Salary Girl เพราะฉันสวยและรวยมาก เผยวิธี “ออมเงินให้อยู่หมัด” ฉบับสาวออฟฟิศ !

ภาพจาก pixabay.com

สาว ๆ อย่างเราที่เพิ่งจะเริ่มต้นเข้าทำงานใหม่ ๆ จนถึงวัยทำงานมาสักระยะหนึ่งแล้วก็เริ่มมีความต้องการที่จะ “ออมเงิน” รวมทั้งต้องการที่าจะทำให้เงินที่นอนอยู่นิ่ง ๆ นั้น “งอกเงย” ขึ้นมาได้บ้าง เพราะวัยทำงานซึ่งมีรายได้หลักมาจากเงินเดือนนั้น หลายคนอาจหมดไปกับการใช้จ่ายอย่างเพลิดเพลินจนลืมเก็บออมบ้าง ติดลบบ้าง

จริง ๆ แล้ว หากต้องการที่จะมีเงินเก็บเป็นเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อใช้ในอนาคต หรือแม้กระทั่งเก็บออมเพื่อซื้อทรัพย์สินขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูง ๆ ก็ควรที่จะออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย ยิ่งเริ่มออมเร็วได้เท่าไหร่ยิ่งได้เปรียบ เพราะอย่างน้อยวัยทำงานก็ยังมีไฟที่จะหาหนทางเพิ่มรายได้และกระตือรือร้นในการหาเงิน แต่ปัญหาติดอยู่ตรงที่ว่า “อดใจช้อปปิ้งไม่ไหว” เงินเดือนออกเมื่อไหร่จ่ายกระจาย สุดท้ายก็มานั่งทำหน้าเซ็งแล้วบ่นว่า

“ไม่มีเงินเก็บเลย เงินเดือนชนเดือนตลอด” แย่จัง…

เพราะฉะนั้น หากสาว ๆ คนไหนเคยมีอาการแบบนี้ น่าจะปรับชีวิตแสนเศร้านี้ใหม่ แล้วมาร่วมขบวนเป็นสาวออฟฟิศที่ “สวย” และ “รวยมาก” กันดีกว่า

จดรายรับ-รายจ่าย

จากที่ไม่เคยสนใจว่าเราใช้จ่ายไปเท่าไหร่ ถึงเวลาแล้วที่เราจะปรับตัวเองใหม่ โดยเริ่มหยิบสมุดโน้ตน่ารัก ๆ ขึ้นมาแล้วจดสิ่งที่เราซื้อทุกอย่างลงไปตั้งแต่ครั้งแรกที่ควักเงินออกจากกระเป๋าเลย นอกจากจะทำให้เรารู้ว่าหนึ่งวันเราใช้จ่ายอะไรไปบ้างแล้ว เราจะยังรู้อีกด้วยว่า เราจ่ายเงินไปมากเสียจนลืมจดด้วยซ้ำ เพราะปริมาณการควักเงินออกมันมากจริง ๆ

โดยให้เริ่มต้นการจดตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือน จนถึงวันที่ 7 ของเดือน เรียกว่า “รอบที่ 1” และทำอย่างนี้จนครบ 1 เดือน สุดท้ายมาสรุปกันว่า เราใช้จ่ายไปมากน้อยเท่าไหร่ ใช้มากเกิน หรือใช้แบบยังพอเหลือเก็บ มาลองดูกัน

เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะสามารถนำมาใช้ได้นั่นก็คือ คำนวณรายจ่ายตามตัวของเราต่อเดือนไปเลย เช่น ค่าเดินทางไปกลับระหว่างบ้านและที่ทำงาน ค่าอาหารเช้า ค่าอาหารกลางวัน ค่าซื้อของ และค่าพักผ่อนทุกกรณี นำมาหารเฉลี่ยรวมกันว่าในหนึ่งเดือนเราควรใช้เท่าไหร่ ซึ่งจะทำให้เราสามารถจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของเราได้ดีทีเดียว อีกอย่างคือ กันเงินส่วนที่ต้องจ่ายไว้ให้ตัวเองบริหารจัดการ ดีกว่ามานั่งเปิดกระเป๋าตังค์แล้วพบความว่างเปล่าก่อนสิ้นเดือน… จนแทบจะสิ้นใจ

