็จเมื่อปี 2563 จากเนื้อหาที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมในสังคม นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์เรื่อง Minari ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวผู้อพยพชาวเกาหลีในสหรัฐฯ

ในสัปดาห์นี้ พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด ได้เพิ่มคำศัพท์ภาษาเกาหลี 26 คำ ลงในพจนานุกรมฉบับล่าสุด ซึ่งรวมถึงคำว่า ฮัน-รยู (한류) หรือ Hallyu ที่แปลว่า Korean wave หรือ วัฒนธรรม K-pop จากเกาหลีใต้ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านดนตรี ภาพยนตร์ ทีวี แฟชั่น หรืออาหาร

ประธานาธิบดี มุน แจ-อิน กล่าวถึงความสำเร็จนี้ว่า “ฮันกึล” (한글) ซึ่งหมายถึงตัวอักษรเกาหลี เป็น soft power หรือ การครอบงำทางวัฒนธรรมอย่างละมุนละม่อม​ ของประเทศ

แซม ดัลซิเมอร์ โฆษกดิวโอลิงโก ให้ข้อมูลด้วยว่า ภาษาและวัฒนธรรมมีความเกี่ยวข้องกันอยู่แล้วโดยธรรมชาติ และสิ่งที่เกิดขึ้นในป๊อปคัลเจอร์กับสื่อมักมีอิทธิพลต่อทิศทางในการเรียนรู้ภาษา”

ตามรายงานของมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศของเกาหลีระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ที่ใช้ภาษาเกาหลีประมาณ 77 ล้านคนทั่วโลก

ดิวโอลิงโก ซึ่งมีสำนักงานในเมืองพิตต์สเบิร์ก เผยด้วยว่า ขณะนี้มีผู้ที่กำลังเรียนภาษาเกาหลีมากกว่า 7.9 ล้านคน จึงถือเป็นภาษาที่เติบโตอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 2 รองจากภาษาฮินดี

สถาบันกษัตริย์เซจอง ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีใต้ มีนักศึกษาประมาณ 76,000 คน ใน 82 ประเทศ เมื่อปีที่แล้ว ถือว่ามีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากที่เคยมีนักศึกษาเพียง 740 คน ใน 3 ประเทศ เมื่อปี 2550

คาทาริน่า คอสตา อายุ 24 ปี ชาวโปรตุเกสที่อาศัยในแคนาดา กล่าวว่า ภาษาเกาหลีได้รับความนิยมมากขึ้น ตั้งแต่เธอเริ่มเรียนภาษานี้เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งในตอนนั้นเพื่อน ๆ ของเธอต่างไม่เข้าใจว่าจะเรียนไปทำไม

“ผู้คนพากันรู้สึกทึ่งเมื่อฉันบอกว่ากำลังเรียนภาษาเกาหลี” คอสตากล่าวและเผยว่า เธอกำลังเรียนภาษาเกาหลีผ่านแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ชื่อว่า TalkToMeInKorean

โครงการเรียนภาษาเกาหลีผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว มีสมาชิก 1.2 ล้านคน ที่เรียนภาษากระจายอยู่ตาม 190 ประเทศ

ซัง ฮยอนวู ผู้ก่อตั้งโครงการ Talk To Me In Korean กล่าวว่า มีผู้คนหลายพันคนที่หวังจะเรียนภาษาเกาหลีก่อนจะได้ชม Squid Game หรือรู้จักวง BTS แต่ที่ผ่านมาพวกเขาต้องเรียนด้วยความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว

“แต่ตอนนี้ผู้ที่เรียนภาษาเกาหลีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ระดับโลก การเรียนภาษาเกาหลีได้กลายเป็นงานอดิเรกที่เจ๋งขึ้น” เขากล่าว