ทำปฏิทินหนี้สิน

สำหรับคนที่ต้องจ่ายค่าผ่อนชำระสินค้าต่าง ๆ อย่าลืมทำตารางปฏิทินกำหนดวันจ่ายดอกเบี้ย หรือจ่ายค่างวดต่าง ๆ เอาไว้ในสมุดจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายด้วย กันลืม และเพื่อกันเงินไว้จ่ายให้ทันและตรงกำหนด ป้องกันการเสียดอกเบี้ยที่มากขึ้น และโดนแบล็กลิสต์เพราะลืมจ่าย หรือจ่ายไม่ตรงเวลานั่นเอง

 

แบ่งส่วนเงินออม

หากเราตั้งใจจะออมเงินจริง ๆ จัง ๆ แล้วละก็ เราต้องแบ่งเงินออมไว้อย่างน้อย 10% ของรายได้ เช่น เงินเดือน 15,000 บาท ตัดยอดเป็นเงินออมทันที 1,500 บาท หากห่วงว่าจะอดใจไม่ไหว แนะนำให้ตัดบัญชีเงินเดือนเข้าบัญชีฝากประจำไปเลย นี่คือการกันลืมเป็นอย่างดี ทีนี้เราก็จะอุ่นใจว่าเรามีเงินเก็บแล้ว

หรือเทคนิคสำหรับสาวช่างออมมือใหม่ที่อดใจได้ยากยิ่ง ขอนำเสนอวิธีออมเพียงวันละ 20 บาท หรือเดือนละ 600 บาท เก็บแบงก์ 20 บาท หรือเหรียญ 10 สองเหรียญใส่กระปุก แล้วหยอดทุกวัน พอครบ 1 เดือนก็นำไปฝากธนาคาร ภายในระยะเวลา 1 ปี เราจะมีเงินเท่ากับ 7,200 บาท (ยังไม่ได้รวมดอกเบี้ยเงินฝาก) และหากเราออมต่อไปเรื่อย ๆ จนครบ 15 ปี รู้มั้ย…เราจะมีเงินเก็บถึง 108,000 บาท (ยังไม่ได้รวมดอกเบี้ยเงินฝาก) เลยทีเดียว

เพราะฉะนั้น สาว ๆ จ๋ามาเริ่มเก็บวันละ 20 บาทตั้งแต่วันนี้กันเถอะ ชีวิตวันข้างหน้าจะไม่ลำบาก (ใจ)

เปิดบัญชีใหม่ชนิด “ห้ามถอน”

ด้วยความเป็นสาวนักช้อปและชอบเที่ยวเป็นกิจวัตร สาวออฟฟิศอย่างเรามักจะอดเปรี้ยวไว้กินหวานไม่ได้อยู่บ่อย ๆ เพราะฉะนั้น หากจะเป็นสาวออฟฟิศที่ (อยาก) สวยและรวยมากแล้วละก็ แนะนำให้เปิดบัญชีใหม่ล่าสุดเพิ่มขึ้นมาจากบัญชีเงินเดือนออมทรัพย์ และบัญชีเงินฝากประจำให้เป็น “บัญชีห้ามใช้” เพื่อเก็บเป็นเงินสำรองในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นค่าดูแลรักษาพยาบาลพ่อ-แม่ยามชรา ค่าเลี้ยงดูลูกในอนาคต เมื่อฝากเงินใส่บัญชีนี้แล้ว อย่าลืมเสกคาถาม “จงลืมมัน” ทุกครั้ง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ต้องไม่ถอนมันออกมาใช้ก่อนเวลาที่ควรเป็นอันขาด

สำหรับสาว ๆ อย่างเรา นอกจากจะทำงานและหาเงินเก่งแล้ว จะต้องบริหารการเงินให้เก่งตามไปด้วย โดยเริ่มจากการออมเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วค่อย ๆ เขยิบเข้าไปใกล้เรื่องของการเงินที่ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งยอมรับความเสี่ยงของการลงทุนที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรู้เท่าทัน และสนุกไปกับการจัดการวงจรชีวิตเงินเดือนของตัวเอง


ขอบคุณที่มาจากหนังสือ  Knockdown Money ออมเงินให้อยู่หมัด  โดย ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ สำนักพิมพ์มติชน สั่งหนังสือออนไลน์ส่งตรงถึงบ้านได้ที่ www.matichonbook.com